Audemars Piguet

Last updated: 14 ก.ย. 2564  |  554 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Audemars Piguet

โอเดอมาร์ ปิเกต์ เปิดตัว 2 โมเดลใหม่ของนาฬิการุ่น รอยัล โอ๊ค ฟรอสต์ โกลด์  เซลฟ์ไวนด์ดิ้ง โครโนกราฟ
(Royal Oak Frosted Gold Selfwinding Chronograph)

เลอ บราซูส์ (Le Brassus), กันยายน 2564 - โอเดอมาร์ ปิเกต์ (Audemars Piguet) แบรนด์เครื่องบอกเวลาชั้นสูงจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เผย 2 โมเดลใหม่ของนาฬิการุ่นรอยัล โอ๊ค ฟรอสต์ โกลด์ เซลฟ์ไวนด์ดิ้ง โครโนกราฟ (Royal Oak Frosted Gold Selfwinding Chronograph) ที่มาพร้อม
คาลิเบอร์ 4401 ซึ่งเป็นกลไกโครโนกราฟเจเนอเรชั่นล่าสุดที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนผ่านฝาหลังแซฟไฟร์ โดยนาฬิกาสองเรือนใหม่ในขนาดหน้าปัด 41 มิลลิเมตรนี้ถูกรังสรรค์ด้วยไวท์โกลด์ 18 กะรัตและพิ้งค์โกลด์ 18 กะรัต และดูโดดเด่นยิ่งขึ้นด้วยรายละเอียดของหน้าปัดลายกรองด์ ทาพิสเซอรี (Grande Tapisserie) สีดำและสีน้ำเงิน พร้อมหน้าปัดย่อยในสีเดียวกันกับตัวเรือนที่ตัดกันกับสีของหน้าปัดได้อย่างลงตัว

เฉดสีที่คอนทราสต์กัน
โอเดอมาร์ ปิเกต์ แมตช์สีของตัวเรือนและสายนาฬิกาเข้ากับโทนสีของหน้าปัดย่อยที่จัดวางอยู่บนหน้าปัดลายกรองด์ ทาพิสเซอรี ในโมเดลเรือนไวท์โกลด์โดดเด่นด้วยหน้าปัดสีดำตัดกับหน้าปัดเล็กโทนสีโรเดียม ในขณะที่เรือนพิ้งค์โกลด์เลือกนำเสนอหน้าปัดสีน้ำเงินที่ตัดกับหน้าปัดย่อยสีพิ้งค์โกลด์ การเลือกใช้วัสดุและสีที่ตัดกันช่วยให้บอกเวลาได้ชัดเจนขึ้นและยังให้นาฬิกามีความโมเดิร์นยิ่งขึ้น เครื่องหมายบอกหลักชั่วโมงและเข็มนาฬิกาเอกลักษณ์ของรอยัล โอ๊คที่เคลือบด้วยสีเรืองแสง รังสรรค์ขึ้นจากทองคำ 18 กะรัต ในเฉดสีเดียวกันกับตัวเรือน หน้าปัดย่อยจับเวลานาทีและชั่วโมงถูกปรับตำแหน่งใหม่ ทำให้บอกเวลาได้ชัดเจนขึ้น ส่วนช่องแสดงวันที่นั้นถูกจัดวางให้อยู่ใกล้ขอบตัวเรือนด้านในมากขึ้น

เทคนิคสุดพิถีพิถันแบบงานฝีมือ
ตัวเรือนและสายนาฬิกามาพร้อมรายละเอียดของการตกแต่งด้วยเทคนิคฟรอสต์โกลด์ (Frosted Gold) และการขัดเหลี่ยมมุมที่ทำให้เกิดประกายระยิบระยับเมื่อกระทบกับแสง เทคนิคนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเทคนิคการสร้างสรรค์เครื่องประดับแบบโบราณของชาวเมืองฟลอเรนซ์ ซึ่งแคโรลีนา บุชชี (Carolina Bucci) ได้นำมาตีความใหม่ในการสร้างสรรค์ผลงานจิวเวลรี่แบบร่วมสมัย นักออกแบบอัญมณีท่านนี้ได้ผสานเทคนิคนี้เข้ากับช่างนาฬิกาของโอเดอมาร์ ปิเกต์ พัฒนาให้เข้ากับดีไซน์ของตัวเรือนและสายของนาฬิการุ่นรอยัล โอ๊ค ซึ่งวิธีการทำฟรอสต์โกลด์นั้นจะต้องใช้เครื่องมือเพื่อสลักรอยขนาดเล็กลงบนพื้นผิวของทอง ทำให้เกิดประกายแวววาวราวกับถูกปกคลุมด้วยกากเพชร (diamond dust) และทำให้พื้นผิวนาฬิการะยิบระยับราวกับอัญมณี

กลไกโครโนกราฟที่สามารถมองเห็นได้ชัดผ่านฝาหลังแซฟไฟร์
หัวใจของนาฬิกาเรือนนี้อยู่ที่กลไกโครโนกราฟออโตเมติก คาลิเบอร์ 4401 ซึ่งเป็นกลไกลเจเนอเรชั่นล่าสุดจากโอเดอมาร์ ปิเกต์ ที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนผ่านฝาหลังประดับแซฟไฟร์ กลไกอันสมบูรณ์แบบมีการติดตั้งคอลัมน์วีล (Column Wheel) และฟังก์ชั่นการทำงานแบบฟลายแบ็ก (Flyback) ที่ซึ่งแตกต่างไปจากกลไกฟลายแบ็กทั่วไป กลไกใหม่นี้ช่วยให้เริ่มต้นจับเวลาใหม่ได้โดยไม่ต้องหยุดหรือรีเซ็ต และคอลัมน์วีลจะทำงานร่วมกับระบบคลัตช์แนวตั้ง (Vertical clutch) ที่ช่วยป้องกันไม่ให้เข็มนาฬิกามีการกระโดดเมื่อเริ่มหรือหยุดการจับเวลา อีกทั้งยังมีกลไกการรีเซ็ตเป็นศูนย์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตร ช่วยให้มั่นใจได้ว่าเข็มจับเวลาบนหน้าปัดย่อยแต่ละเข็มจะรีเซ็ตเป็นกลับไปที่ศูนย์ได้อย่างไม่ติดขัด และปุ่มกดจับเวลาถูกออกแบบมาให้กดง่ายขึ้นอีกด้วย

การเคลื่อนไหวของค้อนโครโนกราฟ
ฝาหลังแซฟไฟร์ของนาฬิการุ่นรอยัล โอ๊ค ฟรอสต์ โกลด์ เซลฟ์ไวนด์ดิ้ง โครโนกราฟเผยให้เห็นกลไกการทำงานภายใน ทั้งส่วนของคอลัมน์วีล และค้อนโครโนกราฟ* ที่มีการเคลื่อนไหวเมื่อเปิดใช้งานฟังก์ชั่นการจับเวลา รวมไปถึงชิ้นส่วนของ Oscillating Weight พิ้งค์โกลด์ 22 กะรัต พร้อมตกแต่งด้วยรายละเอียดสุดละเมียดละไมด้วยมือ ไม่ว่าจะเป็นลายโกตส์ เดอ เฌอแนฟ (Côtes de Genève) เทคนิคการขัดลายซาติน และการขัดลบมุม


โอเดอมาร์ ปิเกต์เปิดตัวนาฬิการอยัล โอ๊ค มินิท รีพีทเตอร์ ซูเปอร์ซอนเนอรี
(Royal Oak Minute Repeater Supersonnerie) รังสรรค์จากไทเทเนียมทั้งเรือน

เลอ บราซูส์ (Le Brassus), กันยายน 2564 - โอเดอมาร์ ปิเกต์ (Audemars Piguet) แบรนด์เครื่องบอกเวลาชั้นสูงจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้เปิดตัวเวอร์ชันใหม่ของนาฬิการุ่นรอยัล โอ๊ค มินิท รีพีทเตอร์ ซูเปอร์ซอนเนอรี (Royal Oak Minute Repeater Supersonnerie) ที่รังสรรค์ขึ้นจากไทเทเนียมทั้งเรือน โดยมาพร้อมกลไกไขลานคาลิเบอร์ 2953 ซึ่งเป็นกลไกที่ผลิตขึ้นโดยโอเดอมาร์ ปิเกต์และได้รับการจดสิทธิบัตร 3 ฉบับ โดดเด่นด้วยหน้าปัดดีไซน์กิโยเช่ (Guilloché) ในเฉดสีเทาสโมคเกรย์ เรือนเวลารุ่นนี้ยังคงเสน่ห์ของเสียงขานเวลาอันโดดเด่นไว้เพื่อเป็นเกียรติแก่นาฬิกาที่มีฟังก์ชั่นตีขานเวลาในอดีต พร้อมผสานเทคโนโลยีอันล้ำสมัยเข้าด้วยกัน

ที่สุดของเทคโนโลยีล้ำสมัย
กลไกซูเปอร์ซอนเนอรีได้ถูกคิดค้นขึ้นโดยโอเดอมาร์ ปีเกต์ และเปิดตัวออกมาในปี 2016 ในคอลเลกชัน รอยัล โอ๊ค คอนเซป (Royal Oak Concept) โดยมาเติมเต็มเรือนเวลามินิท รีพีทเตอร์โมเดลใหม่นี้ด้วยเสียงและการสั่นที่มักจะพบได้ในนาฬิกาพกพา ซึ่งนวัตกรรมที่ได้รับการจดสิทธิบัตรนี้คือผลลัพธ์ของการวิจัยยาวนานถึง 8 ปี ภายใต้การทำงานร่วมกันกับสถาบันเทคโนโลยีโลซานน์แห่งสหพันธรัฐสวิส (Swiss Federal Institute of Technology Lausanne: EPFL) จากการนำแรงบันดาลใจในระบบเสียงของนาฬิกามินิท รีพีทเตอร์ยุคเก่าและเสียงอันไพเราะของเครื่องดนตรี รวมถึงการร่วมมือกันของช่างนาฬิกา ช่างเทคนิค นักวิชาการ และนักดนตรี เกิดเป็นเทคโนโลยีการบอกเวลาแบบใหม่นี้ ประสิทธิภาพของเสียงที่เหนือชั้น คุณภาพเสียง และความกลมกลืนของโทนเกิดขึ้นจากฆ้องที่ได้รับการพัฒนาโครงสร้างตัวเรือน และตัวควบคุมการตีที่ได้รับการพัฒนาขึ้น โดยฆ้องซึ่งสามารถรองรับเสียงกริ่งได้ดีกว่า ไม่ได้ถูกยึดติดไว้กับเมนเพลท (Mainplate) แต่จะถูกติดตั้งกับอุปกรณ์ใหม่ที่ทำหน้าที่เป็นซาวด์บอร์ด ซึ่งพัฒนาการส่งสัญสญาณเสียงและเพิ่มความก้องของเสียงให้ดีขึ้น ส่วนตัวควบคุมการส่งเสียงที่ลำดับการบอกเวลาหลักชั่วโมง ทุก 15 นาที และนาทีได้รับการออกแบบและพัฒนาใหม่ที่ทำงานร่วมกับระบบแองเคอร์ (Anchor system) ที่ล้ำสมัยและยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อช่วยลดการสั่นและขจัดเสียงรบกวนที่ไม่ต้องการออก การปรับเปลี่ยนกลไกอย่างชาญฉลาดของระบบเสียงบอกเวลาทำให้สามารถป้องกันการหยุดขานเสียงทุก 15 นาทีระหว่างเสียงขานนาทีและชั่วโมง โดยยังมีฟังก์ชั่นที่จะป้องกันไม่ให้ผู้สวมใส่เปิดใช้งานฟังก์ชั่นการตั้งค่าเวลาในขณะที่กลไกมินิท รีพีทเตอร์กำลังทำงาน นาฬิกาเรือนนี้ยังมาพร้อมกลไกไขลานของคาลิเบอร์ 2953 ที่รังสรรค์ขึ้นด้วยชิ้นส่วนรวม 362 ชิ้น ถือเป็นข้อพิสูจน์ถึงความเชี่ยวชาญของแบรนด์ที่ผสานทั้งเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าเข้ากับการสร้างสรรค์งานฝีมืออย่างพิถีพิถันที่สืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ความสง่างามที่พิถีพิถัน
นาฬิการุ่นรอยัล โอ๊ค มินิท รีพีทเตอร์ ซูเปอร์ซอนเนอรี ขนาดหน้าปัด 42 มิลลิเมตรเรือนนี้ มาพร้อมตัวเรือนและสายนาฬิกาไทเทเนียมซึ่งผ่านการขัดเงาและการขัดลายซาติน หน้าปัดลายกรองด์ ทาพิสเซอรี (Grande Tapisserie) สีเทาสโมคเกรย์ไล่เฉดสไตล์โมโนโครม ทั้งยังโดดเด่นด้วยเครื่องหมาย
บอกหลักชั่วโมงไวท์โกลด์และเข็มนาฬิการอยัล โอ๊คไวท์โกลด์เคลือบสีเรืองแสงเพิ่มความชัดเจน
ในการดูเวลา หน้าปัดย่อยบอกวินาทีที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกาใช้สีดำที่ล้อไปกับขอบตัวเรือนด้านใน
ที่คอนทราสต์กับหน้าปัดลายทาพิสเซอรี่ ฝาด้านหลังไททาเนียมสลักคำว่า “Royal Oak Supersonnerie” รวมทั้งลวดลายคลื่นเสียงเพื่อเผยให้เห็นความพิถีพิถันในการตกแต่งไปจนถึงรายละเอียดที่เล็กที่สุด


ระลึกถึงเรือนเวลาจากอดีตในสไตล์ร่วมสมัย
นาฬิกาที่มีฟังก์ชั่นการส่งเสียงบอกเวลานั้นถือเป็นการย้อนกลับไปสู่ยุคแรกของอุปกรณ์บอกเวลาซึ่งได้รับการคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 14 ซึ่งเป็นนาฬิกาส่งเสียงเพื่อบอกเวลาแบบไม่มีหน้าปัด และนับตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ในปี 1875 โอเดอมาร์ ปิเกต์มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องของกลไกตีขานเวลา และได้รังสรรค์กลไกที่ซับซ้อน อาทิ กรองด์ ซอนเนอรี (Grande Sonnerie), เปอตีต์ ซอนเนอรี (Petite Sonnerie) และกลไกการบอกเวลาแบบมินิท รีพีทเตอร์ บันทึกจากอดีตระบุว่า กว่าครึ่งหนึ่งของนาฬิกาจำนวน 1,625 เรือนที่ผลิตระหว่างปี 1882 ถึง 1892 มีกลไกตีขานเวลาที่เป็นผลผลิตจากทักษะของช่างนาฬิกาที่ทำงานให้กับโอเดอมาร์ ปิเกต์ในเวิร์กช็อปหลายสิบแห่งที่วัลเลย์ เดอ ฌูซ์ (Vallée de Joux) ในขณะที่โอเดอมาร์ ปิเกต์ ยังคงผลิตนาฬิกาพกพาที่สามารถขานบอกเวลาได้และมีการผลิตนาฬิกามินิทรีพีทเตอร์ออกมาจำนวน 35 เรือน แต่นาฬิกาข้อมือที่มีฟังก์ชั่นขานบอกเวลากลับค่อยๆ หายไปจากตลาดเมื่อเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่และสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในระหว่างปี 1892 ถึง 1957 ล่วงเลยมาจนมาถึงช่วงทศวรรษ 1960 กลไกการขานบอกเวลาจึงกลายเป็นกลไกเฉพาะที่มีอยู่ในนาฬิกาพกพาเท่านั้น จนกระทั่งปี 1990 โอเดอมาร์ ปิเกต์ ได้นำนาฬิกาข้อมีที่มาพร้อมระบบขานบอกเวลากลับมาอีกครั้ง
รวมถึงกลไกที่มีความซับซ้อนแบบคลาสสิกอื่นๆ หลังจากวิกฤตการณ์ Quartz crisis ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นาฬิกาใช้ถ่านได้รับความนิยมจนทำให้ความนิยมในนาฬิกาที่มีกลไกซับซ้อนเสื่อมถอยไประยะหนึ่ง

ปัจจุบันโอเดอมาร์ ปิเกต์ยังคงพยายามก้าวข้ามขีดจำกัดของการสร้างสรรค์เรือนเวลาอย่างต่อเนื่อง และการสร้างสรรค์นาฬิการอยัล โอ๊ค มินิท รีพีทเตอร์ ซูเปอร์ซอนเนอรี ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงส่วนผสมที่ลงตัวของความเชี่ยวชาญที่มีมาแต่อดีต เทคโนโลยีล้ำสมัย และความสง่างามโดดเด่นในการสร้างสรรค์เรือนเวลาของโอเดอมาร์ ปิเกต์


โอเดอมาร์ ปิเกต์ลอนช์ รอยัล โอ๊ค เพอร์เพทชวล คาเลนดาร์
(Royal Oak Perpetual Calendar) ในวัสดุใหม่อย่างไทเทเนียม



เลอ บราซูส์ (Le Brassus), กันยายน 2564 – โอเดอมาร์ ปิเกต์ แบรนด์เครื่องบอกเวลาชั้นสูงจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เปิดตัวนาฬิการอยัล โอ๊ค เพอร์เพทชวล คาเลนดาร์ รุ่นใหม่ที่รังสรรค์ขึ้นจากไทเทเนียมเกรด 5 พร้อมหน้าปัดดีไซน์ใหม่กับลวดลาย “กรองด์ ทาพิสเซอรี” (Grande Tapisserie) สีน้ำเงินตัดกับหน้าปัดย่อยสีเทา นำเสนอสไตล์ทูโทนที่ดูร่วมสมัย โดยนาฬิกาเรือนนี้พร้อมเปิดตัวแบบเอ็กซ์คลูซีฟที่สหรัฐอเมริกาในเดือนกันยายนนี้ ก่อนวางจำหน่ายแบบบูติกเอ็กซ์คลูซีฟที่ประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยในเดือนตุลาคม

สุนทรียะแห่งการออกแบบที่ทั้งพิถีพิถันและล้ำสมัย
สายนาฬิกาและตัวเรือนของรอยัล โอ๊ค เพอร์เพทชวล คาเลนดาร์ รุ่นใหม่นี้ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นจากไทเทเนียมเกรด 5 เพื่อตอกย้ำถึงความตั้งใจที่จะผนวกเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ากับความเชี่ยวชาญที่สืบทอดต่อกันมาจากอดีตไว้ด้วยกัน โดยปกติไทเทเนียมเป็นวัสดุที่มักใช้ในอุตสาหกรรมอวกาศ มอเตอร์สปอร์ต และแวดวงการแพทย์ เพราะโลหะชนิดนี้มีความแข็งแรง แต่มีน้ำหนักเบา ไม่ดึงดูดกับแม่เหล็ก และทนต่อการกัดกร่อนสูง เพื่อเป็นการสานต่อธรรมเนียมการสร้างสรรค์เรือนเวลาชั้นสูงที่มีมาแต่อดีต ตัวเรือนและสายนาฬิกาที่มีน้ำหนักเบาเป็นพิเศษของนาฬิกาเรือนนี้จึงต้องผ่านขั้นตอนการขัดตกแต่ง ทั้งการขัดลายซาตินและการขัดเงา ซึ่งล้วนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของโอเดอมาร์ ปิเกต์ และด้วยความหนาเพียง 9.5 มิลลิเมตร ทำให้นาฬิกากลไกสุดซับซ้อนเรือนนี้มาพร้อมรูปลักษณ์บางเป็นพิเศษ

ความงดงามของตัวเรือนและสายนาฬิกาไทเทเนียมยังอยู่ที่ความซับซ้อนของการผลิตด้วยเช่นกัน เพราะวัสดุที่มีความแข็งแกร่งชนิดนี้นั้นยากต่อการใช้เครื่องมือเพื่อการกัดขึ้นรูป และอาจทำให้เครื่องมือสึกหรอได้ง่าย ยิ่งไปกว่านั้น ความเร็วในการกัดจำเป็นต้องถูกทำให้ลดลงเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่เกิดจากความร้อนและอาจส่งผลเสียต่อตัววัสดุไทเทเนียมได้ ทำให้ระยะเวลาในการรังสรรค์นาฬิกาเรือนนี้ยาวนานกว่าผลิตนาฬิกาที่ใช้สเตนเลส สตีลหรือทองคำเป็นวัสดุหลัก เสริมความโดดเด่นให้กับตัวเรือนไทเทเนียมด้วยหน้าปัดสีทูโทนที่ผนวกลายกรองด์ ทาพิสเซอรีสีน้ำเงินกับหน้าปัดย่อยสีเทา เข้ากันได้ดีกับสีของตัวเรือนและสายนาฬิกา และยังดูมีมิติยามกระทบกับแสง

 กลไกการทำงานละเอียดซับซ้อน
นาฬิกาเพอร์เพทชวล คาเลนดาร์ ลิมิเต็ด เอดิชันรุ่นนี้มาพร้อมกลไกออโตเมติก คาลิเบอร์ 5134 ซึ่งจะคำนวณจำนวนวันในแต่ละเดือนโดยอัตโนมัติและแสดงวันที่ที่ถูกต้องเสมอแม้ในปีอธิกสุรทิน หากนาฬิกาถูกไขลานจนสุด ก็ไม่จำเป็นต้องปรับวันที่ด้วยตนเองอีกเลยจนกระทั่งปีค.ศ. 2100 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นจะต้องมีการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับปฏิทินเกรกอเรียน* ฝาหลังแซฟไฟร์ยังเผยให้เห็นรายละเอียดของกลไกการทำงานภายใน ไม่ว่าจะเป็นลายโกตส์ เดอ เฌอแนฟ (Côtes de Genève) เทคนิคเซอร์คิวลาร์ เกรนิง (Circular Graining) เทคนิคการขัดลายซาตินวงกลม และการขัดลบมุม ส่วนกลไกการทำงานของ Oscillating Weight ทองคำ 22 กะรัตยังได้รับการตกแต่งเพิ่มเติมด้วยลวดลายคลู เดอ ปารี (Clous de Paris) อีกด้วย

*ปฏิทินเกรกอเรียนจะข้ามเวลา 3 ปีอธิกสุรทินทุก ๆ 400 ปีเพื่อให้สอดคล้องกับเวลาสุริยะ โดยการข้ามวันที่ 29 กุมภาพันธ์ในปีศตวรรษที่ 100 ซึ่งหารด้วย 100 ลงตัว ไม่ใช่ 400 ดังนั้นปีค.ศ. 2100 จะไม่เป็นปีอธิกสุรทินและกลไกปฏิทินถาวรจะต้องมีการเลื่อนไปข้างหน้า 1 วัน


โอเดอมาร์ ปิเกต์เผยโฉมนาฬิการุ่นใหม่ในดีไซน์ทูโทนและหน้าปัดสีเทาโค้ด 11.59 บาย โอเดอมาร์ ปิเกต์ ตูร์บิญอง โอเพ่นเวิร์ค
(Code 11.59 by Audemars Piguet Tourbillon Openworked) 


เลอ บราซูส์ (Le Brassus), กันยายน 2564 - โอเดอมาร์ ปิเกต์ (Audemars Piguet) แบรนด์เครื่องบอกเวลาชั้นสูงจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เปิดตัวนาฬิกาโมเดลใหม่จากคอลเลกชั่นโค้ด 11.59 บาย โอเดอมาร์ ปิเกต์ รุ่นตูร์บิญอง โอเพ่นเวิร์ค ขนาดหน้าปัด 41 มิลลิเมตร โดดเด่นด้วยกลไกโอเพ่นเวิร์คที่ถูกสร้างสรรค์ด้วยโทนสีเทาหลากหลายเฉด พร้อมกับตัวเรือนทูโทนที่ผสมผสานไวท์โกลด์และพิ้งค์โกลด์ 18 กะรัตเข้าด้วยกัน การใช้ทองต่างเฉดสีช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้กับมิดเดิ้ลเคสที่มีเหลี่ยมมุมเรขาคณิต ถ่ายทอดความคอนทราสต์แต่ลงตัวได้เป็นอย่างดี

เหลี่ยมมุมของตัวเรือนทูโทน
ตัวเรือนทูโทนนำเสนอโครงสร้างที่ซับซ้อนของนาฬิกาในคอลเลกชั่นโค้ด 11.59 บาย โอเดอมาร์ ปิเกต์ ขอบตัวเรือนถูกออกแบบให้บางเป็นพิเศษ มาพร้อมขานาฬิกา (Lugs) และฝาด้านหลังทรงกลมที่ถูกรังสรรค์ขึ้นจากไวท์โกลด์ 18 กะรัต คอนทราสต์กับมิดเดิ้ลเคสพิ้งค์โกลด์ 18 กะรัตทรงแปดเหลี่ยม โดยส่วนประกอบแต่ละชิ้นได้รับการขัดเก็บรายละเอียดไปจนถึงส่วนที่เล็กที่สุดด้วยเทคนิคการขัดลายซาตินและการขัดเหลี่ยมมุม กรรมวิธีการผลิตที่ซับซ้อนนี้จำเป็นจะต้องใช้ความเชี่ยวชาญเพื่อเก็บรายละเอียดบริเวณเหลี่ยมมุมของตัวเรือนไปจนถึงพื้นผิวที่โค้งมน ซึ่งเป็นเทคนิคที่รังสรรค์ได้ด้วยมือเท่านั้น

ตัวเรือนทูโทนเป็นโมเดลที่ไม่ค่อยได้เห็นนักในนาฬิกาของโอเดอมาร์ ปิเกต์ แต่ถือเป็นส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์ของแบรนด์  จากนาฬิกาข้อมือที่มีกลไกซับซ้อน (Complicated wristwatches) จำนวน 550 โมเดลที่ผลิตและจำหน่ายในช่วงปี 1882 ถึง 1969 มีเพียง 8 เรือนเท่านั้นที่ใช้ทอง 2 ประเภทในการผลิต และการใช้ไวท์โกลด์คู่กับพิ้งค์โกลด์นั้นยิ่งเป็นสิ่งที่พบได้ยาก มีนาฬิกาเพียงเรือนเดียวเท่านั้นที่ใช้ส่วนผสมนี้จากบันทึกของโอเดอมาร์ ปิเกต์ในช่วงก่อนปี 1978 ถึงแม้การจับคู่ระหว่างไวท์โกลด์และพิ้งค์โกลด์จะแพร่หลายมากขึ้นในหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็ยังถือเป็นสิ่งที่หาได้ยากและแสดงถึงความพิถีพิถันในการออกแบบนาฬิกาได้เป็นอย่างดี

 มุมมองที่สะดุดตาของกลไกนาฬิกาที่เคลื่อนไหวอยู่ภายใน
นาฬิกาเรือนขับเคลื่อนด้วยคาลิเบอร์ 2948 ซึ่งเป็นกลไกตูร์บิญอง โอเพ่นเวิร์คแบบหลายเลเยอร์ที่ผ่านการฉลุด้วยมือ แผ่นชิ้นส่วนของโอเพ่นเวิร์คและบริดจ์ (Bridges) สีเทายิ่งดูโดดเด่นเมื่ออยู่กับบาลานซ์วีล (Balance wheel) วัสดุพิ้งค์โกลด์ รวมถึงบาร์เรล (Barrel) และชุดเฟืองสีเทาอ่อน ซึ่งชิ้นส่วนหลักและบริดจ์สามารถมองเห็นได้จากทั้งสองด้านของนาฬิกาถูกตกแต่งด้วยการขัดลายซาตินแนวตั้งเพื่อเพิ่มความน่าค้นหา ส่วนบาร์เรลและวีลชิ้นอื่นๆ ถูกขัดตกแต่งด้วยลายซาตินแบบวงกลมด้วย 70 เหลี่ยมมุมที่ผ่านการขัดด้วยมือยิ่งตอกย้ำถึงความพิถีพิถันในการรังสรรค์กลไกขนาดเพียง 3.65 มิลลิเมตร ถือเป็นการยกระดับการสร้างสรรค์งานโอเพ่นเวิร์คให้สูงขึ้นอีกขั้น การตกแต่งด้วยสามเฉดสียังช่วยเพิ่มมิติให้กับนาฬิกาอีกด้วย

ขอบตัวเรือนด้านในสีเทาเคลือบแลคเกอร์ช่วยเสริมความโดดเด่นของกลไกโอเพ่นเวิร์คและรับกันได้ดีกับขอบตัวเรือนที่บางเป็นพิเศษ เข็มนาฬิกาพิ้งค์โกลด์ 18 กะรัตยังช่วยเติมสีสันให้กับบาลานซ์วีลและมิดเดิ้ลเคสกระจกแซฟไฟร์ทรงโค้ง 2 ชั้นอันเป็นเอกลักษณ์ถูกเชื่อมต่อกับขอบตัวเรือนทรงโค้งที่บางเป็นพิเศษ ทำให้ดีไซน์ดูร่วมสมัยยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสร้างมิติและน่าดึงดูดเมื่อกระทบกับแสงและช่วยขับเน้นกลไกโอเพ่นเวิร์คอันประณีตให้ดูโดดเด่นยิ่งขึ้น

 สายนาฬิกาเคลือบยางสไตล์ร่วมสมัย
นาฬิกาเรือนนี้มาพร้อมสายนาฬิกาเคลือบยางสีเทา เพิ่มรายละเอียดด้วยเทกซ์เจอร์บนสายนาฬิกาเพื่อความทันสมัย วัสดุภายในเป็นหนังลูกวัว สายนาฬิกาถูกเชื่อมต่อโดยตรงกับขานาฬิกาที่เชื่อมต่อกับขอบตัวเรือนบางพิเศษได้อย่างลงตัว ยิ่งถ่ายทอดให้เห็นเทคนิคการรังสรรค์ชิ้นงานด้วยมือที่ประณีตและเน้นให้ตัวเรือนทูโทนท่ตัดกันดูโดดเด่นยิ่งขึ้น

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้