Last updated: 12 ก.ย. 2559 | 2432 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาษาไทย เปรียบได้ดั่งท่วงทำนองจากสรวงสวรรค์ เสียงสูงต่ำของถ้อยคำในยามที่ถูกเอื้อนเอ่ยออกมานั้นได้รับการยกย่องว่ามีความไพเราะราวกับเสียงโน้ตดนตรี อีกทั้งยังมีสัมผัสคล้องจองซึ่งเกิดจากการผสมผสานพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ อันเป็นมรดกล้ำค่าแห่งอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษไทยที่สั่งสมตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนานกว่า ๗๐๐ ปี
ลายสือไทย หรือ ตัวอักษรไทย สามารถสืบค้นย้อนกลับไปได้ถึงยุคปี พ.ศ. ๑๘๒๖ ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งกรุงสุโขทัย จึงนับได้ว่าเป็นภาษาที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบไปด้วยพยัญชนะจำนวน ๔๔ ตัว, สระ ๒๑ รูป และวรรณยุกต์ ๕ เสียง ซึ่งต่อมาได้ถูกประยุกต์ปรับปรุงให้เข้ากับแต่ละยุคสมัยจนเกิดเป็นวิวัฒนาการ เป็นเหตุให้พยัญชนะบางตัวไม่ค่อยได้รับความนิยมนำมาใช้งานและเริ่มเลือนหายไปตามกาลเวลา อาทิ อักษร “ฅ”
ฅ.ฅน นั้นเป็นพยัญชนะลำดับที่ ๕ อันมีความหมายสมบูรณ์ในตัวเองแม้ไม่มีตัวสะกด ซึ่งก็คือการสื่อถึงความเป็น “คนไทย” ชนชาติที่ภาคภูมิใจในเอกลักษณ์และวัฒนธรรม ผู้มีอุปนิสัยเรียบง่าย มีธรรมเนียมประเพณีอันงดงาม กินอยู่กับธรรมชาติและเสพสุนทรียะจากสิ่งรอบตัว ด้วยนัยสำคัญที่แฝงอยู่ในตัวอักษร ฅ นี้เอง จึงเป็นแรงบันดาลใจยิ่งใหญ่ให้กับ “โทรคาเดโร กรุ๊ป” และ “นาฬิกาโอเรียนท์” ในการร่วมมือกันสร้างสรรค์นาฬิการุ่นพิเศษ โดยนำเอาตัวอักษร ฅ มาประดับไว้บนหน้าปัด เพื่ออนุรักษ์สืบสานพยัญชนะไทยให้คงอยู่ครบถ้วนทั้ง ๔๔ ตัว
เรือนเวลาสุดพิเศษที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ภาษาไทยนี้ ได้รับการออกแบบอย่างประณีตโดยมีให้เลือกด้วยกัน ๒ ขนาด ได้แก่ เส้นผ่าศูนย์กลางตัวเรือน ๔๑ มิลลิเมตร และ ๓๗.๕ มิลลิเมตร ขับเคลื่อนด้วยกลไกคาลิเบอร์ไขลานประสิทธิภาพสูงของโอเรียนท์ที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่น บนพื้นหน้าปัดสีขาวบริสุทธิ์โดดเด่นด้วยการจัดวางตัวอักษร “ฅ” ขนาดใหญ่อย่างมีเสน่ห์บริเวณเยื้องขวาด้านล่าง ในขณะเดียวกันก็เสริมความสมดุลด้วยหมายเลข “๗๐” สีทองงามสง่า ณ ตำแหน่ง ๙ นาฬิกา และช่องบอกวันที่ ณ ตำแหน่ง ๓ นาฬิกา โดยบรรจงเลือกใช้ตัวเลขไทยเพื่อเป็นการตอกย้ำถึงอีกหนึ่งเอกลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจ เพราะมีเพียงไม่กี่ประเทศบนโลกเท่านั้นที่มีการคิดค้นตัวเลขเป็นของตนเอง
ตัวเรือนสเตนเลสสตีลของนาฬิกาทั้งสองขนาดให้ความรู้สึกเรียบหรูด้วยสีทองคำชมพู ซึ่งรับกันอย่างลงตัวกับสายหนังแท้สีน้ำเงินที่เพิ่มลูกเล่นด้วยการเดินตะเข็บด้ายสีเหลือง บริเวณฝาหลังได้รับการแกะสลักเป็นตัวเลข ๗๐ และข้อความ Special Edition พร้อมหมายเลขประจำตัวเรือนที่ไล่เรียงตั้งแต่ ๐๐๑/๗๐๐ ไปจนถึง ๗๐๐/๗๐๐ เพราะในแต่ละขนาดนั้นได้รับการผลิตในจำนวนจำกัดเพียง ๗๐๐ เรือน และวางจำหน่ายเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น นอกจากนี้ บนกล่องบรรจุเรือนนาฬิกายังได้รับการออกแบบอย่างพิเศษ โดยมีตัวอักษรคำว่า “สุ จิ ปุ ลิ” ซึ่งแปลได้ว่า “ฟัง คิด ถาม เขียน” อันเป็นคติหัวใจแห่งนักปราชญ์ เพื่อยกย่องถึงความมีปัญญาของคนไทยในการดำเนินชีวิตและพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน
เนื้อเรื่อง : Chuleerat Bunnakiatkul
8 ต.ค. 2567
26 ก.ย. 2567
20 ก.ย. 2567
7 ต.ค. 2567