MB&F Legacy Machine No.2

Last updated: 8 ก.พ. 2566  |  394 จำนวนผู้เข้าชม  | 

MB&F Legacy Machine No.2

Legacy Machine No.2 (เลกาซี แมชชีน นัมเบอร์ 2) วางตำแหน่งของตน ณ จุดปลายสูงสุดของสเปกตรัมแห่งเครื่องบอกเวลาชั้นสูง นับตั้งแต่ที่นาฬิการุ่นนี้ได้เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 2013 ในฐานะหนึ่งในการแสดงออกอันล้ำสมัยสูงสุดของประเพณีการประดิษฐ์นาฬิกาจักรกลในท้องตลาด และในปี ค.ศ. 2023 นี้ MB&F (เอ็มบีแอนด์เอฟ) มีความยินดีที่จะนำซึ่งสัญญาณแห่งนวัตกรรมเครื่องบอกเวลาให้หวนคืนกลับมาอีกครั้งภายในตัวเรือนแพลลาเดียมใหม่ พร้อมทั้งถ่ายทอดด้วยเสน่ห์ของหน้าปัดซันเรย์ (sunray) สีอความารีนอันงดงาม ด้วยโทนสีเขียวอ่อน สีเทาและสีฟ้า สำคัญเหนืออื่นใดคือการเปิดตัวครั้งใหม่ของ Legacy Machine No.2 ยังนำเสนอด้วยมุมมองและวิสัยทัศน์อันน่าทึ่งเดียวกันกับที่ปรากฏบนเครื่องยนต์ราวกับร่ายมนตร์เสน่ห์ไว้ภายในตัวเรือนที่ทั้งสง่างามและล้ำค่า

Legacy Machine นับเป็นการตีความใหม่อันน่าอัศจรรย์ของการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องบอกเวลาอันโดดเด่นโดยเหล่าช่างนาฬิกาผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ดังนั้น ภาพลักษณ์อันร่วมสมัยจึงได้ถ่ายทอดผ่านการปรากฏโฉมในอีกรูปแบบหนึ่งของ ฟลายอิ้งบาลานซ์คู่ (dual flying balances) ใน Legacy Machine No.2 ซึ่งแขวนลอยสูงอยู่เหนือหน้าปัดจากก้านโค้งอันสง่างามทั้งสี่ด้าน ทั้งยังดูคล้ายกับตัดกันเมื่อมองครั้งแรก ทว่า ไร้ความผิดพลาดและข้อกังขา ที่ LM2 (แอลเอ็ม2) นับเป็นเรือนเวลาที่ย้อนหวนคืนสู่เส้นทางกว่า 250 ปีแห่งการสร้างสรรค์ของเหล่าช่างนาฬิกาผู้ยิ่งใหญ่ระดับตำนานสูงสุด ทั้ง อับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ (Abraham-Louis Breguet) (ค.ศ. 1747-1823), เฟอร์ดินานด์ แบร์ธอด (Ferdinand Berthoud) (ค.ศ. 1727-1807) และแอนไทด์ ฌองวิเยร์ (Antide Janvier) (ค.ศ. 1751-1835) จากเหล่าตำนานเครื่องบอกเวลาแห่งศตวรรษที่ 18 ที่ได้หลอมรวมเป็นหนึ่งมิใช่เพียงโดยอัจฉริยะด้านการประดิษฐ์คิดค้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเป็นจริงที่ว่าช่างนาฬิการะดับตำนานเหล่านี้ได้รังสรรค์ไว้ซึ่งโครงสร้างของนาฬิกาคล็อกและนาฬิกาข้อมือทั้งหมดขึ้นด้วยความอัศจรรย์ของบาลานซ์สองตัว

แกว่งอยู่บนความสูง ที่บาลานซ์วีลคู่อันล้ำเลิศของแอลเอ็ม2 นั้นได้แรงบันดาลใจมาจากและอุทิศให้กับหนึ่งในจักรกลอันหายากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการประดิษฐ์นาฬิกา นั่นคือ เรกูเลเตอร์คู่ (dual regulator) และยังคงหายากยิ่งกว่า กับอัตราเฉลี่ยของเรกูเลเตอร์คู่ที่เกิดขึ้นภายในเลกาซี แมชชีน นัมเบอร์ 2 ซึ่งถูกถ่ายทอดโดยเฟืองท้ายไปสู่รางเกียร์เฟืองเดี่ยวที่ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีสองกลไกแยกจากกัน

โดยบนการแสดงภายใต้โดมกระจกแซฟไฟร์ หน้าปัดของเลกาซี แมชชีน นัมเบอร์ 2 ที่ซึ่งจริงๆ แล้วคือแผ่นด้านบนสุดของกลไกผ่านการตกแต่งอย่างประณีตวิจิตรนั้นคือบทเรียนอันมีตัวอย่างเป็นที่ประจักษ์ภายใต้ความเรียบง่ายและสมมาตร นับจากด้านบนสู่ด้านล่างของหน้าปัดย่อยตกแต่งแล็กเกอร์สีขาวยืดขยายออก ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา พร้อมด้วยเข็มชี้ชั่วโมงและนาทีทำให้เป็นสีน้ำเงินซึ่งมองเห็นอย่างสมดุลกับเฟืองท้ายขนาดใหญ่ที่ยกสูงขึ้น ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ขณะที่หากไล่จากด้านซ้ายไปยังด้านขวา ฟลายอิ้งบาลานซ์ทั้งสองตัว รวมถึงเอสเคปเมนต์ของพวกมันยังดูคล้ายกับภาพจากกระจกเงาที่สะท้อนความเหมือนกัน และ ณ ตำแหน่งของตัวรองรับสตั๊ด (stud holders) ยังทำหน้าที่ยึดหมุดบนสปริงบาลานซ์ของพวกมันไว้อย่างมั่นคง

ขณะที่บาลานซ์วีลของตัวจับเรกูเลเตอร์คู่ซึ่งแกว่งลอยและสะกดสายตาผู้ชมนั้น ยังประกอบด้วยเฟืองท้ายแพลเนต (planetary differential) ขนาดใหญ่ซึ่งติดตั้งอย่างภาคภูมิไว้บนหน้าปัดอันเป็นหัวใจที่แท้จริงของเลกาซี แมชชีน นัมเบอร์ 2 ภายใต้ชัยชนะอันน่าทึ่งของไมโครฃวิศวกรรมอันล้ำสมัย โดยมีเรือนเวลาจำนวนเพียงไม่มากนักที่จะมาพร้อมด้วยเรกูเล- เตอร์หลายตัวซึ่งเชื่อมต่อกันผ่านเฟืองท้ายซึ่งนับเป็นความท้าทายและยากอันยิ่งใหญ่ในการสร้างสรรค์จักรกลซับซ้อนที่มีความเที่ยงตรงแม่นยำสูงเช่นนี้ โดยเฟืองท้ายจะทำหน้าที่ในสามบทบาทด้วยกัน ได้แก่ 1. การส่งถ่ายพลังงานไปยังเรกูเลเตอร์แต่ละตัว 2. การรับแต่ละอัตราการบอกเวลาจากบาลานซ์แต่ละตัว และ 3. การส่งต่ออัตราเฉลี่ยของเรกูเลเตอร์สองตัวไปยังรางเกียร์เฟือง ที่ซึ่งสุดท้ายแล้วจะแสดงบทบาทของตนเป็นเวลาที่แสดง

กลไกของ Legacy Machine No.2 ได้รับการพัฒนาสู่คุณสมบัติเฉพาะตัวของ MB&F โดยฝีมือของช่างนาฬิกาผู้ครอบครองรางวัลอันทรงเกียรติมาแล้ว อย่าง ฌ็อง-ฟรองซัวส์ โมฌอน (Jean-François Mojon) (ช่างนาฬิกายอดเยี่ยม (Best Watchmaker) ในงาน กรังด์ ปรีซ์ เดอ’ออร์โลเฌอรี เดอ เฌแนฟ (Grand Prix d'Horlogerie de Genève) ปี ค.ศ. 2010) และทีมของเขา ณ โครโนด (Chronode) ทั้งยังมีช่างนาฬิกาอิสระผู้มีชื่อเสียง การิ วูทิไลเนน (Kari Voutilainen) มาร่วมมอบความมั่นใจได้ถึงสไตล์อันงดงามประณีตของกลไกที่สืบทอดอย่างต่อเนื่องด้วยความโดดเด่นของเรือนเวลาตามประเพณีคุณภาพระดับสูงแห่งศตวรรษที่ 19 พร้อมทั้งสร้างคุณสมบัติเฉพาะให้กับการตกแต่งด้วยมือชั้นยอด

ลวดลายคลื่นเจนีวาหรือเจนีวาเวฟ (Geneva waves) อันงดงามบริสุทธิ์ ผสมผสานเข้ากับชาตอง (chatons) ทอง รวมถึงขอบมุมและสะพานจักรขัดเงาดุจกระจกที่ออกแบบขึ้นด้วยมุมด้านในขัดลบมุมอย่างสวยงามประณีต (ซึ่งไม่สามารถตกแต่งได้โดยเครื่องจักร) ได้ร่วมถ่ายทอดถึงการตกแต่งชั้นเลิศของกลไก มากไปกว่านั้น ในรุ่นแพลลาเดียม (Palladium edition) ใหม่ยังนำเสนอการตกแต่งด้วย เอ็นเอซี (NAC) ใหม่ภายใต้สีแอนทราไซต์อันลุ่มลึก เพื่อมอบซึ่งบุคลิกที่โดดเด่นเหนือกว่าให้กับเรือนเวลาอันแสนล้ำค่า ต่อเนื่องด้วยจิตวิญญาณแห่งความโปร่งใสของ MB&F ที่ชื่อของทั้งสองบุรุษผู้รับผิดชอบการสร้างสรรค์กลไกนี้ยังได้ถูกแกะสลักด้วยมือไว้บนด้านหลัง

เป็นเวลาสองศตวรรษครึ่ง หลังจากที่สามช่างนาฬิกาผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดในโลกได้จัดวางบาลานซ์วีลสองตัวลงในกลไกของพวกเขา และเป็นเอ็มบีแอนด์เอฟ ที่ได้ร่วมเฉลิมฉลองให้กับผลงานบุกเบิกสร้างสรรค์นี้ด้วยแอลเอ็ม2 เรือนเวลาพร้อมด้วย บาลานซ์สองตัวที่แขวนลอยอยู่นอกกลไก

Legacy Machine No.2 เปิดตัวในปี ค.ศ. 2013 ในเวอร์ชันเรดโกลด์ 18 กะรัต ไวท์โกลด์ 18 กะรัต และรุ่นผลิตจำนวนจำกัดเพียง 18 เรือนในแพลทินัม 950 โดยรุ่นผลิตจำนวนจำกัด 18 เรือนในตัวเรือนแพลทินัม พร้อมทั้งหน้าปัดสีเขียวนั้นได้ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในปี ค.ศ. 2017 และในปี ค.ศ. 2018 จึงได้เผยโฉมผลงานสร้างสรรค์รุ่นผลิตจำนวนจำกัดเพียง 12 เรือน ในเวอร์ชันไวท์โกลด์ พร้อมด้วยหน้าปัดสีม่วง ต่อมาในปี ค.ศ. 2019 รุ่นผลิตจำนวนจำกัดของเวอร์ชันเรดโกลด์และสีน้ำเงินได้เปิดตัวขึ้นด้วยจำนวนจำกัดเพียง 12 เรือน และท้ายสุด ณ วันนี้ คือการเปิดตัวของรุ่นแพลลาเดียมใหม่ที่เข้ามาสมทบในคอลเลกชันด้วยจำนวนจำกัดเพียง 18 เรือนเท่านั้น


รายละเอียดของ Legacy Machine No.2
ประวัติศาสตร์แห่งเรือนเวลาเรกูเลเตอร์คู่

แม้แต่ในวันนี้ พร้อมด้วยการช่วยของโปรแกรมออกแบบโดยคอมพิวเตอร์ (CAD) และเครื่องจักร ซีเอ็นซี (CNC) อันแม่นยำสูงอย่างมาก กระนั้น ความซับซ้อนอันน่าทึ่งของกลไกนาฬิกาจักรกลระดับไฮเอนด์ก็ยังคงจำเป็นต้องอาศัยซึ่งการประกอบและการควบคุมปรับตั้งด้วยทักษะเพื่อให้บรรลุถึงการแสดงเวลาอย่างแม่นยำในหลากหลายตำแหน่ง ไม่ว่านาฬิกาจะถูกวางบนแนวราบ แนวตั้ง (บนขอบของมัน) หรือวางเม็ดมะยมขึ้นด้านบนและวางเม็ดมะยมลงด้านล่าง โดยส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อชิ้นส่วนประกอบด้านใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบาลานซ์ ซึ่งในทางกลับกันยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยต่ออัตราการวัดและแสดงเวลา

ในศตวรรษที่ 18 ความผกผันในกระบวนการผลิตที่สูงกว่าเป็นผลมาจากน้ำมันที่มีคุณภาพต่ำ ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่าแทบเป็นไปไม่ได้ในการปรับตั้งกลไกไปสู่ความเที่ยงตรงระดับสูงอย่างที่เราคาดหวังได้ในทุกวันนี้ ดังนั้น จึงไม่น่าประหลาดใจที่ช่างผู้รังสรรค์เครื่องบอกเวลาอันยิ่งใหญ่ของช่วงเวลาแห่งการทดลองนั้นจะนำเสนอซึ่งความหลากหลายอย่างมากของจักรกลเพื่อใช้ในการพัฒนาปรับปรุงการวัดและแสดงเวลา

โดยขณะที่ เฟอร์ดินานด์ แบร์ธอด (ค.ศ. 1727-1807) ได้สร้างค่าเฉลี่ยเชิงจักรกลของเรกูเลเตอร์ทั้งสองตัวของเขา ช่างนาฬิกา อย่าง อับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ (ค.ศ. 1747-1823) และแอนไทด์ ฌองวิเยร์ (ค.ศ. 1751-1835) ทั้งคู่ได้สร้างสรรค์เรือนเวลาพร้อมด้วยเรกูเลเตอร์คู่ โดยการใช้ปรากฏการณ์การสะท้อนที่นำมาสู่การเฉลี่ยอัตราของสองบาลานซ์ และการตระหนักรู้ว่าเรือนเวลาเรกูเลเตอร์คู่ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือนเวลาซึ่งใช้กฎการสะท้อนในการจับคู่ของสองระบบนั้นจะมีกลไกสมบูรณ์สองตัว มากกว่าการมีเพียงเรกูเลเตอร์สองตัว

และด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าอัจฉริยะแห่งเครื่องบอกเวลาเหล่านี้มีขึ้นเพียงจำนวนจำกัดทั้งในนาฬิกาคล็อกและนาฬิกาข้อมือที่มาพร้อมด้วยเรกูเลเตอร์คู่ (มีเพียงจำนวนไม่มากเท่านั้น) นั่นจึงแสดงให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ได้มอบรางวัลอันคุ้มค่าแก่ทุกความพยายาม

เป็นเวลาเกือบ 100 ปีต่อมา ในช่วงยุค 1930s มีเพียงผลงานจำนวนไม่กี่ชิ้นเท่านั้นของนักเรียนฝีมือดีที่สุด ณ โรงเรียนสอนทำนาฬิกาแห่งวัลเลย์ เดอ ฌูซ์ (Watchmaking School of the Vallée de Joux) ได้สร้างสรรค์นาฬิกาพกเรกูเลเตอร์คู่ขึ้น พร้อมด้วยอัตราต่างๆ ของบาลานซ์สองตัวที่เฉลี่ยโดยเฟืองท้ายแพลเนต ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เหล่านักเรียนจะสร้างสรรค์แต่ละผลงานขึ้นในสองชิ้น ชิ้นหนึ่งสำหรับพวกเขาเอง และอีกชิ้นหนึ่งสำหรับโรงเรียน และคาดกันว่ามีเรือนเวลาเหล่านี้เพียง 10 เรือนเท่านั้นที่มีอยู่

ฟิลิปป์ ดูโฟร์ (Philippe Dufour) ช่างนาฬิกาอิสระ ณ วัลเลย์ เดอ ฌูซ์ ได้เห็นหนึ่งในนาฬิกาพกเหล่านี้ และได้รับแรงบันดาลใจเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน ดูอัลลิตี้ (Duality) ของเขา โดยเปิดตัวในปี ค.ศ. 1996 ที่ดูอัลลิตี้คือนาฬิกาข้อมืออันมีชื่อเสียงรุ่นแรกซึ่งบรรจุด้วยบาลานซ์สองตัวและผนวกโดยเฟืองท้าย โดยมีเพียงนาฬิกาข้อมือกับสองบาลานซ์คู่อื่นๆ เพียงไม่กี่เรือนเท่านั้นที่จับคู่ผ่านเฟืองท้ายต่างๆ

ข้อได้เปรียบของการใช้เฟืองท้ายแพลเนตนั้นคือการที่บาลานซ์ทั้งสองตัวทำงานในอัตราที่เป็นธรรมชาติของตนเอง ด้วยเฟืองท้ายที่มอบซึ่งค่าเฉลี่ยของความถี่อิสระอย่างสมบูรณ์ทั้งสองความถี่ ขณะที่จักรกลอื่นๆ เมื่อจับคู่แล้วจะมีบาลานซ์ตัวหนึ่งที่ช้าลงหรือเร็วขึ้นในอีกตัว เพื่อให้บรรลุถึงค่าเฉลี่ยและสร้างเพียงความตึงเล็กน้อยขึ้นในระบบ

ด้านหน้าปัด

ขณะที่หากมองเพียงผิวเผิน Legacy Machine No.2 อาจจะดูเหมือนกับนาฬิกาทรงกลมตามประเพณีทั่วไป ด้วยโครงสร้างสถาปัตยกรรมแบบสามมิติที่นำเสนอการจัดการทางภาพผ่านการเล่นหลายระดับ สิ่งที่มองเห็นในชั่วพริบตาแรกสู่หน้าปัดหลักนั้นแท้จริงแล้วคือแท่นหรือแผ่นบนสุดของกลไกซึ่งผ่านการแกะสลักอย่างประณีต พร้อมทั้งชุบและแกะสลักด้วยมือด้วยคำว่า Legacy Machine ไว้ด้านใต้เฟืองท้าย

สูงขึ้นเล็กน้อยเหนือพื้นผิว คือหน้าปัดย่อยแสดงชั่วโมง-นาทีตกแต่งด้วยลวดลายทองรอบวงกลมอันประณีตที่เสริมความโดดเด่นให้กับสีขาวบริสุทธิ์ของหน้าปัดแล็กเกอร์ที่ยืดขยายออก ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ขึ้นโดยการประยุกต์ใช้และผ่านการเผาด้วยความร้อนของแล็กเกอร์หลากหลายชั้น ทำให้ชั้นเหล่านี้แผ่ขยายอย่างหนาแน่นเหนือพื้นผิวของหน้าปัด ขณะที่สีขาวยังตัดกันอย่างลุ่มลึกกับเข็มชี้ทำให้เป็นสีน้ำเงินสว่าง เข็มชี้เหล่านี้มีความโค้งเล็กน้อยไปตามพื้นผิวโค้งนูนของหน้าปัดย่อย และเพื่อให้มั่นใจได้ถึงความบริสุทธิ์แห่งความสวยงามของหน้าปัดและตัวเลขโรมันตามประเพณี การยึดอันซับซ้อนด้านใต้จึงไม่จำเป็นต้องใช้สกรูที่มาขัดขวางภาพทางสายตาแต่อย่างใด

ขณะที่เฟืองท้ายแพลเนตถูกจัดวางอย่างภาคภูมิสง่างามบนพื้นผิว รองรับโดยสะพานจักรขัดเงาแบบกระจกทรงโค้งคู่อันน่าทึ่งที่ประดับภายในด้วยทับทิมขนาดใหญ่สามเม็ด เฟืองท้ายอันซับซ้อนนี้คือองค์ประกอบสำคัญในระบบเรกูเลเตอร์คู่ และยกตัวสูงขึ้นเหนือกลไกเพื่อช่วยให้สามารถมองเห็นและชื่นชมจักรกลได้ดียิ่งขึ้น

แขวนลอยอย่างสง่างามอยู่เหนือทั้งหน้าปัดย่อยและเฟืองท้ายนั่นคือบาลานซ์วีลอันโด่งดังสองตัว โดยบาลานซ์คู่นี้ประกอบด้วยโอเวอร์คอยล์เบรเกต์ (Breguet overcoils) และประดับด้านในด้วยสกรูปรับตั้งการวัดค่าเวลาที่ทำงานอย่างสมบูรณ์ทั้งสี่ตัว โดยบาลานซ์สองตัวยังเป็นเสมือนภาพสะท้อนของอีกตัว เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาที่แตกต่างกันสู่กำลังที่ต่างกัน ขณะที่ระยะห่างระหว่างบาลานซ์วีลนั้นผ่านการคำนวณอย่างพิถีพิถันและอิสระเพื่อหลีกเลี่ยงการสะท้อน ซึ่งอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อการควบคุมปรับตั้ง ส่วนก้านโค้งอันยิ่งใหญ่และสง่างามเหล่านี้ยังคงแขวนลอยไว้ด้วยฟลายอิ้งบาลานราวกับประติมากรรมแห่งงานศิลป์

การตกแต่งอันประณีตและความภักดีต่อประวัติศาสตร์
ช่างนาฬิกาอิสระระดับมาสเตอร์ การิ วูทิไลเนนได้รับผิดชอบด้านการตกแต่งกลไก เพื่อให้มั่นใจถึงทั้งความแม่นยำและความเคารพต่อประวัติศาสตร์แห่งสไตล์ รวมถึงคุณสมบัติเฉพาะของการตกแต่งภายในกลไกที่เป็นเอกลักษณ์ของ Legacy Machine No.2

ด้วยลวดลายแกะสลักซันเรย์อันประณีต ณ ด้านบนของแท่นกลไก (ด้านหน้าปัด) ที่สะกดสายตาอย่างลุ่มลึกด้วยมุมอันคมชัด โดยปราศจากการดึงดูดความสนใจออกจากหน้าปัดย่อยสีขาวอันบริสุทธิ์ รวมถึงฟลายอิ้งบาลานซ์และเฟืองท้ายยกสูง แต่เป็นสไตล์และการตกแต่งของสะพานจักรและแท่นเครื่องที่สามารถมองเห็นผ่านการแสดงบนด้านหลังของกลไก ที่ วูทิไลเนน ได้ถ่ายทอดซึ่งความภักดีต่อประวัติศาสตร์แห่งความประณีตวิจิตร ทั้งภายใต้รูปทรงของสะพานจักรโค้งอันสง่างาม และพื้นที่กว้างตามประเพณีระหว่างสะพานจักร และระหว่างสะพานจักรและตัวเรือน

บนด้านหลังของกลไก อัญมณีทับทิมขนาดใหญ่พิเศษได้จัดวางภายในสกรูจมชาตองทอง (countersunk gold chatons) ผ่านการขัดเงาประณีตสูง เพื่อมอบภาพที่ตัดกันอย่างโดดเด่นกับลายคลื่นเจนีวาซึ่งตัดกับสะพานจักรโค้งเย้ายวนใจ ขณะที่มอบซึ่งความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์กับอัญมณีขนาดใหญ่ที่เห็นได้จากภายในกลไกนาฬิกาพกโบราณเกรดสูง โดยตัวรองรับทับทิมนี้ยังมีการประยุกต์ใช้ที่ได้ผลทางปฏิบัติในการลดการสึกหรอจากการทำงานประสานกับเฟืองตัวเล็ก (pinions) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่และรองรับน้ำมันหล่อลื่นได้มากขึ้น

แรงบันดาลใจและการตระหนักรู้
แม็กซิมิเลียน บูซเซอร์ (Maximilian Büsser) มีความหลงใหลมาอย่างยาวนานในนาฬิกาพกของศตวรรษที่ 18 และ 19 กับความสลับซับซ้อนแห่งเครื่องบอกเวลาที่สามารถมองเห็นได้ทั้งหมดในสิ่งที่เราพบได้เช่นในทุกวันนี้ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงภาพจินตนาการของยุค แต่สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ล้วนถูกพัฒนาขึ้นโดยการใช้กระดาษและปากกา (ไร้โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันซับซ้อนใดๆ) ผสมผสานด้วยชิ้นส่วนต่างๆ ที่ผลิตขึ้นด้วยความแม่นยำสูงสุดตรงตามมาตรฐานต่างๆ ของทุกวันนี้ และด้วยเครื่องจักรยุคเก่าแก่โบราณ (ไม่มีระบบไฟฟ้า) รวมถึงการตกแต่ง ประกอบ และการปรับตั้งอย่างละเอียดประณีตสู่คุณภาพระดับสูงอันน่าทึ่งที่เรายังคงมองหาได้เสมอเหมือนเช่นในทุกวันนี้ ประกอบภายใต้ขนาดใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับนาฬิกาข้อมือสมัยใหม่ ที่ช่วยให้สถาปัตยกรรมกลไกนั้นไม่อัดแน่นจนเกินไป พร้อมด้วยการถ่ายทอดให้เห็นถึงสะพานจักรและแท่นเครื่องที่มีรูปทรงอันสวยงาม

ขณะที่ ออโรโลจิคัล แมชชีน (Horological Machines) แห่งอนาคตของ MB&F ได้สร้างรูปอันมั่นคงในสิ่งที่ดีที่สุดแห่งเครื่องบอกเวลาตามประเพณี บูซเซอร์ยังต้องการอุทิศให้กับประเพณีอันรุ่มรวยโดยจินตนาการถึงประเภทของเรือนเวลาที่เขาอาจจะสร้างสรรค์ขึ้นได้หากเขาเกิดเมื่อ 100 ปีก่อนหน้านี้ เช่นปี ค.ศ. 1867 แทนที่จะเป็นปี ค.ศ. 1967 เช่นการติดตั้งด้วยฟลายอิ้งบาลานซ์สองตัว เฟืองท้ายแพลเนตยกสูง งานออกแบบสะพานจักรทางประวัติศาสตร์และการตกแต่งอย่างประณีตคลาสสิก ที่หล่อหลอมอยู่ภายในแอลเอ็ม2 ตัวแทนผู้ซึ่งเฉลิมฉลองให้กับนาฬิกาเรกูเลเตอร์คู่ทางประวัติศาสตร์ด้วยความทันสมัยและเปี่ยมด้วยความหลงใหลอย่างแท้จริง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้