Last updated: 9 ม.ค. 2568 | 451 จำนวนผู้เข้าชม |
“เครื่องประดับของฉันไม่เคยแยกจากแนวคิดเกี่ยวกับผู้หญิงและเสื้อผ้าผู้หญิง เพราะเมื่อเสื้อผ้าเปลี่ยนไป เครื่องประดับก็พัฒนาตามไปด้วย” Gabrielle Chanel
ค.ศ. 1910 เป็นปีที่ Gabrielle Chanel (กาเบรียล ชาเนล) นำเสนอผลงานชิ้นแรกของเธอต่อสื่อมวลชน นั่นก็คือหมวกที่ประดับด้วยขนนกสีขาวสุดอลังการหนึ่งอัน ในปี 1932 ขนนกนี้ได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งอย่างล้ำค่าและยิ่งใหญ่ในคอลเลคชั่นไฮจิวเวลรี่ชิ้นแรกและชิ้นเดียวของมาดมัวแซลในชื่อว่า “Bijoux de Diamants” ในรูปแบบของเข็มกลัด คู่กับลวดลายดวงดาว ดวงอาทิตย์และโบว์ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ในผลงานสร้างสรรค์ของเมซง
เข็มกลัดยาวประดับเพชรชิ้นนี้ออกแบบให้มีลักษณะเหมือนขนนกจริงที่โค้งมนและสวยงาม ทั้งยังออกแบบมาให้เข้ากับความเป็นผู้หญิงสมัยใหม่และการเคลื่อนไหวที่ไม่หยุดนิ่ง จึงสามารถสวมใส่ได้หลายแบบ ความยืดหยุ่นของเข็มกลัดทำให้สามารถปรับให้เข้ากับไหล่ที่โค้งมนได้เป็นอย่างดี รับกับรูปทรงของคอได้ง่าย สวมรอบนิ้วได้แบบสบายๆ ทั้งยังประดับบนเรือนผมได้อย่างงดงามราวกับมงกุฎอันล้ำค่า
เข็มกลัดนี้เปี่ยมด้วยนวัตกรรมและความทันสมัยที่นำเสนอโดย Gabrielle Chanel ซึ่งมองว่าเครื่องประดับก็เป็นเช่นเดียวกับแฟชั่นเครื่องแต่งกาย นั่นคือเป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความปรารถนาที่คล้ายกัน ในการออกแบบสร้างสรรค์ที่กล้าหาญ เป็นอิสระ ยืดหยุ่น และสง่างาม
Patrice Leguéreau (ปาทริซ เลอเกโร) ผู้อำนวยการสตูดิโอสร้างสรรค์ไฟน์จิวเวลรี่ของ CHANELหลงใหลในสุนทรียศาสตร์อันล้ำสมัยของขนนกจากปี 1932 และได้อุทิศคอลเลคชั่นไฮจิวเวลรี่ชุดแรกของเขาให้กับลวดลายนี้ในปี 2010 โดยสิ่งที่โดดเด่นที่สุดก็คือ ขนนกทรงกลมที่มีหนามพันรอบเพชรตรงกลาง
ในปี 2024 Patrice Leguéreau ได้นำความละเอียดอ่อนของลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์นี้มาสู่คอลเลคชั่น “PLUME DE CHANEL” อีกครั้ง โดยนำเสนอเครื่องประดับ 6 ชุด ซึ่งแต่ละชุดมีสไตล์ที่เป็นธรรมชาติและอิสระในแบบของตัวเอง ซิลูเอตของเครื่องประดับได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้วยฐานที่ขยายจากด้านล่างขึ้นบนเพื่อให้มีน้ำหนักเบา แต่ยังคงความยืดหยุ่นไว้ด้วยหนามที่โค้งมนอ่อนช้อย ขนนกในปี 1932 ที่ได้รับการออกแบบใหม่นี้ดูประณีตและเบาบางจนแทบจะจางหายไปด้วยเทคนิคการเชื่อมข้อต่อ (Emmaillement) อย่างงดงามและการเลือกสรรอัญมณีอย่างกลมกลืน
สุนทรียศาสตร์ที่โปร่งสบาย
ขนนกในคอลเลคชั่น “PLUME DE CHANEL” เผยให้เห็นความสมบูรณ์แบบและการเคลื่อนไหวอย่างสง่างาม ราวกับถูกพัดพามาในสายลม ก้านขนนกที่อยู่ตรงกลางค่อยๆ ผสานรวมไปกับหนามที่เรียงกันอย่างไม่สิ้นสุดเพื่อเสริมความรู้สึกเบาสบายอย่างที่ Gabrielle Chanel จินตนาการไว้ในปี 1910
เพื่อให้รับกับส่วนโค้งของร่างกายได้ดีขึ้น และหลุดจากกรอบการสวมใส่แบบเดิมๆ ขนนกอันอ่อนช้อยนี้จึงประดับอยู่บนเครื่องประดับทั้ง 15 ชิ้นของคอลเลคชั่นในดีไซน์อันเพรียวบางที่เข้ากับทุกสไตล์ ไม่ว่าจะสวมใส่บนหูให้เป็นลวดลายแบบอสมมาตรหรือแบบหนึ่งเดียว เป็นเครื่องประดับผม เป็นแหวนแบบเปิด หรือเป็นสร้อยคอพร้อมขนนกที่ถอดออกได้ และสามารถนำมาใส่เป็นเข็มกลัด โดยเป็นการยกย่องความอเนกประสงค์ของเข็มกลัดปี 1932 ที่สามารถสวมใส่ได้หลากหลายวิธี
การเชื่อมข้อต่อแบบโค้งมน
เพื่อให้ขนนกมีการเคลื่อนไหวที่นุ่มนวลและดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น ฐานของขนนกจะอยู่กับที่ในขณะที่ปลายขนนกสามารถขยับได้อย่างแนบเนียนด้วยเทคนิคการเชื่อมข้อต่อแบบโค้งมนระหว่างลายหนาม ปัจจุบันขนนกเหล่านี้ยังมีความยืดหยุ่นมากขึ้นอีก โดยขนนกที่ประดับด้วยเพชรและอัญมณีหลากสีจะมีความโค้งมนและเป็นอิสระ ทำให้เครื่องประดับดูเหมือนลอยอยู่บนผิวหนัง
อัญมณีหลากสีสัน
สีสันของอัญมณีอันล้ำค่าเหล่านี้ ตั้งแต่สีขาวไปจนถึงสีชมพูหลากหลายเฉด ทำให้คอลเลคชั่น “PLUME DE CHANEL” มีความอ่อนโยนแบบผู้หญิง อัญมณีแต่ละชิ้นได้รับการคัดสรรมาอย่างพิถีพิถันเพื่อให้เข้ากับขนนกแต่ละเส้นด้วยสีสันที่สดใสและความโปร่งสบาย เพชรช่วยขับเน้นประกายแวววาว ขณะที่แซฟไฟร์สีชมพูและทัวร์มาลีนสีชมพูช่วยให้ขนนกดูมีมิติล้ำลึก สีชมพูที่ต่างกันเล็กน้อยจากเฉดสีที่ดูอ่อนโยนที่สุดไปจนถึงเฉดสีที่เข้มที่สุดช่วยเสริมให้การเคลื่อนไหวดูอ่อนหวานยิ่งขึ้น
สร้อยคอที่สามารถปรับวิธีการสวมใส่ได้อย่างสร้อยคอ PLUME COUTURE DE CHANEL ประดับด้วยเพชรสองแถว ที่ล้อมรอบขนนกเรียวบางและแผงลูกไม้แซฟไฟร์สีชมพูพาสเทลที่มีแซฟไฟร์สีชมพูเข้มห้อยอยู่ เช่นเดียวกันกับแหวน PLUME MADEMOISELLE DE CHANEL รุ่น “Toi et moi” ที่มาพร้อมขนนกที่ประดับด้วยเพชรเจียระไนทรงแฟนซีที่เข้ากันได้อย่างลงตัวกับเพชรทรงลูกแพร์สีชมพูอ่อน
คอลเลคชั่น “PLUME DE CHANEL” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์อันกล้าหาญและทักษะชำนาญการของสตูดิโอสร้างสรรค์ไฟน์จิวเวลรี่ของ CHANEL นี้เป็นการยกย่องเส้นโค้งอันอ่อนนุ่มและละเอียดอ่อนของขนนกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ ไฮจิวเวลรี่ของ CHANEL
15 ม.ค. 2568
17 ม.ค. 2568
15 ม.ค. 2568