CHANEL Haute Joaillerie - 18 Place Vendome

Last updated: 26 พ.ค. 2566  |  547 จำนวนผู้เข้าชม  | 

CHANEL Haute Joaillerie - 18 Place Vendome

เมื่อเก้าสิบปีที่แล้ว กาเบรียล ชาเนล (Gabrielle Chanel) ได้รังสรรค์ "Bijoux de Diamants" ไฮจิวเวลรี่คอลเลคชั่นแรกของโลกขึ้นมา และในคอลเลคชั่นอันเลอค่านี้ เธอได้ใช้หลักการพื้นฐานเดียวกันในการรังสรรค์เครื่องประดับอัญมณีทั้งหมดของเธอ นั่นคือการมอบอิสระในการเคลื่อนไหวให้กับผู้หญิงพร้อมกับมอบความสวยงามไปพร้อมๆ กัน และครั้งนี้ สตูดิโอสร้างสรรค์ไฟน์จิวเวลรี่ของ Chanel ได้นำแรงบันดาลใจจากสปิริตอันทันสมัยของ "Bijoux de Diamants" มาสร้างสรรค์เป็นเรื่องราวใหม่ใน 5 ธีม และนำมาจัดแสดงในงานนิทรรศการพิเศษภายใต้ธีม 18 Place Vendome ณ โรงแรม ปาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ

“ผมอยากหวนคืนสู่แก่นแท้ของปี 1932 และผสมผสานข้อความสำคัญเข้ากับสัญลักษณ์สามประการ คือ ดาวหาง ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ ทุกองค์ประกอบแห่งสวรรค์ย่อมส่องสว่างด้วยแสงแห่งตนเสมอ” ปาทริซ เลอเกโร (Patrice Leguéreau) ผู้อำนวยการสตูดิโอสร้างสรรค์ไฟน์จิวเวลรี่ของ Chanel

 ค.ศ. 1932 เป็นปีที่สามหลังจากชีวิตของผู้คนต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากเหตุการณ์ Black Thursday ในปี 1929 (เหตุการณ์ที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กทรุดดิ่งลงอย่างรุนแรง) ได้ฉุดให้โลกเข้าสู่ยุคภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่และการเติบโตแบบก้าวกระโดดของทศวรรษ 1920 ก็ได้จางหายไป เหลือไว้เพียงความหลังอันเลือนราง นี่เป็นช่วงเวลาที่แสนอึมครึม เมื่อทุกอย่างถูกบดบังด้วยเมฆหมอกของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและภาวะเงินเฟ้อ ประกอบกับปริมาณความต้องการของผู้บริโภคที่ดิ่งลงและอัตราการว่างงานที่พุ่งสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ ปี 1932 จึงเป็นช่วงเวลาในอุดมคติสำหรับการบุกเบิกสิ่งใหม่ๆ และการสร้างพื้นที่สำหรับความหวังและการเริ่มต้นใหม่

ในเดือนพฤศจิกายนของปีเดียวกันนั้น London Diamond Corporation ได้เผยแนวคิดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการฟื้นฟูตลาดค้าเพชรให้กลับมารุ่งเรืองดังเดิม และได้ติดต่อผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นดีไซเนอร์ที่มีวิสัยทัศน์ในการนำหลักการออกแบบที่ทันสมัยมาปรับใช้กับการออกแบบเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ผู้หญิงที่ฉลาดหลักแหลมและเพิ่งได้รับการยกย่องจากสื่อต่างประเทศว่าเป็นผู้ที่ออกแบบคอสตูมจิวเวลรี่ได้สวยงามยิ่งกว่าเครื่องประดับจริง ผู้หญิงที่ทรงอำนาจและเป็นผู้นำแห่งอาณาจักรอันหลากหลายที่เติบโตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ผู้หญิงที่เป็นเพื่อนกับงานศิลปะและศิลปิน เป็นหัวใจสำคัญแห่งยุคสมัยของเธอ ผู้หญิงที่ขีดเขียนชะตาชีวิต เรือนร่าง และวิถีชีวิตของผู้หญิงทั่วทั้งสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกขึ้นมาใหม่ และเป็นผู้หญิงที่พวกเขาเลือกเพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้กับเพชร นั่นก็คือ กาเบรียล ชาเนล

ท่ามกลางความมืดมิดของยุคสมัย มาดมัวแซลกลับมองเห็นแสงรำไรของความฝันและความมีชีวิตชีวาของความงาม เธอได้สร้างสรรค์ "Bijoux de Diamants" ซึ่งเป็นไฮจิวเวลรี่คอลเลคชั่นแรกในประวัติศาสตร์ขึ้นมา โดยคอลเลคชั่นนี้เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดให้แก่ Diamond Corporation ภายในไม่กี่วัน ทั้งยังพลิกโฉมอุตสาหกรรมทั้งหมดและฟื้นฟูยุคของเธอให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง


“ดวงดาวของฉัน! จะมีอะไรที่งดงามและทันสมัยตลอดกาลมากไปกว่านี้อีกหรือ”
กาเบรียล ชาเนล


เล่าขานกันว่า มาดมัวแซลได้รับการหล่อหลอมให้เป็นคนที่ละเอียดแม่นยำและยึดมั่นในความบริสุทธิ์ตั้งแต่ตอนที่เธอใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าโอบาซีน และเมื่อใดก็ตามที่เธอมองหาแรงบันดาลใจ อารามของคณะนักบวชซิสเตอร์เชียนที่อาบไล้ด้วยแสงสว่างภายใต้ท้องฟ้าของเมืองกอแรซ (Corrèze) จะเป็นสถานที่แรกที่เธอนึกถึง ดั่งแหล่งพลังงานที่ไม่เคยหมดสิ้นและดำรงอยู่กับเธอไปชั่วนิรันดร์ เช่น แผนที่สวรรค์ที่มีดาวหาง ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ที่ถูกจารึกไว้ในตราสัญลักษณ์บนทางเท้าหินที่มีผู้คนเดินผ่านไปมาตลอดหลายศตวรรษ หากคุณต้องการอยู่ท่ามกลางหมู่ดาว วิธีที่ดีที่สุดอาจเป็นการยืนอยู่บนพื้นก็เป็นได้ กาเบรียล ชาเนลเชื่อมั่นในพลังกึ่งเวทย์มนตร์ของสัญลักษณ์ต่างๆ มาโดยตลอด เธอจึงเชื่อในสัญชาตญาณบางอย่างเมื่อได้พบกับบอย คาเปล (Boy Capel) ซึ่งนำไปสู่ความรักของคนสองคนที่ต้องการเปลี่ยนชีวิตไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่

คืนหนึ่งในฤดูร้อนในกรุงปารีส อากาศยังคงร้อนอบอ้าวและท้องฟ้าสีเทาอันกว้างใหญ่ก็เต็มไปด้วยฝนดาวตก ผืนผ้าใบสีดำสนิทที่ส่องสว่างด้วยรัศมีของพระจันทร์เสี้ยว ดวงดาวอันงดงามที่เปล่งประกายดุจเพชรที่ลอยคว้างอยู่เหล่านี้กำลังจะสร้างเหตุการณ์ที่เป็นแรงบันดาลใจ อันนำมาสู่รากฐานในการรังสรรค์เครื่องประดับชั้นสูงของชาเนลทั้งหมด ระหว่างที่เธอแหงนมองดวงดาวที่สุกสกาวบนแผ่นฟ้าอันยิ่งใหญ่นั้น มาดมัวแซลก็ตัดสินใจว่าเธอจะเสกสรรค์ฝนดาวตก พระจันทร์เสี้ยวที่ส่องสว่าง และดวงอาทิตย์ที่กำลังลุกโชน ให้โปรยปรายบนผิวกายและผมของผู้หญิง การรังสรรค์ "Bijoux de Diamants" จึงเป็นบทสรุปของความรักที่เธอมีต่อความงดงามและชีวิตที่เปล่งประกายโชติช่วงจนไม่อาจต้านทานได้

"Bijoux de Diamants" เป็นการแสดงออกถึงสไตล์ของเธอในแบบเฉพาะตัวที่สุด ทั้งยังเป็นโอกาสในการสำรวจไอเดียใหม่ๆและเป็นการนำหลักการของโอต์กูตูร์ มาประยุกต์ใช้กับเครื่องประดับชั้นสูง ในปี 1932 มาดมัวแซลสร้างสรรค์ไฮจิวเวลรี่ คอลเลคชั่นแรกในประวัติศาสตร์ โดยอาศัยความเป็นหนึ่งเดียวของแนวคิด เวลา และสถานที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีช่างจิวเวลรี่คนไหนในยุคของเธอเคยทำมาก่อน งานจิวเวลรี่ของเธอคือสิ่งที่มาเติมเต็มดีไซน์เสื้อผ้าโอต์กูตูร์ ที่เธอออกแบบ และเช่นเดียวกับทุกครั้ง เธอจะเน้นไปที่เส้นสายเพื่อสร้างสรรค์ลุคในแบบที่ต้องการ ความสมบูรณ์แบบของเพชรถูกขับเน้นด้วยความเรียบง่ายที่สุด ไม่มีการตกแต่งใดๆ มองไม่เห็นเทคนิคการฝัง และเจียระไนแบบคลาสสิก รูปทรงอันสมดุลของเพชรช่วยสร้างมิติแห่งความบริสุทธิ์ขั้นสูง ความล้ำค่าอันเป็นนิรันดร์ที่ไม่หวั่นไหวต่อกาลเวลา หรือกระทั่งสิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือกระแสความนิยมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ

"Bijoux de Diamants" คือคอลเลคชั่นที่งดงามตระการตาและหรูหราเกินกว่าที่จะบรรยายด้วยชื่อได้หมด เพชรสีขาวและสีเหลืองราว 50 เม็ดที่ประดับอยู่บนตัวเรือนแพลทินัมและเยลโลว์โกลด์ ซึ่งออกแบบมาให้สวมใส่ตอนกลางวันได้อย่างเหมาะสม สวยงามเปล่งประกายด้วยแสงอันบริสุทธิ์ เครื่องประดับจำนวน 22 ชิ้นจากทั้งหมดที่ถูกค้นพบ สามารถนำมาเรียงต่อกันเป็นแผนที่ท้องฟ้าที่ปกคลุมไปด้วยดาวหาง ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ มาดมัวแซลยังจินตนาการถึงภาพลวงตาทั้ง 17 แบบที่ทำให้จิวเวลรี่ดูสวยงามยืดหยุ่น ดั่งริบบิ้นที่ผูกโบว์ พู่ที่เต้นระบำอย่างพลิ้วไหว และขนนกที่เบาหวิวดุจอากาศ ขณะที่ผลงานอีก 8 ชิ้นมาในลวดลายกราฟิกแบบเรียบง่ายในรูปทรงเกลียว วงกลม สี่เหลี่ยม และไม้กางเขน ทั้งหมดนี้คือเส้นสายที่เปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจและค่อยๆ เผยความลับออกมาอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายร้อยปี นอกจากนี้ ยังมีคำบอกเล่าถึงเข็มกลัดอันเป็นเอกลักษณ์ในรูปทรงของตัวเลข 3, 5 และ 7 แต่ยังไม่เคยมีใครได้พบผลงานดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การค้นพบในรูปแบบใหม่ได้เกิดขึ้นในปี 2012 เมื่อภาพยนตร์สารคดีที่ถ่ายทำโดย Pathé Gaumont ถูกนำมาออกอากาศอีกครั้งควบคู่ไปกับภาพยนตร์ข่าวที่ฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศฝรั่งเศสในเวลานั้น ภาพยนตร์เหล่านี้ถ่ายทำในทาวน์เฮาส์ส่วนตัว ณ เลขที่ 29 ถนนโฟบูร์ก แซ็งตอนอเรของกาเบรียล ชาเนลและเผยให้เห็นจิวเวลรี่บางส่วนจากนิทรรศการของเธอ

มาดมัวแซลนำหลักการสมัยใหม่แบบเดียวกับที่ใช้ในการออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงมาปรับใช้กับการออกแบบจิวเวลรี่ โดยนำเสนอแนวคิดใหม่เกี่ยวกับเครื่องประดับ และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องประดับกับร่างกายในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกจากจะเป็นคอลเลคชั่นเครื่องประดับชั้นสูงคอลเลคชั่นแรกในประวัติศาสตร์แล้ว ที่สำคัญ "Bijoux de Diamants" ยังเป็นคอลเลคชั่นที่ออกแบบโดยคำนึงถึงผู้หญิงเป็นหลัก ผู้หญิงที่มีความมั่นใจในชีวิตและยึดมั่นในจุดยืนของตัวเองบนโลกใบนี้ ผู้ที่แสดงออกถึงความเป็นผู้หญิงอย่างสม่ำเสมอ และเป็นผู้ที่กาเบรียล ชาเนลได้ออกแบบเครื่องประดับแบบไม่มีตะขอให้เพื่อการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ

“อัญมณี 93 ล้านเม็ด” “8 พันล้านเหลี่ยม” ไม่มีสิ่งใดจุดประกายข่าวลือได้ดีไปกว่าความแปลกใหม่ที่แท้จริงอีกแล้ว ท่ามกลางสื่อที่แข่งขันกันทุกวันในเรื่องของการยกสถิติตัวเลขอันฟู่ฟ่าขึ้นมาตีแผ่ ยิ่งทำให้ออร่าแห่งความลึกลับที่ปกคลุมคอลเลคชั่นนี้ทวีคูณขึ้นอีก และด้วยเหตุนี้ความคับแค้นใจจึงก่อตัวขึ้น

มาดมัวแซลเลือกเสรีภาพในการรังสรรค์ "Bijoux de Diamants" เสรีภาพของผู้หญิงที่จะดำเนินชีวิตในแบบที่พวกเธอต้องการ อิสระที่จะเคลื่อนไหวโดยไม่มีอุปสรรค และเลือกสวมใส่เครื่องประดับที่ปลุกไฟแห่งความเป็นตัวเองให้ลุกโชน แทนที่จะเป็นเพียงหุ่นโชว์เครื่องเพชรที่งดงาม แต่ไร้ชีวิตชีวา ผู้หญิงควรมีอิสระที่จะเลือกสวมเครื่องประดับขนนกกับจันทร์เสี้ยวบนชุดของเธอหรือประดับบนเรือนผม หรือสวมใส่พู่พร้อมกับโบว์ พวกเธอสามารถผสมผสานกลางวันเข้ากับกลางคืน โดยการรวมดวงอาทิตย์กับดาวหางและดวงจันทร์เข้าด้วยกัน เปลี่ยนสร้อยคอเป็นกำไลข้อมือสามเส้น หรือถอดแยกบางชิ้นมาทำเป็นเข็มกลัด ความเป็นไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลก ความคิดสร้างสรรค์ในการแต่งกายของพวกผู้หญิงสมควรที่จะได้รับการชื่นชมผ่านสื่อ เครื่องประดับแต่ละชิ้นสามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างได้หลากหลายแบบ หรือเปลี่ยนตำแหน่งได้อย่างอิสระบนร่างกายเพื่อเติมเต็มลุคต่างๆ ให้สมบูรณ์แบบ จึงกล่าวได้ว่าเครื่องประดับต่างๆ ในคอลเลคชั่น "Bijoux de Diamants" นี้ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทำให้จิวเวลรี่แบบเดิมดูล้าสมัย แต่กลับทำให้มีความธรรมดาสามัญมากขึ้น

หลังจากการประกาศของ London Diamond Corporation ความระส่ำระสายที่เกิดขึ้นใน Place Vendome (ปลาส ว็องโดม) ได้เปลี่ยนให้ "Bijoux de Diamants" กลายเป็น "ปรากฏการณ์ช Chanel" ผู้ประกอบวิชาชีพทั้งหลายผนึกกำลังกันเพื่อเรียกร้องไม่ให้ กาเบรียล ชาเนล ทำเครื่องประดับ พวกเขาเรียกร้องให้มีการทำลายเครื่องประดับเหล่านั้นและส่งอัญมณีกลับคืนมา แต่เนื่องจากบางชิ้นได้ถูกขายออกไปแล้วตั้งแต่วันแรกของนิทรรศการ เครื่องประดับเพียงไม่กี่ชิ้นเหล่านั้นจึงยังคงอยู่จวบจนทุกวันนี้เพื่อเป็นสักขีพยานของคอลเลคชั่น กล่องสีน้ำเงินมิดไนท์บลูที่บุด้วยผ้าไหมสีทูโทนและภายในบรรจุชิ้นส่วนของดวงดาวในรูปแบบเข็มกลัดดาวหางตัวเรือนแพลทินัมและเพชร 7.8 กะรัต หรือขนนกที่ยาวและยืดหยุ่นอย่างน่าอัศจรรย์ซึ่งออกแบบมาเพื่อกลัดไว้บนเสื้อ ใช้เป็นเข็มขัดสำหรับเสื้อโค้ท คาดบนหน้าผากเพื่อชูรัศมีอันเปล่งประกาย หรือประดับบนไหล่เพื่ออวดความโค้งมน

การก้าวข้ามขีดจำกัดของเครื่องประดับถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง แต่การแสวงหาสิ่งประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ ที่สามารถสร้างจุดเปลี่ยนให้กับเครื่องประดับทั้งหมดในโลกนั้น ถือเป็นเรื่องที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ในการนำเสนอ "Bijoux de Diamants" มาดมัวแซลวางแผนทุกอย่างไว้อย่างละเอียดรอบคอบ เครื่องประดับชั้นสูงนี้ได้รับการจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 7 ถึง 19 พฤศจิกายนในงานนิทรรศการแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเริ่มต้นด้วยการเข้าชมแบบส่วนตัวเป็นเวลาสองวัน ซึ่งเต็มไปด้วยสื่อต่างประเทศและชนชั้นสูง ขณะที่ช่วงเวลาในการจัดงานนั้นก็ได้รับการคำนวณมาเป็นอย่างดีแล้วว่าเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังมองหาของขวัญที่สมบูรณ์แบบสำหรับเฉลิมฉลองวันสิ้นปี

การ์ดเชิญที่พิมพ์ด้วยแบบอักษร Sans Serif สีขาว-ดำแบบเรียบง่ายคือแบบอย่างของข้อผูกมัดอันงดงาม ค่าเข้าชม 20 ฟรังก์ถูกนำไปบริจาคให้แก่องค์กรการกุศลสองแห่ง ได้แก่ Société de la Charité Materelle de Paris ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1784 ภายใต้การอุปถัมภ์ของมารี อ็องตัวแน็ต (Marie-Antoinette) และ Assistance Privée à la Classe Moyenne (Private Assistance for the Middle Class) ซึ่งในขณะนั้นมีมัวริส ดอนเนย์ (Maurice Donnay) แห่ง Académie Française เป็นประธาน กาเบรียล ชาเนลได้เผยตัวตนอีกด้านให้ผู้คนได้เห็นว่าเธอเองคือหนึ่งในผู้อุปถัมภ์ของวงการศิลปะอย่างแท้จริงและเป็นผู้สนับสนุน Ballets Russes ของเซอร์เก้ ดิอากิเลฟ (Serge Diaghilev) มาตั้งแต่ปี 1920 โดยไม่เคยออกนาม

กาเบรียล ชาเนล ได้รวบรวมบรรดาผู้ที่มีพรสวรรค์มากที่สุดในยุคของเธอมาไว้ในการเปิดตัว "Bijoux de Diamants" เบาเฮาส์แบบส่วนตัวที่ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์สูงส่งยิ่งกว่าวัตถุที่ล้ำค่าที่สุด ทั้งยังนำ supplément d'âme หรือแรงบันดาลใจสุดพิเศษมาสู่คอลเลคชั่นไฮจิวเวลรี่ ซึ่งเป็นแนวคิดเชิงจิตวิญญาณที่บรรดานักปรัชญาชื่นชอบเป็นอย่างยิ่ง

การรังสรรค์สิ่งที่กลายมาเป็นเครื่องประดับแห่งอนาคต เริ่มจากการที่กาเบรียล ชาเนลได้นำดีไซน์ของปอล อิริบ (Paul Iribe) มาตีความใหม่ จินตนาการใหม่ ถอดตะขอออก และทำให้ชิ้นส่วนต่างๆ ปรับเปลี่ยนได้ อิริบซึ่งเป็นทั้งศิลปิน นักวาดภาพประกอบ และบรรพบุรุษของอาร์ตเดโค่ เป็นผู้ที่มีความสามารถหลากหลายและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตชาเนลมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1930 เขาเป็นตัวแทนของเธอในคณะกรรมการน้ำหอมชาเนล จนกระทั่งเสียชีวิตลงใน La Pausa ในปี 1935 เขายังคงเป็นช่างฝีมือชาวฝรั่งเศสที่มีฝีมือโดดเด่นที่สุดและเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในความประณีตงดงามจากจิตวิญญาณของมนุษย์ภายใต้การเผชิญหน้ากับประสิทธิภาพอันเย็นชาของเครื่องจักร

เรื่องราวทั้งหมด ถูกนำมาถ่ายทอดอีกครั้งผ่านการตกแต่งพื้นที่ของนิทรรศการแห่งนี้ในโครงสร้างสีขาวของอาคารเลขที่ 18 ใน Place Vendome ในกรุงปารีส สถานที่ตั้งของบูติกนาฬิกาและเครื่องประดับชั้นสูงของ Chanel ที่ซึ่งเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์สำคัญ โดยเคยเป็นบ้านพัก เป็นคลับสำหรับชมนิทรรศการ ก่อนที่จะมาเป็นบูติกของแบรนด์ในปัจจุบัน

ภายในอาคารจำลองสีขาวสะดุดตาภายในห้องบอลรูมของโรงแรม นำเสนอเครื่องประดับชั้นสูงกว่า 80 ชิ้นที่ได้รับการรังสรรค์ขึ้นมาใหม่ สืบสานเรื่องราวของเครื่องประดับชั้นสูงคอลเลกชั่นแรกจากสตูดิโอสร้างสรรค์ของ Chanel ในปี 1932 โดยมีผลงานใหม่จากคอลเลกชั่น Bijoux de Diamants ในธีมของดาวหาง ริบบิ้น และขนนก รวมถึงเครื่องประดับที่ได้แรงบันดาลใจจากไลฟ์สไตล์ของ กาเบรียล ชาเนล ไม่ว่าจะเป็นราศีสิงห์ ราศีเกิดของเธอ การเดินทางท่องเที่ยว ผลงานแต่ละชิ้นรังสรรค์จากอัญมณีล้ำค่ามากมาย โดยเฉพาะสร้อยคอที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลกเท่านั้น เป็นสร้อยคอประดับเพชรที่ตัดขอบดอกคามีเลียด้วยแลกเกอร์สีดำ มูลค่าราว 129 ล้านบาท สวยสะดุดตาอย่างแท้จริง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้