BREGUET Tradition 7035

Last updated: 19 พ.ค. 2568  |  446 จำนวนผู้เข้าชม  | 

BREGUET Tradition 7035

ด้วยสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่เผยให้เห็นกลไกอันแสนแม่นยำอย่างโดดเด่น พร้อมด้วยหน้าปัดอีนาเมลด้วยมือ เรือนเวลา Tradition 7035 คืออัตลักษณ์แห่งนวัตกรรมด้านเทคนิคและสุนทรียความงามที่ Breguet  (เบรเกต์) สร้างสมมายาวนานกว่า 250 ปี

Breguet Gold คือโลหะอัลลอยด์ที่รังสรรค์ขึ้นพิเศษเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 250 ปีของแบรนด์และได้นำมาสรรค์สร้างเป็นวัสดุตัวเรือนของ Tradition 7035 รุ่นพิเศษนี้ ถ่ายทอดความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมกลไกแบบเฉพาะตัว พร้อมหน้าปัดแกะสลักลวดลาย guilloché (กิลโยเช่) ด้วยมือสีน้ำเงินโปร่งแสง หน้าปัดอีนาเมลด้วยเทคนิค “grand feu” (กรองด์ เฟอ) แสดงค่าชั่วโมงและนาที รวมถึงแสดงวินาทีด้วยระบบเรโทรเกรดที่จัดวางอย่างกลมกลืนอยู่ระหว่างตำแหน่ง 10 และ 11 นาฬิกา



อับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ กับจุดกำเนิดของเครือข่ายระดับนานาชาติ
นอกเหนือจากนวัตกรรมด้านเทคนิคแล้ว อับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ ยังมุ่งมั่นในการขยายการเข้าถึงนวัตกรรมการบอกเวลาไปยังกลุ่มลูกค้าที่กว้างและหลากหลายยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้คนสามารถรู้เวลาได้ทุกเมื่อตามที่ต้องการ ด้วยวิสัยทัศน์ประกอบกับความตั้งใจในการผลิตเรือนเวลาในจำนวนครั้งละไม่มาก นำไปสู่การเปิดตัวนาฬิกา Souscription ในปี ค.ศ. 1796 ซึ่งเป็นนาฬิกาพกแบบเข็มเดียวที่เรียบง่ายแต่ครบเครื่อง และยังนำเสนอวิธีการจำหน่ายที่แปลกใหม่อีกด้วย โดยลูกค้าได้รู้จักกับนาฬิการุ่นนี้ผ่านใบปลิวโฆษณา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในยุคนั้น และถือเป็นต้นแบบของแคตตาล็อกเชิงพาณิชย์เล่มแรกที่ Breguet ได้พัฒนาขึ้นในเวลาต่อมาอีกหนึ่งความพิเศษคือการใช้ระบบมัดจำ โดยลูกค้าสามารถเลือกนาฬิกาจากใบปลิวและชำระเงินล่วงหน้าจำนวนหนึ่งในสี่ของราคาเต็มเมื่อสั่งซื้อ

ต่อมาในปี ค.ศ. 1799 เขาได้เปิดตัวนาฬิกา Tact ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้เขาทั้งในหมู่เพื่อนร่วมวิชาชีพและกลุ่มลูกค้า นาฬิการุ่นนี้มีเข็มอยู่ภายนอกตัวเรือน และมีเครื่องหมายรอบตัวเรือนเพื่อให้สามารถ "อ่าน" เวลาได้อย่างสุภาพและแนบเนียนผ่านการสัมผัส


“Breguet เป็นหนึ่งในแบรนด์นาฬิกาชั้นสูง (Haute Horlogerie) ที่ยังคงรักษารูปลักษณ์อันเป็นเอกลักษณ์ ไว้ตั้งแต่แรกเริ่มจวบจนปัจจุบัน”

Gregory Kissling (เกรกอรี คิสลิง) ซีอีโอ กล่าว
การผสานคุณลักษณะของนาฬิกาทั้งสองรุ่นดังกล่าว คือจุดเริ่มต้นของคอลเลกชัน Tradition ที่ถือกำเนิดในปี 2005 ซึ่งคอลเลกชันนี้โดดเด่นด้วยโครงสร้างเชิงสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของผลงานวิศวกรรมกลไกขนาดจิ๋วที่เปี่ยมด้วยความแม่นยำ โดยเผยให้เห็นบริดจ์ เฟือง และกลไกต่างๆ ที่ได้แรงบันดาลใจจากผลงานของอับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ ด้วยรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ที่จดจำได้ทันที การจัดวางองค์ประกอบนี้ยังเผยให้เห็นความงดงามของกลไกภายในอย่างชัดเจน ราวกับสายตาของช่างนาฬิกาผู้บรรจงรังสรรค์เรือนเวลาอย่างพิถีพิถัน

Tradition 7035 ขนบงานฝีมืออันล้ำค่า
เรือนเวลา Tradition 7037 เวอร์ชั่นใหม่นี้ ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษเพื่อฉลองครบรอบ 250 ปีของ Breguet  ซึ่งยังคงถ่ายทอดรูปแบบเชิงเรขาคณิตของเรือนเวลาคอลเลกชัน Tradition ไว้อย่างครบถ้วน ผสานความเชี่ยวชาญทั้งด้านเทคนิคและความงามในแบบฉบับของ Breguet เข้ากับศิลปะการตกแต่งด้วยมืออย่างประณีตโดยช่างฝีมือของแบรนด์เอง

Breguet Gold และ Breguet Blue: สองสี “ซิกเนเจอร์”
คอลเลกชัน Tradition ได้นำเสนอโทนสีอันเป็น “เอกลักษณ์เฉพาะของแบรนด์” เป็นครั้งแรก ได้แก่ สีทอง Breguet Gold และ และสีน้ำเงิน Breguet Blue

โดยการนำทองคำ เงิน ทองแดง และแพลเลเดียม มาหลอมรวมกันด้วยเทคนิคเฉพาะจนกลายเป็นโลหะสีทองที่เปล่งประกายในโทนอบอุ่น นั่นคือโทนสี Breguet Gold โลหะผสมสุดพิเศษนี้คิดค้นขึ้น  โดย Breguet และเพิ่งเปิดตัวครั้งแรกไปก่อนหน้านี้ พร้อมกับนาฬิการุ่น Classique Souscription 2025 และ ตัวเรือนขนาด 38 มม. ของรุ่น Tradition 7035 ใหม่ล่าสุดนี้  ก็รังสรรค์ขึ้นจากโลหะผสมใหม่นี้เช่นเดียวกันเทคนิคการเคลือบแบบพิเศษที่พัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะช่วยให้เมนเพลทและบริดจ์มีเฉดสีที่สอดคล้องกับตัวเรือน เฟืองสีเงิน สกรูสีน้ำเงิน และทับทิมจักรกรอกสีแดงนั้นตัดกันอย่างงดงาม และยิ่งขับเน้นสีของ Breguet Gold ให้ยิ่งเปล่งประกาย บริดจ์ของเรือนเวลารุ่นฉลองครบรอบนี้ได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจง ด้วยการตกแต่งผิวด้านบนแบบซาตินเนื้อละเอียด ซึ่งขัดแต่งด้วยมืออย่างประณีต นับเป็นครั้งแรกที่ปรากฏในคอลเลกชัน Tradition อีกด้วย

จุดเด่นสะดุดตาของนาฬิการุ่นนี้อยู่ที่หน้าปัดสลักลวดลายกิลโยเช่อย่างประณีต งดงามด้วยเฉดสีน้ำเงิน Breguet Blue โดยลวดลายที่เลือกใช้คือ Quai de l’Horloge (คเว เดอ ลอจ์) หน้าปัดอีนาเมลแบบโปร่งแสงด้วยเทคนิคแกรนด์เฟอ (grand feu) นี้ มาในเฉดสีน้ำเงินลุ่มลึก เข้ากันอย่างลงตัวกับเข็มวินาทีแบบเรโทรเกรดและสกรูที่รังสรรค์ขึ้นจากบลูสตีล ตัดด้วยตัวเลขอารบิกในแบบฉบับแบบของ Breguet ในสีเงิน แทร็กนาทีตกแต่งด้วยลายดอกไม้ fleur-de-lis รวมถึงหมายเลขประจำตัวเรือน ณ ตำแหน่ง 4 นาฬิกาล้วนโดดเด่นตัดกับพื้นหน้าปัดเคลือบอีนาเมลสีน้ำเงินสดที่ส่องประกายงดงาม

Quai de l'Horloge ลวดลายกิลโยเช่อันเป็นเอกลักษณ์
กิลโยเช่ (Guilloché) คือเทคนิคการตกแต่งที่ในอดีตมักใช้กับตัวเรือนนาฬิกา จนต่อมาได้พัฒนากลายเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง และอับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ คือผู้บุกเบิกการนำเทคนิคนี้มาใช้กับหน้าปัดนาฬิกา  เพื่อแบ่งแยกส่วนการแสดงค่าต่างๆ และจวบจนถึงทุกวันนี้ กิลโยเช่ก็ยังคงเป็นความเชี่ยวชาญหลักอย่างแท้จริงแขนงหนึ่งของ Breguet

ปัจจุบัน Breguet เป็นผู้ครอบครองเครื่องกลึงกิลโยเช่ที่ยังใช้งานได้จำนวนมากที่สุดในโลก เครื่องจักรโบราณเหล่านี้ผ่านการบูรณะอย่างพิถีพิถัน และสามารถสร้างสรรค์ลวดลายได้หลากหลาย ตั้งแต่แบบดั้งเดิม เช่น Clou de Paris ไปจนถึงแบบร่วมสมัยล่าสุดอย่างลวดลาย Quai de l'Horloge ซึ่งประทับอยู่บนหน้าปัดของนาฬิการุ่น Tradition นี้ด้วย

ลวดลายกิลโยเช่แบบใหม่ล่าสุดนี้ถ่ายทอดแรงบันดาลใจจากเส้นสายอันอ่อนช้อยของแม่น้ำ Seine ที่ไหลโค้งโอบรอบเกาะ Île de la Cité ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเวิร์กช็อปของ อับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ และเกาะ Île Saint-Louis ใจกลางกรุงปารีส ลวดลายนี้มีโครงร่างที่ได้แบบมาจากแผนที่ Turgot จากศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นภาพแผนผังเมืองปารีสในมุมมองที่ละเอียดอย่างยิ่ง สำหรับยุคนั้นแผนที่นี้ถือว่ามีความแม่นยำอย่างน่าทึ่ง โดยแสดงให้เห็นถนน อาคาร และแม้แต่ต้นไม้ทุกต้นในใจกลางกรุงปารีสอย่างครบถ้ว


โรเตอร์ทรงพระจันทร์เสี้ยว การสดุดีแด่อัจฉริยภาพแห่งการรังสรรค์เรือนเวลา
ด้านหลังของนาฬิการุ่นใหม่ Tradition 7035 เผยให้เห็นความงดงามในสีทองอันน่าหลงใหลไม่แพ้ด้านหน้า โรเตอร์หมุนอยู่เหนือบริดจ์ที่ขัดแต่งพื้นผิวแบบซาติน ตัดกันอย่างสง่างามกับเมนเพลทที่ผ่านการตกแต่งด้วยการพ่นทรายด้านล่าง

โรเตอร์ทรงพระจันทร์เสี้ยวที่ผลิตจากแพลทินัมขัดแต่งลายเส้นแนวตั้งนี้ ได้แรงบันดาลใจจากการออกแบบของอับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ ผู้บุกเบิกการใช้แพลทินัมในการสร้างสรรค์นาฬิกา โดยนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการไขลานอัตโนมัติให้กับนาฬิกาที่เขาให้ชื่อว่า “perpétuelle” หรือนาฬิกา “นิรันดร์”  ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมแรกเริ่มของอัจฉริยะด้านเรือนเวลาผู้นี้
สัญลักษณ์ “Pt950” ที่สลักอย่างปราณีตกลมกลืนไปกับบริเวณด้านบนซ้ายของโรเตอร์ ทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายรับประกันคุณภาพ พร้อมทั้งเป็นการถ่ายทอดมรดกแห่งเรือนเวลาในวิถีของ Breguet อีกด้วย

ช่วงปีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ Tradition 7035
1775 – อับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ ก่อตั้งเวิร์กช็อปของตนเองขึ้นที่ Quai de l'Horloge บนเกาะ Île de la Cité ณ กรุงปารีส
1780 – เปิดตัวนาฬิกา “Perpétuelle” รุ่นแรก พร้อมระบบขึ้นลานอัตโนมัติ
1783 – ออกแบบเข็มนาฬิกา Breguet hands ปลายแบบ open-tipped อันเป็นเอกลักษณ์ และตัวเลขอารบิกดีไซน์เฉพา
1786 – สร้างหน้าปัดสลักลาย guilloché (กิลโยเช่) ขึ้นเป็นครั้งแรก
1790 – ประดิษฐ์ระบบกันกระแทก “Pare-chute”
1793 – อับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ ลี้ภัยไปยังสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส
1795 – อับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ เดินทางกลับสู่ปารีส พัฒนา Secret Signature บนหน้าปัดเพื่อป้องกันการปลอมแปลง
1796 – เริ่มจำหน่ายนาฬิกา Souscription รุ่นแรก ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปีถัดไปพร้อมแผ่นพับโฆษณา
1799 – จำหน่ายนาฬิกา Tact รุ่นแรก
1810 – ผลิตนาฬิกาข้อมือเรือนแรกของโลก
1830 – ผลิตนาฬิกาที่ไม่ต้องใช้กุญแจไขลานเรือนแรก
1933 – Breguet ย้ายสำนักงานไปยังเลขที่ 28, Place Vendôme ในปารีส ซึ่งเป็นสำนักงานหลักจนถึงปี 1970
1976 – โรงงานผลิต Breguet ย้ายไปยัง Vallée de Joux ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และดำเนินการผลิตทั้งหมดในสวิตเซอร์แลนด์นับแต่นั้น
1999 – Swatch Group เข้าซื้อกิจการกลุ่ม Breguet
2005 – เปิดตัวคอลเลกชัน Tradition อย่างเป็นทางการ
2025 – ฉลองครบรอบ 250 ปีของ Breguet เปิดตัว “Breguet gold” และคอลเลกชันพิเศษฉลองวาระครบรอบ 250 ปี


บทสัมภาษณ์ Gregory Kissling, CEO ของ Breguet
คุณชื่นชอบอะไรที่สุดในนาฬิการุ่นใหม่ล่าสุดนี้?
สิ่งที่ผมชื่นชอบที่สุด คือจิตวิญญาณของคอลเลกชัน Tradition ซึ่งโดดเด่นไม่เหมือนใคร ด้วยมุมมองลึกเข้าไปในใจกลางของกลไกนาฬิกา ที่เผยให้เห็นถึงความซับซ้อนและความประณีตของ Breguet ในการสรรค์สร้างเรือนเวลาทุกๆเรือน สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นและแตกต่างนี้ทำให้คุณรู้สึกเสมือนเป็นช่างนาฬิกาเอง เพราะถ่ายทอดมุมมองเดียวกันกับมุมมองช่างนาฬิกาในขณะที่กำลังประกอบนาฬิกา

สำหรับผม นี่แหละคือดีเอ็นเอของ Breguet  ซึ่งก็คือรูปลักษณ์อันโดดเด่นและจดจำได้ในทันที แม้จะมองจากระยะไกลก็ตาม นาฬิการุ่นพิเศษฉลองวาระครบรอบเรือนที่สองนี้ถ่ายทอดจิตวิญญาณนั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ ถือเป็นการสรรเสริญมรดกอันล้ำค่าของ Breguet อย่างแท้จริง โดดเด่นด้วยการใช้ Breguet Gold ทั้งในส่วนของหน้าปัดกิลโยเช่และตัวเรือน มอบรูปลักษณ์ที่สง่างาม สะท้อนความสง่างามอันเปี่ยมเสน่ห์เฉพาะตัว อีกทั้งยังเป็นการสืบทอดแนวคิดจากรุ่น Souscription 2025 อย่างสมบูรณ์แบบ โดย Tradition ได้รับแรงบันดาลใจจากนาฬิกา Tact ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของนาฬิกา Souscription ดั้งเดิมของแบรนด์

นี่เป็นครั้งแรกที่ Breguet นำเสนอหน้าปัด guilloché อีนาเมลแบบโปร่งแสงหรือไม่?
ไม่ใช่ครั้งแรกครับ  เราเคยนำเสนอหน้าปัดแบบกิลโยเช่อีนาเมลมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่สิ่งที่ใหม่สำหรับรุ่นนี้คือ การสลักลวดลาย “Quai de l’Horloge” แบบใหม่ล่าสุด ลงบนหน้าปัด ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปีนี้นับเป็นการผสมผสานที่ไม่เคยมีมาก่อน แสดงถึงความเป็นเลิศของศาสตร์ชั้นสูงทั้งสองศาสตร์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของแบรนด์ และยังเป็นการตอกย้ำทักษะฝีมือที่สืบทอดมายาวนานหลายศตวรรษ

Breguet มักทำเข็มนาฬิกาด้วยทองคำหรือเปล่า?
เราเลือกใช้วัสดุล้ำค่าเมื่อมีโอกาสเสมอ เช่นเดียวกับผู้ก่อตั้งของเรา อับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ เองก็เคยใช้เข็มนาฬิกาทองคำกับนาฬิกาหรูหลายเรือนในยุคของเขา และเราก็ยังคงรักษาแนวทางนี้ไว้กับนาฬิการุ่นร่วมสมัย บางรุ่นของเราสำหรับรุ่นฉลองครบรอบนี้ เราต้องการสื่อความพิเศษของ “Breguet Gold” ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดยเฉพาะเนื่องในโอกาสครบรอบ 250 ปีของแบรนด์ แน่นอนว่า เรายังคงผูกพันกับเข็มสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ของเราเป็นอย่างมาก แต่การเลือกใช้วัสดุสำหรับเข็มนาฬิกาในแต่ละรุ่นนั้น จะขึ้นอยู่กับความสอดคล้องเชิงสุนทรีย์ศาสตร์และความชัดเจนในการอ่านค่าเป็นหลัก

ทำไมการใช้แพลทินัมสำหรับโรเตอร์ในรุ่นนี้จึงน่าสนใจเป็นพิเศษ?
อับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ คือหนึ่งในนักประดิษฐ์นาฬิกาผู้มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล และมุ่งมั่นในการก้าวข้ามขีดจำกัดอยู่เสมอ เขาเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณในการรังสรรค์นวัตกรรม และไม่เคยลังเลที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ แม้แต่ในเรื่องของวัสดุที่ใช้ แท้จริงแล้ว เขาคือคนแรกที่นำแพลทินัมเข้าสู่วงการผลิตนาฬิกา โดยเฉพาะการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกอย่างนาฬิกาพก “Marie-Antoinette” แพลทินัมเป็นวัสดุทรงคุณค่าที่มีความหนาแน่นสูง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของโรเตอร์ในระบบไขลานอัตโนมัติได้อย่างยอดเยี่ยม โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดของชิ้นส่วนให้ใหญ่ขึ้น

สำหรับรุ่น Tradition 7035 เราตัดสินใจนำแพลทินัมกลับมาใช้อีกครั้ง เพื่อยกย่องความกล้าหาญและวิสัยทัศน์ของผู้ก่อตั้งของเรา อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวทางการออกแบบของคอลเลกชัน Tradition ซึ่งให้ความสำคัญกับโรเตอร์ในฐานะองค์ประกอบเด่นในด้านความงามของกลไก

คอลเลกชัน Tradition มีความหมายอย่างไรสำหรับ Breguet?
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา คอลเลกชันนี้ถือเป็นหนึ่งในคอลเลกชันที่แสดงถึงตัวตนของ Breguet แท้จริง จะมีใครที่กล้าเผยโฉมกลไกทั้งหมดอย่างเด่นชัดบนหน้าปัดนาฬิกาได้เช่นนี้อีก นอกจาก Breguet การตัดสินใจครั้งนั้นถือว่าเป็นก้าวที่กล้าหาญ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นที่จับตามองเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้แบรนด์อื่นๆ นำแนวคิดนี้ไปต่อยอดด้วยเช่นกัน แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 250 ปีแล้ว Breguet ก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ และยังคงสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆอยู่เสมอ


บทสัมภาษณ์ Emmanuel Breguet
รองประธาน และหัวหน้าฝ่ายมรดกแบรนด์ (Vice President, Head of Patrimony)

ทำไมอับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ จึงสามารถสร้างสไตล์ที่โดดเด่นและเป็นที่จดจำได้?
ขอพาย้อนกลับไปนยุคของผู้ก่อตั้งเรา ในช่วงเวลานั้น นาฬิกามักจะประดับตกแต่งอย่างอลังการ ราวกับว่ายิ่งมีลวดลายมาก ก็ยิ่งสะท้อนถึงความหรูหราและคุณค่า วงการนาฬิกาในเวลานั้นยังคงยึดติดอยู่กับสไตล์ บาโรกอย่างชัดเจน อันเนื่องมาจากความคุ้นชินและทัศนคติของยุคนั้น แต่อับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ กลับเลือกเดินเส้นทางตรงกันข้าม เขาแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์อันล้ำหน้า ด้วยการปรับรูปลักษณ์ของนาฬิกาให้เรียบง่ายอย่างมีศิลปะ ตัดทอนองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นออกไป โดยยึดถือหลักสำคัญคือความชัดเจนในการอ่านค่าเวลา จึงเลือกใช้หน้าปัดอีนาเมลสีขาวซึ่งเปี่ยมด้วยความงามอันบริสุทธิ์และโดดเด่นด้วยความชัดเจนในการมองเห็น เสริมด้วยตัวเลขอันวิจิตรงดงาม – ตัวเลขที่ในเวลาต่อมาจดจำในชื่อว่า “Breguet numerals”

ช่วยเล่าถึงเทคนิคการแกะลาย Guilloché ได้ไหม?
เทคนิคงานฝีมือชั้นสูงนี้มีอยู่แล้วในยุคนั้น แต่ Breguet คือผู้บุกเบิกที่มองเห็นศักยภาพและนำมาใช้กับหน้าปัดนาฬิกา จนกลายเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่เปี่ยมเอกลักษณ์และเป็นที่จดจำในผลงานการออกแบบของแบรนด์ ในสายตาของ Breguet เทคนิคนี้เปี่ยมด้วยคุณสมบัติอันเหมาะสมอย่างครบถ้วน — ด้วยลวดลายที่หลากหลายซึ่งช่วยเพิ่มความชัดเจนในการอ่านค่า มอบผิวสัมผัสแบบด้านกึ่งเงา เสริมคุณสมบัติป้องกันแสงสะท้อน และเหนือสิ่งอื่นใดคือ ความสง่างาม ซึ่งถือเป็นเกณฑ์สำคัญที่ Breguet ให้ความสำคัญมาโดยตลอด สำหรับ Breguet แล้ว ความงามและความประณีตนั้นต้องเกื้อหนุนต่อประโยชน์ใช้สอย ไม่ใช่เพียงเพื่อความงดงามภายนอก อัจฉริยภาพของ อับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ อยู่ที่การ “ผสานความงดงามเข้ากับประโยชน์ใช้สอย” อย่างที่นักวิจารณ์ร่วมยุคเคยกล่าวไว้ และแนวคิดนี้ยังสะท้อนออกมาใน เข็มนาฬิกา “Breguet Hands” ที่เขาออกแบบไว้ในช่วงทศวรรษ 1780 ด้วย นาฬิกา Breguet ต้องอ่านค่าได้ง่ายเสมอ แม้จะแสดงข้อมูลมากมาย เช่น วันที่หลายรูปแบบ พลังงานสำรอง สมการเวลา ข้างขึ้นข้างแรม หรือแม้กระทั่งเทอร์โมมิเตอร์ในบางรุ่น

แล้วโรเตอร์แบบพิเศษในรุ่นนี้มีความสำคัญอย่างไร?
โรเตอร์ในลักษณะนี้ ปรากฏเป็นครั้งแรกในผลงานของ Breguet ตั้งแต่ช่วงต้นของการพัฒนานาฬิการะบบอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า "Perpetuelles" ซึ่งเปิดตัวในปี 1780 และสร้างชื่อเสียงให้เขาในราชสำนักฝรั่งเศส หนึ่งในตัวอย่างอันทรงคุณค่าก็คือนาฬิกาหมายเลข N°160 ซึ่งออกแบบขึ้นเพื่อพระนางมารี อ็องตัวแน็ตในยุคนั้น จำเป็นต้องมีชิ้นส่วนหมุนที่มีประสิทธิภาพสูงพอ เพื่อช่วยขับเคลื่อนกลไกอันซับซ้อนที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนจำนวนมากเป็นร้อยๆและฟังก์ชันหลากหลาย ในขณะเดียวกัน Breguet ต้องการให้นาฬิกาสามารถไขลานเองได้ในตัว จากการเคลื่อนไหวของร่างกายผู้สวมใส่เท่านั้น ไม่จำเป็นต้อง “เขย่า” หรือกระตุ้นการทำงานแต่อย่างใด  แค่สวมใส่ตามปกตินาฬิกาก็จะทำงานเองโดยอัตโนมัติ

Breguet เริ่มใช้แพลทินัมเมื่อใด?
อับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ เริ่มนำแพลทินัมมาใช้ตั้งแต่ช่วงแรกเริ่ม ระหว่างปี 1775 ถึง 1780 ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้รอบรู้ เขาเข้าใจและมองเห็นถึงคุณสมบัติอันโดดเด่นของโลหะชนิดนี้ แม้ในขณะนั้นยังไม่มีการใช้แพลทินัมในวงการนาฬิกาอย่างแพร่หลายก็ตาม แพลทินัมยังไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากการหลอมต้องใช้ความร้อนสูงมาก ประมาณ 1,800 องศาเซลเซียส จึงต้องอาศัยอุปกรณ์พิเศษ อย่างไรก็ตาม Breguet ตระหนักดีว่าแพลทินัมจะกลายเป็นวัสดุพลิกเกม และทำให้สามารถผลิตนาฬิกาที่มีระบบไขลานอัตโนมัติอย่างมีประสิทธิภาพได้ ระบบไขลานอัตโนมัติของ Breguet จึงถือกำเนิดขึ้นโดยมีโรเตอร์ที่ทำจากแพลทินัมติดตั้งอยู่ด้านข้าง ต่อมา Breguet ยังใช้แพลทินัมผลิตเป็นตัวเรือนนาฬิกาบางเรือน ซึ่งนับว่าเป็นผลงานชิ้นพิเศษที่ไม่ได้มีจำนวนมากนัก

ลวดลายกิโยเช่ใหม่มีชื่อว่า “Quai de l'Horloge” ตั้งชื่อตามถนนบนเกาะ Île de la Cité ซึ่งเป็นที่ตั้งเวิร์กช็อปของอับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ ทำไมเขาจึงเลือกสถานที่แห่งนี้ในสมัยนั้น?
ผู้ก่อตั้งของเราเดินทางจากสวิตเซอร์แลนด์บ้านเกิด เพื่อมาตั้งรกรากในแวร์ซายส์ และต่อมายังกรุงปารีส โดยเขาได้ฝึกฝนและศึกษาศาสตร์เกี่ยวกับนาฬิกามานานนับสิบปี จากนั้นจึงตัดสินใจเปิดเวิร์กช็อปของตนเองขึ้น เพื่อตอบสนองตัวตนที่มีจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ และเพื่อพัฒนางานฝีมือด้านนาฬิกาตามรสนิยมและวิสัยทัศน์ของเขาเอง ในยุคนั้น Île de la Cité ไม่เพียงแต่เป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของ กรุงปารีส แต่ยังเป็นแหล่งรวมของช่างฝีมือแขนงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำนาฬิกา ไม่ว่าจะเป็นช่างทำหน้าปัด ช่างทอง  ช่างเคลือบ ช่างทำตัวเรือน และวิชาชีพอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างสรรค์เรือนเวลาชั้นสูง กล่าวได้ว่า ที่นี่คือ “ศูนย์รวมแห่งศิลปะหัตถกรรมเรือนเวลา” อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ สถานที่นี้ยังใกล้ชิดกับ Pont-Neuf ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของเมือง ทำให้เดินทางไปมาสะดวก ที่สำคัญคือ Breguet ได้ใช้ชีวิตทั้งหมดของเขาในบ้านหลังนี้ และในที่สุดก็ได้ขยับขยายครอบครองพื้นที่ทั้งหมดไว้ โดยใช้เป็นสถานที่ต้อนรับบุคคลสำคัญนับไม่ถ้วน

บ้านของ Breguet ที่ Quai de l'Horloge ยังคงอยู่หรือไม่?
บ้านหลังใหญ่แห่งนี้ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยมีด้านหน้า 2 ด้าน ด้านหนึ่งหันไปทาง Quai de l'Horloge และอีกด้านหนึ่งหันไปทาง Place Dauphine โดยในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ได้มีการขยายอาคารนี้ด้วยการเพิ่มชั้น บ้านหลังนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 และมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ตระกูล Breguet ถึง 4 รุ่น ได้อาศัยอยู่ที่นี่และสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์สำคัญมากมาย นาฬิกาที่โดดเด่นที่สุดของโลกหลายเรือนได้ถือกำเนิดขึ้นภายในบ้านหลังนี้ และยังเป็นสถานที่สร้างและให้กำเนิดอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์จำนวนมาก เช่น โทรเลขไฟฟ้าที่มีหน้าปัด, ระบบความปลอดภัยสำหรับทางรถไฟในยุคแรก รวมถึงอุปกรณ์วัดความเร็วแสง และทราบหรือไม่ว่า ในปี 1877 บ้านสองชั้นหลังนี้ ได้มีการทดลองใช้โทรศัพท์เป็นครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศส โดย Antoine Breguet (อองตวน เบรเกต์) (1851–1882) และลูกพี่ลูกน้องของเขา Alfred Niaudet (อัลเฟรด เนียอูเดต์) (1835–1883)

ต่อมา บ้านหลังนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของทายาทของอับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ รวมถึงนักเขียนและนักการเมืองผู้มีชื่อเสียงอีกหลายคน นับเป็นบ้านเพียงไม่กี่หลังในโลกที่เคยเป็นศูนย์รวมแห่งปัญญาในหลากหลายแขนงได้อย่างต่อเนื่องยาวนานถึงสองศตวรรษครึ่งเช่นนี้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้