MB&F Legacy Machine Perpetual

Last updated: 22 มี.ค. 2566  |  352 จำนวนผู้เข้าชม  | 

MB&F Legacy Machine Perpetual

นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 2015 LM Perpetual (แอลเอ็ม เพอร์เพทชวล) ได้ผ่านการรังสรรค์มาแล้วทั้งในเวอร์ชัน เรดโกลด์ แพลทินัม ไวท์โกลด์ ไทเทเนียม เยลโลโกลด์ และแพลลาเดียม และในปี ค.ศ. 2023 นี้ เวอร์ชันใหม่จะได้เข้าร่วมในครอบครัวเรือนเวลานี้ ภายใต้รุ่น LM Perpetual Stainless Steel (แอลเอ็ม เพอร์เพทชวล สเตนเลส สตีล) พร้อมทั้งแผ่นหน้าปัดสีแซลมอนอันรุ่มรวย โดยการผสมผสานของสตีลและแซลมอนนี้ยังนับเป็นครั้งแรกสำหรับ MB&F (เอ็มบีแอนด์เอฟ) ซึ่งทายาทรุ่นใหม่นี้ได้สืบทอดไว้ด้วยความโดดเด่นของปุ่มกดปรับตั้งที่ออกแบบให้รับกับสรีระข้อมือ ซึ่งพบเห็นครั้งแรกมาแล้วในผลงานรุ่นต่างๆ ของ LM Perpetual EVO (แอลเอ็ม เพอร์เพทชวล อีโว)

เริ่มต้นด้วยการทำงานบนแผ่นกระดาษเปล่า ที่ MB&F และช่างนาฬิกาอิสระชาวไอริช Stephen McDonnell (สตีเฟน แมคดอนเนลล์) ได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ทั้งหมดให้กับความสลับซับซ้อนสูงสุดของเครื่องบอกเวลาตามประเพณี อย่าง ปฏิทินร้อยปี หรือ perpetual calendar (เพอร์เพทชวล คาเลนดาร์) ด้วยผลลัพธ์นั่นคือผลงานรุ่น Legacy Machine Perpetual (เลกาซี แมชชีน เพอร์เพทชวล) ที่มาพร้อมภาพการมองเห็นอันน่าทึ่งของกลไกซึ่งผลิตขึ้นภายในโรงงานของตนเอง โดยพัฒนามาจากพื้นฐานหลักของการขจัดข้อเสียในปฏิทินร้อยปีตามประเพณีแบบดั้งเดิม

ในความเป็นจริงแล้ว ความสลับซับซ้อนใหม่นี้ยังมอบซึ่งสัมผัสอันเปี่ยมด้วยความรู้สึก และสามารถชื่นชมได้อย่างสมบูรณ์ผ่านด้านของหน้าปัด ซึ่งนับเป็นหนึ่งในประโยชน์อีกมากมายที่นำเสนอโดยกลไกชุดใหม่นี้ที่ควบคุมผ่านโดยโปรเซสเซอร์จักรกล (mechanical processor) อันอัจฉริยะ

LM Perpetual ขับเคลื่อนโดยกลไกคาลิเบอร์แบบผสานอย่างสมบูรณ์ที่ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วน 581 ชิ้น โดยไร้ซึ่งโมดูล ไม่มีฐานกลไก แต่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยระบบปฏิวัติใหม่สำหรับคำนวณจำนวนวันของแต่ละเดือนได้อย่างแม่นยำ และเป็นการแปลความหมายใหม่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ให้กับความสวยงามของปฏิทินร้อยปี โดยจัดวางความสลับซับซ้อนอันสมบูรณ์ทั้งหมดนี้ไว้บนการแสดงซึ่งไร้หน้าปัดที่อยู่ด้านใต้บาลานซ์แบบแขวน (suspended balance) อันแสนน่าทึ่ง

ปฏิทินร้อยปีถือเป็นหนึ่งในความสลับซับซ้อนแห่งประเพณีการประดิษฐ์นาฬิกาอันยิ่งใหญ่ จากการคำนวณอันซับซ้อนอย่างชัดเจนของจำนวนวันที่แตกต่างกันในแต่ละเดือนได้อย่างแม่นยำ ซึ่งรวมไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่มี 29 วัน ในระหว่างปีอธิกสุรทิน แต่ปฏิทินร้อยปีตามประเพณีนั้นยังคงมีข้อเสียบางประการ เช่น วันที่ที่เป็นการกระโดดข้าม และก่อให้เกิดความเสียหายได้โดยง่าย หากการปรับตั้งเกิดขึ้นในระหว่างที่วันที่กำลังเปลี่ยน เช่นเดียวกับโดยปกติแล้ว ความสลับซับซ้อนนี้ยังประกอบด้วยโมดูลต่างๆ ที่ขับเคลื่อนโดยกลไกฐานเป็นหลักจากการผสานอย่างสมบูรณ์ และกลไกที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เฉพาะของ เลกาซี แมชชีน เพอร์เพทชวล จึงได้ถูกออกแบบนับจากภาพร่างเพื่อการใช้งานอย่างไร้อุปสรรค โดยไม่มีระบบวันที่กระโดดอีกต่อไป หรือเกิดปัญหาการติดขัดของเกียร์เฟืองต่างๆ เช่นกันกับปุ่มกดตัวปรับตั้งที่สามารถปล่อยออกจากการทำงานได้โดยอัตโนมัติเมื่อปฏิทินเปลี่ยน ฉะนั้น จึงไร้ซึ่งปัญหาใดๆ เกิดขึ้นในระบบนี้เช่นกัน!

โดยระบบจักรกลปฏิทินร้อยปีตามประเพณีนั้นใช้เดือนที่มี 31 วัน เป็นเดือนฐาน และโดยพื้นฐานแล้วจะ “ลบ” วันที่ที่เกินมาสำหรับเดือนต่างๆ ที่มีจำนวนวันน้อยกว่า จากการเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วผ่านวันที่ที่ละไว้ในระหว่างการเปลี่ยนวันที่ การเปลี่ยนของปฏิทินถาวรตามประเพณีทั่วไปจากวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ไปยังวันที่ 1 มีนาคมนี้จึงเป็นการเลื่อนอย่างรวดเร็วผ่านวันที่ 29, 30 และ 31 จนไปถึงวันที่ 1

แต่สำหรับ LM Perpetual ได้เปลี่ยนระบบปฏิทินถาวรตามประเพณีมาไว้บนส่วนยอด โดยการใช้ “โปรเซสเซอร์จักรกล” แทนระบบสถาปัตยกรรมของเฟืองเลเวอร์ขนาดใหญ่ (grand levier หรือ big lever) ตามแบบดั้งเดิมซึ่งใช้พื้นที่มากกว่า โปรเซสเซอร์จักรกลนี้จะใช้เดือนที่มี 28 วันเป็นฐาน และเพิ่มวันเพิ่มเติมต่างๆ ตามต้องการ ซึ่งนั่นหมายความว่าในแต่ละเดือนจะมีจำนวนวันที่ต้องการอย่างชัดเจน จึงไม่มีการก้าวข้ามไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วหรือกระโดดจากวันที่ถูกละไว้ และในระหว่างปีอธิกสุรทินก็สามารถถูกตั้งไว้ตามปฏิทินถาวรทั่วไปโดยการเลื่อนผ่านได้สูงสุด 47 เดือน นอกจากนี้ LM Perpetual ยังมีปุ่มกดสำหรับปรับตั้งอย่างรวดเร็วที่ออกแบบขึ้นเฉพาะเพื่อการปรับตั้งปี

ด้วยหน้าปัดแบบเปิดซึ่งเผยให้เห็นความสลับซับซ้อนทั้งหมดอย่างสมบูรณ์ รวมถึงบาลานซ์แบบแขวน ความสวยงามทางจักรกลอันกลมกลืนของ LM Perpetual ยังนับเป็นการขโมยความโดดเด่นที่สะกดทุกสายตาได้อย่างแท้จริง และด้วยความพิเศษทางเทคนิคที่น่าสนใจ นั่นคือ บาลานซ์แขวนสูงอันสง่างามสะกดสายตา ทั้งยังเชื่อมต่อเข้ากับเอสเคปเมนท์ (escapement) บนด้านหลังของกลไกได้ด้วยสิ่งที่อาจเรียกว่าเป็น ก้านบาลานซ์ (balance staff) ที่ยาวที่สุดในโลก

การใช้ระบบนวัตกรรมซึ่งพัฒนาขึ้นเฉพาะสำหรับ Legacy Machine Perpetual นี้ ทำให้หน้าปัดย่อยต่างๆ ปรากฏเสมือน“ลอย” อยู่เหนือกลไกด้วยการเชื่อมต่อที่มองไม่เห็น โดยหน้าปัดย่อยแบบสเกเลตัน (skeletonised) เหล่านี้ได้จัดวางบนปุ่มสตั๊ดซึ่งซ่อนอยู่ และไม่อาจเกิดขึ้นได้ในทางเทคนิคสำหรับจักรกลปฏิทินถาวรตามแบบประเพณีทั่วไป ด้วยเพราะจะไปกั้นการเคลื่อนไหวของเลเวอร์ขนาดใหญ่ (grand levier) นั่นเอง

และหากพิจารณาวนตามเข็มนาฬิกาไปบนหน้าปัดแล้ว จะพบความสมดุลกลมกลืนของการจัดวาง นับตั้งแต่ ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ที่เราจะได้เห็นการแสดงชั่วโมงและนาทีซึ่งจัดวางไว้ระหว่างส่วนโค้งอันสง่างามของบาลานซ์ ขณะที่จัดวางอย่างสมดุลด้วยการแสดงวันของสัปดาห์ ณ ตำแหน่ง 3 นาฬิกา ตามมาด้วยการแสดงพลังงานสำรองที่ตำแหน่ง 4 นาฬิกา การแสดงเดือน ณ ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ตัวแสดงปีอธิกสุรทินแบบเรโทรเกรดที่ตำแหน่ง 7 นาฬิกา และการแสดงวันที่ ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกา

ผลงาน เลกาซี แมชชีน เพอร์เพทชวล ได้ครอบครองรางวัลนาฬิกาปฏิทินยอดเยี่ยม (Best Calendar Watch Prize) มาแล้วในงาน GPHG - Grand Prix d’Horlogerie de Genève ในปี ค.ศ. 2016

แรงบันดาลใจและการทำให้เป็นจริง
คอลเลกชัน Legacy Machine ได้ถูกคิดค้นขึ้น เมื่อเจ้าของแบรนด์ MB&F และผู้อำนวยการสร้างสรรค์ อย่าง Maximilian Büsser (แม็กซิมิเลียน บูซเซอร์) ได้เริ่มต้นจากความคิดจินตนาการว่า “จะเกิดอะไรขึ้น หากผมเกิดในปี ค.ศ. 1867 แทนที่จะเป็นปี ค.ศ. 1967 ในต้นยุค 1900s ที่นาฬิกาข้อมือเรือนแรกๆ ได้ปรากฏตัวขึ้น และผมน่าจะอยากที่จะสร้างสรรค์เครื่องจักรกลบอกเวลาแบบสามมิติสำหรับข้อมือขึ้นเช่นกัน แต่ Grendizers (เกรนไดเซอร์), สตาร์ วอร์ส และเครื่องบินรบอื่นๆ ก็อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นรายล้อมจินตนาการของผมในเวลานั้น ทว่า ผมอาจจะมีนาฬิกาพก จากแรงบันดาลใจของหอไอเฟล และ Jules Verne (ฌูลส์ แวร์น) ขึ้นก็ได้ ถ้าเช่นนั้น เครื่องจักรกลยุค 1900s จะมีหน้าตาเช่นไรกัน อาจจะเป็นนาฬิกาเรือนกลมและคงต้องมีรูปลักษณ์แบบสามมิติ” จากจินตนาการนี้ได้มอบผลลัพธ์เป็นการถือกำเนิดของ Legacy Machine No.1 ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 2011 ตามมาด้วย LM2 และ LM101 ในเวลาต่อมา

โครงการ แอลเอ็ม เพอร์เพทชวล ได้เริ่มต้นขึ้นโดยการมาพบกันของ แม็กซิมิเลียน บูซเซอร์ และช่างนาฬิกาชาวไอริชเหนือ สตีเฟน แมคดอนเนลล์ ซึ่ง แมคดอนเนลล์ เองเป็นเพื่อนของแบรนด์ (Friend of the brand) มาเป็นเวลานาน และสวมบทบาทในการพัฒนาเครื่องมือสำหรับสร้างสรรค์เรือนเวลารุ่นแรกๆ ของ เอ็มบีแอนด์เอฟ อย่าง Horological Machine No.1 (ออโรโลจิคัล แมชชีน นัมเบอร์ 1) ให้เกิดขึ้นจริง โดยขณะที่ บูซเซอร์ กำลังคิดถึงการพัฒนาปฏิทินร้อยปีสำหรับนาฬิการุ่นที่สี่ในคอลเลกชัน Legacy Machine แมคดอนเนลล์ตอบว่าเขามีความคิดหนึ่งสำหรับปฏิทินถาวรที่จะช่วยขจัดข้อเสียมากมายที่เกี่ยวข้องกับนาฬิกาปฏิทินตามประเพณีดั้งเดิมออกไปได้ หลังจากนั้นสามปี รวมทั้งหลากหลายค่ำคืนที่ไม่อาจหลับใหล Legacy Machine Perpetual จึงได้ถือกำเนิดขึ้น 

ปฏิทินร้อยปีตามประเพณี
ปฏิทินร้อยปีตามประเพณีนั้น โดยทั่วไปแล้วจะมีโมดูลซึ่งประกอบด้วยความสลับซับซ้อนสำหรับปฏิทินนี้ และติดตั้งไว้ด้านบนของกลไกที่มีอยู่เดิม โดยการแสดงปฏิทินต่างๆ จะสอดคล้องผ่านเลเวอร์ขนาดยาว (ในภาษาฝรั่งเศสคือ grand levier) ที่พาดผ่านด้านบนสุดของโมดูลสลับซับซ้อนและผ่าน ณ จุดศูนย์กลาง ซึ่งเมื่อวันที่เปลี่ยน เลเวอร์ขนาดยาวนี้จะส่งถ่ายข้อมูลไปยังชิ้นส่วนและจักรกลต่างๆ อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยการเคลื่อนไปข้างหลังหรือข้างหน้า

การใช้เลเวอร์ขนาดยาวนี้ยังหมายถึงไม่อาจมีสิ่งใดติดตั้งอยู่ ณ ศูนย์กลางของความสลับซับซ้อนซึ่งจะอาจขัดขวางการทำงานของเลเวอร์นี้ได้ เช่น บาลานซ์แบบแขวน ด้วยก้านที่ติดตั้งลงผ่านศูนย์กลางของกลไกไปยังเอสเคปเมนท์บนด้านหลัง เลเวอร์นี้ยังหมายถึงปฏิทินร้อยปีจำเป็นต้องใช้พื้นที่หน้าปัดทั้งหมด ซึ่งอาจมีส่วนที่ตัดหรือเปิดออก หรือด้วยช่องหน้าต่าง เพราะไม่สามารถรองรับหน้าปัดย่อยอื่นๆ ไว้ได้ด้วยปุ่มสตั๊ด เพราะจะไปกั้นการเคลื่อนไหวของระบบจักรกลเลเวอร์ขนาดใหญ่

ในระบบเลเวอร์ขนาดใหญ่ตามประเพณีแล้ว ส่วนใหญ่จะมีปฏิทินร้อยปีซึ่งประกอบด้วยเดือนต่างๆ ทั้งหมดที่มีจำนวน 31 วัน และ ณ สิ้นเดือนของเดือนที่มีน้อยกว่า 31 วัน จักรกลจะกระโดดข้ามอย่างรวดเร็วผ่านวันที่เกินมา ก่อนที่จะไปถึงยังวันที่ 1 ของเดือนใหม่ การควบคุมหรือการปรับตั้งวันที่ในระหว่างการเปลี่ยนนี้อาจส่งผลเสียหายต่อจักรกล ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซมอันแสนแพงโดยผู้ผลิตนาฬิกา ขณะที่วันที่ต่างๆ ยังสามารถกระโดดหรือก้าวข้ามในระหว่างการเปลี่ยนวันที่ได้ เพื่อมอบวัตถุประสงค์หลักของปฏิทินถาวร นั่นคือการไม่จำเป็นต้องปรับตั้งเป็นเวลาหลายปี หรือหลายทศวรรษ “ผมเรียกว่านาฬิกาปฏิทินร้อยปีบูมเมอแรง เพราะมันจะย้อนกลับมายังโรงงานเพื่อซ่อมแซมบ่อยมาก” แม็กซิมิเลียน บูซเซอร์ กล่าว “ทั้งสาเหตุจากจักรกลติดขัด ถูกกั้น หรือเสียหาย หรือกระโดดไปยังวันอื่นๆ ที่ไม่ควรจะเป็น”

โปรเซสเซอร์จักรกล
Legacy Machine Perpetual ใช้ “โปรเซสเวอร์จักรกล” ที่ประกอบด้วยซีรีส์ของดิสก์วางซ้อนกัน โปรเซสเซอร์ปฏิวัตินี้ใช้จำนวนวันพื้นฐานในเดือนที่มี 28 วัน เพราะตามหลักการแล้ว เดือนทั้งหมดจะมีอย่างน้อย 28 วัน จากนั้นจึงค่อยเพิ่มวันเพิ่มเติมตามต้องการในแต่ละเดือนเฉพาะ ซึ่งทำให้มั่นใจว่าในแต่ละเดือนนั้นจะมีจำนวนวันที่ถูกต้องชัดเจน และไม่มี “การกระโดดข้าม” วันที่เกินมา จึงไม่ทำให้เกิดการกระโดดของวันที่ที่ไม่ถูกต้องขึ้น

ขณะที่การใช้อุปกรณ์ อย่าง แพลเนตแทรีแคม (planetary cam) ยังทำให้โปรเซสเซอร์จักรกลนี้สามารถทำการปรับตั้งปีได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถแสดงวงจรของอธิกสุรทินสี่ปีได้อย่างถูกต้อง ขณะที่จักรกลปฏิทินถาวรตามประเพณีนั้นจำเป็นต้องให้ผู้ใช้งานเลื่อนผ่านไปสูงสุดถึง 47 เดือน เพื่อไปถึงยังเดือนและปีที่ถูกต้อง

โปรเซสเซอร์จักรกลนี้ยังสามารถมอบคุณสมบัติด้านความปลอดภัยในตัว ที่จะปล่อยการเชื่อมต่อออกจากปุ่มกดปรับตั้งได้อย่างรวดเร็วในระหว่างที่มีการเปลี่ยนวันที่ เพื่อขจัดความเสี่ยงที่มีต่อความเสียหายของจักรกล ขณะที่วันที่นั้นกำลังเปลี่ยน

ขณะเดียวกัน แนวคิดและการพัฒนาความสลับซับซ้อนของปฏิทินถาวรซึ่งควบคุมโดยโปรเซสเซอร์จักรกลนี้ยังนับเป็นความสำเร็จอันทรงคุณค่า เมื่อ สตีเฟน แมคดอนเนลล์ ได้พัฒนาต่อยอดเพิ่มเติม โดยการบริหารการจัดวางชิ้นส่วนทั้ง 581 ชิ้นทั้งหมดของกลไกไว้ภายในตัวเรือนขนาดเดียวกันกับ LM1 ได้อย่างสมบูรณ์แบบ   

เปิดประตูสู่โลกใหม่แห่งสุนทรียะความสวยงามของปฏิทินร้อยปี
การพัฒนาที่หลีกหนีจากการใช้เลเวอร์ขนาดใหญ่ของปฏิทินนั้น ยังช่วยรังสรรค์ซึ่งสุนทรียะความสวยงามใหม่อย่างสมบูรณ์ที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากใช้ระบบตามแบบประเพณีดั้งเดิม โดยโปรเซสเซอร์จักรกลของ เอ็มบีแอนด์เอฟ นี้ช่วยให้พื้นที่ ณ ศูนย์กลางของความสลับซับซ้อนถูกนำมาใช้ได้ ดังนั้น จึงช่วยประหยัดพื้นที่และปล่อยให้สามารถออกแบบได้อย่างอิสระ เมื่อไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เต็มของหน้าปัดอีกต่อไป

Legacy Machine Perpetual ยังนำข้อได้เปรียบอีกมากมายของกลไกแบบผสานอย่างสมบูรณ์มาประยุกต์ใช้ เพื่อจัดวางจักรกลปฏิทินถาวรไว้ด้านบนสุดของแท่นเครื่องกลไก และเพื่อให้สามารถชื่นชมกลไกและจักรกลเหล่านี้ได้จากด้านบนของนาฬิกา ขณะที่ความสามารถในการมองเห็นได้อย่างชัดเจนยังคงเป็นหัวใจสำคัญสำหรับเรือนเวลาปฏิทินถาวร เนื่องจากจำนวนของการแสดงข้อมูลต่างๆ ที่มากขึ้น และใน LM Perpetual นี้ได้เลือกใช้หน้าปัดย่อยแบบสเกเลตัน (ยกเว้นเพียงหน้าปัดสำหรับการแสดงเวลา) ที่ปรากฏเสมือนลอยอยู่เหนือความสลับซับซ้อนที่ไร้การรองรับจากด้านล่าง

บาลานซ์ด้านบน เอสเคปเมนท์ด้านล่าง
อีกหนึ่งนวัตกรรม คือ Legacy Machine Perpetual ได้ใช้สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเดือยเฟืองบาลานซ์วีลที่ยาวที่สุดในโลก เพื่อเชื่อมต่อบาลานซ์แบบแขวนอันสง่างามที่ลอยอยู่เหนือด้านบนสุดของกลไกเข้ากับเอสเคปเมนท์บนด้านหลังของกลไก ทำให้มั่นใจได้ถึงประสิทธิภาพการใช้งานและความไว้วางใจเชื่อถือได้ซึ่งนับเป็นหัวใจหลัก ก่อนที่งานการพัฒนาอื่นๆ จะเริ่มต้นตามมา ขณะที่การมองเห็นผ่านฝาหลังแบบเปลือยโปร่งนั้นยังถ่ายทอดภาพการเคลื่อนไหวโดยเอสเคปเมนท์ ซึ่งผ่านการตกแต่งด้วยมืออย่างประณีตพิเศษ ทั้งบนสะพานจักรและแท่นเครื่องอันงดงามสะกดสายตาอย่างแท้จริง 

‘เพื่อน’ ผู้รับผิดชอบการสร้างสรรค์ LM Perpetual

แนวคิด: Maximilian Büsser / MB&F
ออกแบบผลิตภัณฑ์: Eric Giroud / Through the Looking Glass
บริหารจัดการด้านเทคนิคและการผลิต: Serge Kriknoff / MB&F
ออกแบบกลไกและการตกแต่งคุณสมบัติเฉพาะต่างๆ: Stephen McDonnell and MB&F
พัฒนากลไก: Stephen McDonnell and MB&F
วิจัยและพัฒนา: Julien Peter, Pierre-Alexandre Gamet and Robin Cotrel / MB&F กรรมวิธีและการทดลองในห้องปฏิบัติการ: Maël Mendel and Anthony Mugnier / MB&F
เฟือง, เฟืองเดือย, กลไก, ชิ้นส่วนแกน: Paul-André Tendon / Bandi, Daniel Gumy / Decobar, Le Temps Retrouvé and Swiss Manufacturing
สะพานจักรบาลานซ์วีลและแท่นเครื่อง: Benjamin Signoud / AMECAP
บาลานซ์วีล: Precision Engineering
บาลานซ์สปริง: Stefan Schwab / Schwab-Feller
สะพานจักร: Rodrigue Baume / HorloFab
ชิ้นส่วนของปฏิทินร้อยปี: Alain Pellet / Elefil Swiss
งานแกะสลักด้วยมือของกลไก: Glypto
งานตกแต่งด้วยมือของชิ้นส่วนกลไก: Jacques-Adrien Rochat and Denis Garcia / C-L Rochat, DSMI
การเคลือบ พีวีดี (PVD): Pierre-Albert Steinmann / Positive Coating
การประกอบกลไก: Didier Dumas, Georges Veisy, Anne Guiter, Emmanuel Maitre, Henri Porteboeuf, Mathieu Lecoultre and Amandine Bascoul / MB&F
การบริการหลังการขาย: Thomas Imberti / MB&F
การผลิตขึ้นรูปภายในโรงงาน: Alain Lemarchand, Jean-Baptiste Prétot, Romain Camplo and Stéphanie Carvalho Correia / MB&F
การควบคุมคุณภาพ:  Cyril Fallet and Jennifer Longuepez / MB&F
ตัวเรือน: Alain Lemarchand, Jean-Baptiste Prétot and Romain Camplo / MB&F
ทอง ingots CoC (Chain of Custody): Jean-Philippe Chételat / Cendres et Métaux
การตกแต่งตัวเรือน: Bripoli, FIFAJ Horlogerie,Termin’hor
หน้าปัด: Hassan Chaïba and Virginie Duval / La Montre Hermès SA
หัวเข็มขัดสาย: G&F Chatelain
เม็ดมะยมและตัวปรับตั้ง: Cheval Frères
เข็มชี้: Waeber HMS
กระจกแซฟไฟร์: Econorm
สาย: Multicuirs

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้