Last updated: 24 ม.ค. 2566 | 2893 จำนวนผู้เข้าชม |
แท่นเครื่องเปล่าส่งจากห้องสต็อกชั้นล่าง รวมถึงชิ้นส่วนประกอบอื่นๆ ถูกส่งผ่านรางพิเศษแยกแต่ละชิ้นในแต่ละช่องมายังห้องช่างนาฬิกาที่ออกแบบอย่างทันสมัย เป็นระเบียบและสะอาดเป็นพิเศษ เพื่อนำมาประกอบกันเป็นชุดกลไก โดยอาศัยฝีมือช่างนาฬิกาผู้ชำนาญ ร่วมกับการทำงานของเครื่องจักรทันสมัย และมีบททดสอบของ METAS Lab เพื่อมาตรฐานสูงสุดระดับ Master Chronometer นี่คือบางส่วนของโรงงานแห่งใหม่ของ Omega ในเมืองวิลเลเร็ต ที่เพิ่งเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 27 กรกฎาคม 2015 มี Daniel Craig สายลับหนุ่ม เจมส์ บอนด์ 007 ทูตพิเศษของแบรนด์ร่วมงานเปิดโรงงานด้วย
โรงงานแห่งใหม่ทำให้ Omega สามารถต่อยอดการพัฒนาเพื่อแสวงหานวัตกรรมใหม่ได้อีกมากมาย นอกจากจะเป็นสถานที่ของการประกอบชุดกลไกพิเศษอย่าง คาลิเบอร์ 8500/8501 และ 8520/8521 แล้ว Omega ยังจับมือเป็นพันธมิตรกับ METAS หรือ Swiss Federal Institute of Metrology องค์กรอิสระที่ทดสอบความแม่นยำ ประสิทธิภาพและการป้องกันสนามแม่เหล็ก ซึ่งมีมาตรฐานที่เหนือกว่า COSC ที่ทดสอบด้านมาตรฐานความเที่ยงตรงเป็นหลัก ดังนั้น ภายในโรงงานแห่งนี้ จึงมีพื้นที่ของ METAS Lab สำหรับทดสอบชุดกลไกนาฬิกาในระดับ Master Chronometer ที่รับรองโดย METAS
อย่างที่รู้กันดีว่า สนามแม่เหล็กส่งผลกระทบต่อการทำงานของชุดกลไกจักรกล และหลายแบรนด์ก็พยายามที่จะพัฒนาชิ้นส่วนที่จะช่วยป้องกันสนามแม่เหล็กที่มีอยู่ในแทบทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นสนามแม่เหล็กจากคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทำงานกันทุกวัน โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ สัญญาณ wi-fi ที่ต่ออินเทอร์เน็ตทั้งในบ้านและนอกบ้าน ล้วนมีคลื่นสนามแม่เหล็กแทบทั้งนั้น Omega ก็คิดเช่นกัน และพัฒนาชิ้นส่วนและวัสดุที่จะป้องกันกลไกจากสนามแม่เหล็กให้ได้ดีที่สุด โดยกลไกที่ถูกส่งไปทดสอบมาตรฐานความเที่ยงตรงจากสถาบัน COSC แล้ว ก็จะต้องมาผ่านอีกมาตรฐานความเที่ยงตรงท่ามกลางสนามแม่เหล็กของ METAS เพื่อตอกย้ำความยอดเยี่ยมเหนือใคร โดยเฉพาะคอลเลคชั่น Globemaster ที่รับรองความยอดเยี่ยมระดับ Master Chronometer คือผ่านทั้งทั้ง COSC และ METAS นั่นเอง
ภายในโรงงาน สิ่งแรกที่สะดุดตาอย่างยิ่งคือความทันสมัยไฮเทคของอุปกรณ์เครื่องจักรใหม่เอี่ยม ที่สำคัญคือความสะอาดของโรงงาน จัดว่ามีความสะอาดเป็นพิเศษมาก เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าฝุ่นผงมีอยู่ทั่วไป ไม่เฉพาะในอากาศ แม้แต่บนเสื้อผ้าหรือเส้นผมก็มีฝุ่นผงอยู่จำนวนมาก ฝุ่นผงเหล่านี้สามารถสร้างความเสียหายให้กับชุดกลไกจักรกลของนาฬิกาได้แม้แต่เพียงละอองเล็กๆ ดังนั้น ระหว่างการประกอบชิ้นส่วนกลไก ความสะอาดจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อให้ชุดกลไกที่มีระดับเหนือมาตรฐานนี้ปลอดภัยจากฝุ่นละอองทั้งมวล Omega ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จึงต้องมีการทำความสะอาดทุกวัน และช่างนาฬิกาต้องสวมเสื้อกาวน์ที่ทำด้วยผ้าพิเศษ เช่นเดียวกับหมวกคลุมผมและถุงผ้าคลุมรองเท้า ส่วนชุดกลไกจะได้รับการปกป้องอีกชั้น ด้วยกล่องติดชิป ที่จะส่งต่อผ่านรางที่ออกแบบมาเป็นพิเศษไปในแต่ละจุด กล่องกลไกที่ฝังชิปสมองกลช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับช่างนาฬิกาในการเรียกชุดกลไกมาตรวจสอบในระหว่างขั้นตอน
ขั้นตอนการประกอบกลไกเป็นการผสานงานระหว่างคนและเครื่องจักร โดยการประกอบด้วยมือ ส่วนใหญ่จะเป็นการประกอบชิ้นส่วนสำคัญ เช่น สะพานจักรโครโนกราฟ การประกอบสปริงสายใยซิลิคอนและจักรกลโค-แอ็กเชียล ที่ได้รับการประกอบขั้นต้นจาก Nivarox เป็นต้น ส่วนการหยอดน้ำมันหล่อลื่นที่จะใช้หุ่นกลที่สร้างมาเป็นพิเศษทำการหยอด เพื่อให้มีปริมาณที่เท่ากัน
“Omega ตอกย้ำความยอดเยี่ยมเหนือใคร ด้วยคอลเลคชั่น Globemaster ที่รับรองความยอดเยี่ยมระดับ Master Chronometer คือผ่านทั้งทั้ง COSC และ METAS”
METAS LAB ทดสอบมาตรฐานสูงสุด
ห้อง METAS Lab สร้างขึ้นเป็นพิเศษ เป็นห้องที่ผนึกกระจกโดยรอบ เผยให้เห็นเครื่องจักรที่ทำหน้าที่ทดสอบการป้องกันสนามแม่เหล็กตามมาตรฐาน METAS ซึ่งชุดกลไกที่จะถูกนำมาผ่านการทดสอบนี้ ต้องผ่านการทดสอบความเที่ยงตรงตามมาตรฐาน COSC มาแล้ว และชุดกลไกจะถูกตรวจสอบด้วยหุ่นกลที่พัฒนาขึ้นเพื่อโรงงานของ Omega แห่งนี้โดยเฉพาะ
แม้ว่าห้องแล็บนี้จะอยู่ในโรงงาน Omega แต่การรับรองมาตรฐานระดับ Master Chronograph เป็นการรับรองที่ออกโดย METAS ไม่ใช่การรับรองโดย Omega อันนี้ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพียงแต่การร่วมเป็นพันธมิตรระหว่าง 2 แบรนด์คือ Omega และ METAS เป็นการตอกย้ำถึงมาตรฐานขั้นสูงสุดที่มีการทดสอบในอุตสาหกรรมนาฬิกา ซึ่งหากแบรนด์อื่นต้องการผ่านการทดสอบนี้ย่อมทำได้เช่นกัน แต่ก็ต้องพัฒนาให้คุณภาพมีมาตรฐานขั้นสูงสุดอย่างที่ Omega ทำได้ด้วย
นอกจากส่วนห้องทดสอบของ METAS Lab แล้ว Omega ยังจัดส่วนพิเศษที่แสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมต่างๆ ในแบบมัลติมีเดีย มีทั้งภาพ เสียง วิดิทัศน์ รวมไปถึงชิ้นส่วนกลไกที่ Omega พัฒนาขึ้นมา เพื่อเป็นแนวทางการศึกษาและพัฒนาต่อยอดให้กับคนรุ่นใหม่ อุปกรณ์ไฮเทคสุดๆ อีกชิ้นในห้องนี้คือ เครื่องวัดค่าสนามแม่เหล็ก ที่ผู้นำชมทดสอบให้เห็นกันเลยว่า นาฬิกา Omega ที่ผ่านการทดสอบของ METAS แล้ว สนามแม่เหล็กแทบไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของกลไกเลย เมื่อเทียบกับนาฬิกาทั่วไป
Omega Museum ย้อนอดีตอันยิ่งใหญ่
สำหรับแบรนด์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานร้อยกว่าปีอย่าง Omega จำนวนผลงานที่ได้รับการสร้างสรรค์ย่อมมีมากมายมหาศาล และเมื่อ Omega คิดถึงการเก็บผลงานจากอดีตเพื่อเปรียบประดุจการเก็บประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ Omega แห่งนี้จึงเกิดขึ้น โดยเปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม ปี 1983 นับเป็นพิพิธภัณฑ์นาฬิกาที่มีจัดแสดงเพียงแบรนด์เดียวที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และได้รับการขยายพื้นที่ให้กว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนนาฬิกาที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
พิพิธภัณฑ์ Omega ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้างกับสำนักงานใหญ่ของแบรนด์ จัดแสดงนาฬิกาเรือนสำคัญมากมาย ทั้งนาฬิกาของผู้นำสำคัญระดับโลก กษัตริย์ ราชินี ประธานาธิบดี นักผจญภัยคนสำคัญ รวมไปถึงการจัดแสดงเรื่องราวสำคัญในประวัติศาสตร์ที่ Omega มีส่วนร่วม ทั้งการสำรวจอวกาศกับยานอพอลโล 11 หรือภาพยนตร์ James Bond รวมถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ตั้งแต่ปี 1932 เป็นต้นมา พื้นที่กว้างขวางบอกเล่าเรื่องราวมากมาย ดูกันเพลินได้ทั้งวัน หากมีโอกาสแวะไปชมสักครั้ง ก็จะยิ่งหลงรักแบรนด์ Omega กันยิ่งขึ้น
เรื่อง : Chettha Songthaveepool
เรียบเรียง : Wanida Siripaopradist
13 ส.ค. 2567
3 ต.ค. 2567
20 ก.ย. 2567
4 ก.ค. 2567