Last updated: 24 ม.ค. 2567 | 1434 จำนวนผู้เข้าชม |
จากซูเปอร์คาร์ เครื่องยนต์ไอพ่น แมงกะพรุน หมีแพนด้า กบ และบลูด็อก ที่ถูกแปลงมาอยู่บนข้อมือกับเครื่องจักรบอกเวลา Horological Machine มาแล้ว MB&F ก็สร้างปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้นอีกครั้งในงาน Dubai Watch Week กับ Horological Machine Nº11 Architect หรือ HM11 Architect ผลงานที่ขยายอาณาจักรของ MB&F ออกมาสู่บ้านในสไตล์ที่คาดไม่ถึงว่าจะจัดสรรได้อย่างลงตัว เหมือนที่สถาปนิกชื่อดังชาวสวิสเคย Le Corbusier เคยกล่าวไว้ว่า “บ้านคือเครื่องจักรในการอยู่อาศัย” เครื่องจักรของ MB&F เรือนนี้ถึงจะอยู่อาศัยไม่ได้ แต่บอกเล่าเรื่องราวและเวลาได้เป็นอย่างดี
เรื่องของ HM11 Architect เริ่มต้นจากความสนใจในสถาปัตยกรรมช่วงปี 1960 ของ Max Büsser ซึ่งก่อเกิดเป็นคำถามในใจของเขาว่า “ถ้าบ้านหลังนั้นกลายมาเป็นนาฬิกาล่ะ?” และภาพร่างพิมพ์เขียวแรกของการตีความบ้านให้กลายเป็นเครื่องจักรบอกเวลาก็ปรากฏขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อนโดย Eric Giroud แกนหลักของฝ่ายออกแบบ MB&F ท่ามกลางความตื่นเต้นของทีมการตลาด และความท้าทายอีกครั้งของทีมผลิต เพราะบ้านที่ Max สนใจไม่ใช่บ้านหลังคาหน้าจั่วธรรมดา หากดูคล้ายกับ Brenton House สถาปัตยกรรมสไตล์โพสต์โมเดิร์นของ Charles Haertling สถาปนิกชาวอเมริกันในปี มีลักษณะเป็นห้องต่อพ่วง 4 ห้องที่เชื่อมด้วยโถงกลาง ซึ่งมีพื้นฐานเชิงสถาปัตยกรรมที่กลายเป็นแผนผังของ HM11 Architect ผลงานที่พิสูจน์ถึงความเป็นไปได้ที่คาดไม่ถึง ด้วยดีไซน์ที่สะกดทุกสายตาตั้งแต่แรกเห็น เมื่อสวมบนข้อมือกลับมีความลงตัวและสวมใส่สบายด้วยน้ำหนักที่เบากับขนาดที่เหมาะกับข้อมืออย่างไม่น่าเชื่อ
บ้านถูกย่อส่วนเป็นเครื่องจักรบอกเวลาได้อย่างไร? ภาพร่างแรกเฉลยบางส่วน แต่ผลงานเรือนจริงบ่งบอกถึงแรงบันดาลใจที่ส่งผ่านสู่ตัวเรือนซับซ้อนสูงได้อย่างชัดเจน โครงสร้างของตัวเรือน HM11 Architect แบ่งออกเป็น 4 ห้อง ที่คล้ายกับ “ฮับ” หรือ “Pod” โดยมีล็อบบี้ที่โดดเด่นด้วยกลไกฟลายอิ้งทูร์บิญองอยู่ตรงกลางเสมือนหัวใจของบ้าน แกว่งลอยเหนืออากาศภายใต้หลังคากระจกแซฟไฟร์ทรงโดมสองชั้นอย่างเหมาะสม รูปทรงตัวเรือนของ Horological Machine Nº11 Architect เป็นรูปแบบที่ดูสนุกสนาน พองตัวและนูนออก ในขนาด 42.0 มิลลิเมตร และหนา 23.0 มิลลิเมตร โดยประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนมากถึง 92 ชิ้น น่าจะเป็นตัวเรือนที่มีชิ้นส่วนมากที่สุดเท่าที่แบรนด์เคยทำมา
ห้องหรือพ็อดทั้งสี่มีดีไซน์ที่คล้านกันกับผนังสีขาวมันวาวพร้อมบานหน้าต่างคริสตัลแซฟไฟร์ แต่ละห้องทำหน้าที่แตกต่างกัน ห้องแรกคือห้องเวลา ที่จะบอกเวลาในแบบชั่วโมงและนาที ด้วยลูกกลมแบบติดก้านทำหน้าที่เป็นตำแหน่งหลักบอกชั่วโมงที่แตกต่าง โดยลูกกลมอลูมิเนียมขัดเงาที่มีขนาดใหญ่และเบากว่าคือหลักชั่วโมง 4 ตำแหน่งคือ 3, 6, 9 และ 12 ส่วนลูกกลมไทเทเนียมขัดเงาขนาดเล็กและมีเข้มกว่าแสดงหลักชั่วโมงที่เหลือ ชี้บอกค่าด้วยเข็มชั่วโมงและนาทีปลายหัวลูกศรสีแดง รูปแบบการแสดงเวลานี้ได้ไอเดียมาจากนาฬิกา Ball Clocks ‘Horloge Vitra” ของนักออกแบบอุตสาหกรรมชาวอเมริกันอย่าง George Nelson ความยากอยู่ที่การแสดงเวลาแบบแนวดิ่ง ซึ่งต้องจัดวางแกนต้านกฏฟิสิกส์ โดยใช้เฟืองทรงกรวยในการส่งพลังงานผ่านกลไกทูร์บิญองแนวนอนมาสู่การแสดงผลของชุดเข็มในแนวตั้ง ที่มีแกนชุดเข็มยาวเป็นพิเศษ เพื่อให้แสดงค่าผ่านลูกบอลได้อย่างชัดเจน
ห้องที่สองเป็นห้องสำหรับติดตั้งเทอร์โมมิเตอร์ที่วัดค่าอุณหภูมิโดยรอบ เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่ง HM11 Architect ใช้ระบบกลไกจักรกลในการชี้วัดอุณหภูมิจากแถบโลหะคู่ อาจดูแปลกตาสำหรับในยุคเครื่องวัดอุณหภูมิเป็นอิเล็กทรอกนิกส์มีความแม่นยำสูง แต่บ้านอัจฉริยะหลัน้อยนี้ใช้กลไกจักรกลที่ทำหน้าที่วัดค่าอุณหภูมิภายนอก ซึ่งแยกการวัดอุณหภูมิจากผิวหนัง โดยไม่ต้องถอดนาฬิกาออก วัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ -20–60°C (0–140°F) ซึ่งการแสดงผลมีให้เลือกเป็นเซลเซียสหรือฟาเรนไฮต์ อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
ห้องถัดมาแสดงมาตรวัดพลังงานสำรอง โดยใช้การชี้วัดด้วยลูกศรปลายสีแดงคู่กับลูกกลมติดตั้งบนก้าน 5 ลูกที่ไล่ขนาดจากเล็กไปใหญ่ ความน่าสนใจอยู่ที่วิธีการไขลานกลไกด้วยการหมุนตัวเรือน ซึ่งนับเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ตัวเรือนของ HM11 Architect ที่มีซับซ้อนสูงตามดีไซน์ที่ต้องการให้เป็นสามารถหมุนได้โดยรอบอีกด้วย การหมุนมีบทยาทสองอย่าง อย่างแรกคือเปลี่ยนหน้าต่างการแสดงค่า โดยแต่ละห้องทำมุม 90 องศาระหว่างกัน การหมุนทุก 90 องศา จึงทำให้สามารถชมการแสดงค่าในแต่ละหน้าปัดของห้องต่างๆ ได้ชัดเจน เช่น จะอ่านเวลา จะดูอุณภูมิ หรืออยากรู้พลังงานสำรอง ในขณะที่ห้องหนึ่งหันเข้าเพื่อให้อ่านค่า ห้องที่เหลือจะหันไปในทิศที่แตกต่างกัน ความคล่องตัวในการวางแนวการแสดงผลนี้ยังมีประโยชน์ต่อ HM11 Architect ทำให้ประหยัดพื้นที่ของโครงสร้าง การหมุนตัวเรือนยังมีอีกหนึ่งบทบาทคือทำหน้าที่ไขลาน โดยการหมุนตามเข็มนาฬิกา 45 องศาในแต่ละครั้งจะส่งสัญญาณคลิกแสดงว่าเพิ่มพลังงานเข้าสู่ตับลานแล้ว 72 นาที หมุนครบรอบ 360 องศาก็เท่ากับ 576 นาทีหรือ 9.6 และเมื่อหมุน 10 รอบ ตลับลานก็จะบรรจุพลังงานสำรองไว้เต็มที่ 96 ชั่วโมงตามที่ MB&F กำหนดไว้ให้ผลงานนี้ และห้องแรกหรือพ็อดแรกก็ทำหน้าที่แสดงมาตรวัดพลังงานสำรองจากเทคนิคยากๆ ที่ทำให้สนุกขึ้น
และห้องสุดท้ายที่เหลือดูเหมือนห้องว่างเปล่าสีขาว มีเพียงตราสัญลักษณ์ทรงกลมเล็กๆ สลักด้วยลวดลายขวานรบของ MB&F หลังกระจกคริสตัลแซฟไฟร์ อันที่จริงแล้ว นี่คืออีกคุณสมบัติที่ไม่เคยมีมาก่อนในอุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกาคือเม็ดมะยมสำหรับตั้งเวลาแบบมองทะลุได้ ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 10 มิลลิเมตร ความใหญ่และโปร่งใสช่วยให้มองเห็นกลไกได้โดยตรงอย่างไร้สิ่งกีดขวาง เม็ดมะยมในคริสตัลแซฟไฟร์นี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเต็มไปด้วยความสวยงามน่าอัศจรรย์ แต่ก็มาพร้อมความท้าทายทางเทคนิคที่ต้องเอาชนะ เฉพาะเม็ดมะยมของนาฬิกาต้องติดตั้งปะเก็นที่ช่วยป้องกันฝุ่นและน้ำเข้านาฬิกา ซึ่งเป็นจุดหลักของการเข้าถึงกลไก ขณะที่เม็ดมะยมทั่วไปใช้ปะเก็นที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มิลลิเมตร แต่ปะเก็นสำหรับเม็ดมะยมของ HM11 Architect ซับซ้อนกว่านั้นเยอะ เพราะเม้ดมะยมขนาดใหญ่กว่าปกติ 5 เท่า ทำให้เกิดแรงเสียดทานมาก จนทำให้เม็ดมะยมอาจจะหักหรือใช้งานไม่ได้ จึงต้องแทนที่ด้วยการใช้ปะเก็นสองชุดเหมือนระบบแอร์ล็อกสองชั้นในยานอวกาศหรือเรือดำน้ำ โดยขอบด้านนอกของนาฬิกาใช้ปะเก็นที่มีแรงเสียดทานต่ำและมีขนาดใหญ่พอจะปกป้องฝุ่นไม่ให้เข้ามาทางช่องของคริสตัลแซฟไฟร์ ส่วนปะเก็นกันน้ำมีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่ามาก จะติดตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์กลางของกลไกที่รอบล้อมแกนเม็ดมะยม และไม่ใช่ปะเก็นชิ้นเดียว แต่ใช้ทั้งหมด 8 ชิ้นเพื่อป้องกันเม็ดมะยมแซฟไฟร์
ด้วยความแปลกประหลาดของดีไซน์ตัวเรือนทรง 4 พ็อดที่เชื่อมต่อกันด้วยล็อบบี้ห้องทูร์บิญอง ทำให้ทีมพัฒนาต้องคิดค้นวิธีที่จะทำให้นาฬิกาเรือนนี้สามารถกันน้ำได้ 20 เมตร เพื่อรับประกันความสมบูรณ์ของตัวเรือนและกลไกภายใน ปะเก็นใหญ่สุดเป็นแบบ O-ring แบบสามมิติอยู่ระหว่างตัวเรือนและขอบตัวเรือน โดยมีการหล่อแม่พิมพ์ที่สร้างแบบขึ้นเองทั้งหมด สำหรรับ HM11 Architect จึงต้องใช้ปะเก็นมากถึง 19 ชิ้น ซึ่งนับเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สุดในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกนี้ด้วย ส่วนล่างของตัวเรือนผลิตจากไทเทเนียมเกรด 5 ในแบบสามมิติที่ได้รับการตกแต่งพื้นผิวด้านนอกและด้านในแตกต่างกัน ฝาครอบด้านบนของแต่ละห้องถูกตัดแยกออกจากกัน เพราะไม่สามารถขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวได้ เนื่องจากปัญหาการวางชุดกลไก แต่ละห้องจึงต้องใช้การประกอบแต่ละชิ้น โดยติดตั้งกลไกบนฐานก่อนแล้วจึงค่อยประกอบสำเร็จ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าสัปดาห์กว่าจะประกอบแต่ละชิ้นได้เสร็จ แน่นอนว่า แต่ละองค์ประกอบที่ต้องติดเชื่อมเข้าด้วยกัน หมายถึงต้องมีปะเก็นกันน้ำแต่ละชิ้นประกบติดไปด้วย
ห้องทั้งสี่ถูกเชื่อมด้วยโถงกลางหรือล็อบบี้ที่เปิดรับแสงสว่างและปกคลุมด้วยหลังคาคริสตัลแซฟไฟร์ทรงโค้งคู่ ด้านบนอวดความอัศจรรย์ของกลไกฟลายอิ้งทูร์บิญองที่มีขนาดใหญ่ช่วยเพิ่มแรงเฉื่อยโดยรวมของระบบ ให้ประโยชน์ในแง่ความเถสียร์ของโครโนเมตริก แต่เพราะกลไกฟลายอิ้งทูร์บิญองมีความไวต่อแรงสะเทือนที่อาจรบกวนประสิทธิภาพการทำงาน HM11 Architect รวมระบบกันสะเทือนแบบเต็มระบบโดยประกอบด้วยสปริงกันสะเทือนแรงดึงสูงสี่ตัวที่ยึดระหว่างกลไกและตัวเรือนชิ้นล่าง สปริงเหล่านี้ไม่ธรรมดา แต่สั่งทำพิเศษจากท่อเหล็กความแข็งสูงและคาร์บอนต่ำตัดด้วยเลเซอร์ พร้อมชุบโครฌมี่ยม เพิ่มความทนทานต่อการสึกหรอ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศเป็นหลัก
กลไกไขลานของ HM11 Architect ทำงานด้วยความถี่ 18,000 ครั้งต่อชั่วโมง ประกอบด้วยชิ้นส่วนทั้งสิ้น 364 ขิ้น ประดับทับทิม 29 เม็ด HM11 Architect เปิดตัวพร้อมกัน 2 รุ่นคือรุ่นแท่นเครื่องสีน้ำเงินที่แสดงให้เห็นบนหน้าปัดจับคู่กับสายยางสีขาว และแท่นเครื่องเคลือบทองเรดโกลด์จับคู่กับสายยางสีเขียวกากี ผลิตจำกัดเพียงรุ่นละ 25 เรือนเท่านั้น
5 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567