SWATCH (สวอท์ช) เปิดตัวสำนักงานใหญ่อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างแบบไม้ที่ใหญ่ที่สุดของโลก หลังการก่อสร้างอย่างยาวนานและพิถีพิถันกว่า 5 ปี พร้อมเผยโฉมให้เห็นถึงการออกแบบและคัดสรรวัสดุก่อสร้างที่ถูกคิดมาอย่างละเอียดอ่อนและหลักแหลม โดย Shigeru Ban สถาปนิกชาวญี่ปุ่น ผู้ชนะรางวัลพริตซ์เกอร์ (Pritzker Prize) ที่เรียกได้ว่าเปรียบเสมือนรางวัลโนเบลทางด้านสถาปัตยกรรม
อาคารทรงโค้งแปลกตา ความยาว 240 เมตร สะท้อนแสงแดดเป็นประกายเห็นถึงความสง่างามที่ถูกวางพาดกลางเมือง Biel ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดีไซน์สุดแหวกแนวนี้เปลี่ยนสำนักงาน หรือออฟฟิศแบบเดิมๆ ให้กลายเป็นที่ปลุกจินตนาการของพนักงานและผู้คนที่สัญจรไปมา ทั้งยังผสมผสานแรงบันดาลใจในการสร้างเข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเมืองอย่างลงตัวราวกับงานศิลปะ
เปลือกภายนอกอาคาร ครอบคลุมพื้นที่กว่า 11,000 ตารางเมตร รอบอาคาร ทั้งด้านในและด้านนอกถูกออกแบบให้เกิดมิติที่มีความหลากหลายทางสถาปัตยกรรม พิเศษที่การผสมผสานระหว่างดีไซน์และนวัตกรรม ด้วยการวางแพทเทิร์นซ้ำๆ สลับกับวัสดุที่ต่างกันออกไปบนโครงสร้างเปลือกทำจากไม้สนลายกริด (Grid Facade) ไม่ว่าจะเป็นไม้ หรือกระจกที่โค้งไปตามสรีระโครงสร้างของตัวอาคาร ตอกย้ำความละเอียดและประณีตด้วยการใช้ไม้สนเป็นวัสดุสำคัญของโครงสร้าง ที่มีความแข็งแรง ทนทาน ในขณะเดียวกันกลับมีน้ำหนักที่เบาและให้สีอ่อน สบายตา เปลือกลายกริดถูกยึดกันด้วยคานกว่า 4,600 ชิ้น โดยแต่ละช่อง หรือกริด (Grid) ถอดฟอร์มมาจากทรงรังผึ้ง (Honeycomb) ที่ประกอบกันกว่า 2,800 ชิ้น ซึ่งถูกสร้างขึ้นอย่างพิถีพิถันทีละชิ้น มีทั้งแบบทึบ กึ่งโปร่งแสง และโปร่งแสง โดยส่วนที่ทึบจะครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเปลือกอาคารสลับกับแบบกึ่งโปร่งแสง และโปร่งแสง เพื่อตอบโจทย์การใช้งานในที่แต่ละจุดของอาคาร ความล้ำหน้าของนวัตกรรมอยู่ในทุกดีเทลการออกแบบในส่วนของกริดบนเปลือกอาคารที่ถูกเชื่อมเข้ากับไลฟ์สไตล์การทำงานภายในอาคารของพนักงานเพื่อให้เกิดการทำงานอย่างประสิทธิภาพที่สุด อย่างการติด Polycarbonate sheet ที่ช่วยกรองแสง UV และทนต่อสภาพอากาศตั้งแต่หนาวเย็นไปจนถึงร้อนระอุ หรือกริดกระจกที่สามารถเปิดออกสำหรับผู้ที่ต้องการสูบบุหรี่
ภายในอาคาร ถูกออกแบบมาในลักษณะเปิดโล่งสลับกับโซนปิดในบางมุม เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของพนักงาน อย่างโซนที่เรียกว่า “Alcove Cabins” สำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว หรือ “Reading Stairs” พื้นที่ปลุกสร้างไอเดียสร้างสรรค์ (Brainstorming) ฯลฯ ล็อบบี้พื้นที่กว้างขวาง เปิดโล่งรับกับฟาซาดลายไม้พาดไปมาด้านบน เมื่อขึ้นลิฟต์แก้วจะเจอกับทางเดินกระจกลอยฟ้าบนชั้น 3 ที่เชื่อมระหว่างสำนักงานใหญ่ และ Cité du Temps แกลเลอรี่ และสถานที่จัดนิทรรศการที่ออกแบบโดย Shigeru Ban ซึ่งภายในประกอบไปด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ คือ PLANET SWATCH Omega Museum และ Nicolas G. Hayek Conference Hall
เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของสถาปัตยกรรมสุดอลังการนี้ SWATCH ยังคงเล็งเห็นถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม โดยผสานคอนเซ็ปต์การใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Technology) และการนำน้ำบาดาล (Ground Water) มาวนใช้ในระบบไฟฟ้าขั้นพื้นฐานทั้งในส่วนของสำนักงานใหญ่ และ Cité du Temps อย่าง การกระจายชิ้นส่วนแผงโซล่าเซลล์ (Solar Cell) ที่กริดแต่ละบานบนเปลือกอาคาร รวมถึงการเฉพาะเจาะจงเลือกใช้ไม้ในการสร้างจากต้นสน Spruce ในจำนวนที่ใช้เวลาเพียงสองชั่วโมงในการปลูกทดแทนเท่านั้น
ความยิ่งใหญ่ของเปลือกอาคารที่ทำจากไม้บวกกับเทคโนโลยีในการทำงานที่ต้องดีเยี่ยมและเอื้อเฟื้อต่อการทำงานได้จริง เกิดเป็นความท้าทายระหว่างสถาปัตยกรรมและระบบวิศวกรรมที่จำเป็นต้องผสมผสานกันอย่างลงตัวโดยมีสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเชื่อมความสมดุลระหว่างสองแขนง เรียกได้ว่าสำนักงานใหญ่แห่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงอาคารทำงาน แต่เป็นสถาปัตยกรรมที่สะท้อนบ่งบอกตัวตนของ SWATCH ได้เป็นอย่างดี