นิทรรศการออนไลน์ว่าด้วยศิลปะการประดิษฐ์นาฬิกาผ่านช่วงเวลา 50 ปี

Last updated: 11 มี.ค. 2564  |  578 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นิทรรศการออนไลน์ว่าด้วยศิลปะการประดิษฐ์นาฬิกาผ่านช่วงเวลา 50 ปี

สิงคโปร์, วันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 2021 – ก่อนที่การผลิตนาฬิกาจะพัฒนามาสู่กระบวนการผลิตอย่างมีระบบแบบแผนเป็นรูปธรรมในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ได้นั้น ศาสตร์แห่งการประดิษฐ์นาฬิกา อันเป็นเสมือนผู้ริเริ่มบุกเบิกแนวทางให้กับอุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกาในยุคใหม่เช่นทุกวันนี้ ยังคงเป็นเพียงศาสตร์ที่ดำรงอยู่ในกิจการขนาดเล็กในครัวเรือน ที่บรรดาช่างนาฬิกาฝึกฝนทักษะความเชี่ยวชาญและสั่งสมประสบการณ์อย่าง “เป็นอิสระ” โดยปราศจากข้อจำกัดจากการดำเนินงานในรูปแบบอุตสาหกรรมหรือการดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ

ช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคเหล่านี้จึงเปรียบดั่งศิลปิน ผู้บรรจงรังสรรค์งานศิลป์บนเนื้อโลหะสตีลและทองคำ แทนที่จะเป็นด้วยสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ พร้อมทั้งถ่ายทอดศาสตร์และศิลปะแห่งการประดิษฐ์นาฬิกาของตนออกมาให้สัมผัส ไม่ว่าจะเป็นความมุ่งมั่นพัฒนากลไกเครื่องบ่งบอกเวลาให้ล้ำหน้า หรือความทุ่มเทให้การขัดแต่งประดับพื้นผิวเรือนเวลาให้ออกมาสมบูรณ์แบบ โดยผลงานสร้างสรรค์ของพวกเขาล้วนเป็นที่ยกย่องชื่นชม ด้วยคุณค่าในด้านเทคโนโลยี ภูมิปัญญา และศิลปะ เชื่อมโยงพรมแดน และหล่อหลอมความงดงามของประเพณีการประดิษฐ์นาฬิกาอันเก่าแก่ และนวัตกรรมอันล้ำยุคไว้ได้อย่างกลมกลืม

จวบจนช่วงปลายศตวรรษที่ 20 เหล่าช่างนาฬิกาต่างทุ่มเทการทำงานของพวกเขาให้กับแบรนด์ผู้ผลิตเรือนเวลาระดับแถวหน้าของวงการ ที่ต่างก็แข่งขันกันในด้านความเที่ยงตรงของกลไกผ่านเวทีการประกวดแข่งขันประจำปีหลากหลายรายการ ไปพร้อมๆ กับการผลิตนาฬิกาตามความต้องการของบรรดานักสะสม กระทั่งเทคโนโลยีควอตซ์ได้มาถึงและส่งผลตามมาเป็นวิกฤตการณ์การประดิษฐ์นาฬิกาในยุค 70 และ 80 ที่เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเรือนเวลาไปตลอดกาล

ในปี ค.ศ. 1969 หลังจาก ดร จอร์จ แดเนียลส์ (Dr George Daniels) ได้เผยโฉมนาฬิกาพกเรือนแรกของเขาขึ้น ซึ่งนับเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญ ไม่เพียงด้วยสุดยอดทักษะในการประดิษฐ์และคิดค้นโครงสร้างนาฬิกาจักรกลชนิดขึ้นลานด้วยมือ ด้วยตนเองทุกกระบวนการโดยเริ่มต้นจากศูนย์จนแล้วเสร็จสมบูรณ์แบบเท่านั้น แต่แดเนียลส์กล้าเลือกที่จะทำเช่นนี้ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ควอตซ์ ความกล้าของแดเนียลส์ที่จะเปิดตัวนาฬิกากลไก แม้ในวันที่นาฬิกาอิเล็กทรอนิกส์ก้าวเข้ามามีอิทธิพลนี้เอง ที่เป็นเสมือนการจุดประกายให้ความทุ่มเทและทักษะในการรังสรรค์ประดิษฐกรรมขึ้นด้วยมือ กลายมาเป็นที่ยอมรับชื่นชมและน่าหลงใหล จนทำให้แดเนียลส์ได้รับขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะการประดิษฐ์นาฬิกาสมัยใหม่ และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับช่างนาฬิการุ่นแล้วรุ่นเล่าเพื่อสืบทอดและเจริญรอยตาม

The Persistence of Memory จึงเป็นนิทรรศการที่ย้อนสำรวจถึงศิลปะแห่งการประดิษฐ์นาฬิกาตลอดช่วงระยะเวลาห้าสิบปีที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นจากปี ค.ศ. 1970 ด้วยประเภทผลงานอันสำคัญของสองเพื่อนสนิท ดร จอร์จ แดเนียลส์ และดีเรก แพรตต์ (Derek Pratt) และผลงานโดยผู้สานต่อแนวคิดการสร้างสรรค์เครื่องบ่งบอกเวลาที่ไม่ได้ยึดติดอยู่เพียงกรอบฟังก์ชั่นการทำงานเท่านั้น อย่างเช่น ฟรองซัวส์-พอล ฌูร์น ( François-Paul Journe), และฟิลิปป์ ดูโฟร์ (Philippe Dufour), คาริ วูทิไลเนน (Kari Voutilainen), เดนิส ฟลาจีโอลเลต (Denis Flageollet) และปิดท้ายทศวรรษที่ผ่านมาด้วยการผลงานชิ้นเลิศที่ล้วนน่าจับตามองโดยเหล่าเพื่อนร่วมวงการรุ่นใหม่ อาทิ โรเจอร์ สมิธ (Roger Smith), ฟีลิกซ์ บอมการ์ทเนอร์ (Felix Baumgartner) และเรกเซป เรกเซปี (Rexhep Rexhepi)

เดอะ อาวร์ กลาส (The Hour Glass) จัดนิทรรศการ The Persistence of Memory นี้ขึ้น ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นเวทีจัดแสดงออนไลน์ที่มีชีวิตชีวาให้กับบรรดาบุคคลสำคัญผู้ขับเคลื่อนโลกแห่งการประดิษฐ์สร้างสรรค์นาฬิกาอิสระร่วมสมัย และร่วมบันทึกเอกสาร และภาพถ่ายของเส้นทางแห่งวิวัฒนาการ รวมถึงเก็บรวบรวมภาพประวัติศาสตร์ของนาฬิกาเรือนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคสมัย

มร ไมเคิล เทย์ (Mr Michael Tay) กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท เดอะ อาวร์ กลาส และเป็นผู้ริเริ่มการจัดนิทรรศการนี้เปิดเผยว่า "นิทรรศการนี้ถือเป็นโครงการที่บ่มเพาะมาเป็นระยะเวลาหลายปี และตัวผมเองยินดีเป็นที่สุดที่ได้เห็นความสำเร็จที่เกิดขึ้น งานนี้เรารวบรวมผลงานที่ถือได้ว่าทรงคุณค่าที่สุดมาได้ประมาณ 150 ผลงาน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของศิลปะการประดิษฐ์นาฬิกาแห่งยุคสมัย รวมไปถึงสองผลงานชิ้นสำคัญของจอร์จ แดเนียลส์ ได้แก่ สเปซ ทราเวลเลอร์ (Space Traveller) และแกรนด์ คอมพลิ-เคชั่น (Grand Complication) โดยนาฬิกาหลายๆ เรือน เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่เราหยิบยืมมาจากคอลเลกชั่นส่วนตัวของนักสะสม รวมทั้งจากบรรดาศิลปินช่างนาฬิกาเอง" มร เทย์ กล่าวต่อว่า "แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค รวมถึงข้อกำหนดอันเข้มงวดด้านการรักษาระยะห่างเพื่อความปลอดภัย เราจึงต้องอาศัยนวัตกรรมเพื่อจัดนิทรรศการครั้งนี้ในรูปแบบใหม่ ผ่านช่องทางการรับชมบนห้องออนไลน์ (Online Viewing Room: OVR) ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยเฉพาะ โดยแพลตฟอร์ม โอวีอาร์ (OVR) นี้จะมีความสมจริงด้วยการบอกเล่าเรื่องราวอย่างละเอียด พร้อมทั้งภาพถ่ายที่ใช้เทคนิคแบบมาโครที่ให้ความละเอียดชัดเจนสูง ทำให้เราสามารถชมทุกรายละเอียดของแต่ละผลงานได้อย่างครบถ้วน ซึ่งผมเชื่อว่าจะสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมผู้ซึ่งหลงใหลในเรือนเวลาทั่วโลกได้อย่างแน่นอน"

ด้วยภารกิจหลักของเดอะ อาวร์ กลาส ในฐานะผู้นำธุรกิจค้าปลีกนาฬิกาที่มีความเชี่ยวชาญ คือการส่งเสริมวัฒนธรรมที่เกี่ยวนาฬิกาให้ก้าวล้ำไปข้างหน้า โดยเผยแพร่องค์ความรู้ในโลกแห่งการประดิษฐ์เรือนเวลา ที่จะบ่มเพาะเป็นความชื่นชอบหลงใหลและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนามุมมองและแนวคิดในการเก็บสะสมนาฬิกาอันทรงคุณค่าเหล่านี้ต่อไป

นิทรรศการ The Persistence of Memory จะเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ นับจากวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2021 เวลา 20.00 น. ตามเวลาประเทศสิงคโปร์ (1 pm CET / 7 am EST) หรือ 19.00 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยสามารถรับชมได้ที่ https://ovr.thehourglass.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้