BOVET manufacture

Last updated: 3 ก.ค. 2568  |  209 จำนวนผู้เข้าชม  | 

BOVET manufacture

การไปเยือนพื้นที่การสร้างสรรค์และผลิตนาฬิการะดับสูงของ Bovet ครั้งนี้ แตกต่างจากการไปชมโรงงานหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ได้เห็นความตั้งใจและความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ผลงานเครื่องบอกเวลาชั้นสูงของแบรนด์ทั้งที่ Tramelan ที่ตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนและกลไกของ Bovet และประวัติศาสตร์ที่ได้รับการเก็บรักษาไว้ในปราสาท Le Château de Môtiers (เล ชาโตว์ เด โมติเยร์ส) เท่านั้น แต่ยังเปิดมุมมองผ่านทางนักสะสมนาฬิกาชาวจีนที่ร่วมทริปในครั้งนี้ด้วย มุมมองที่แตกต่างยิ่งทำให้เห็นถึงความน่าหลงใหลของแบรนด์นี้ที่มีทั้งความประณีต ซับซ้อนและงดงาม รวมถึงประวัติศาสตร์ที่ยาวนานกว่า 200 ปี

ประวัติศาสตร์ของ Bovet เริ่มต้นขึ้นจาก Edouard Bovet ทายาทศิลปินนักธุรกิจผู้สร้างตำนานนาฬิกาสวิสบนแผ่นดินจีน เขาเกิดในปี 1979 ที่เมือง Fleurier (เฟลอริเยร์) และเติบโตขึ้นในครอบครัวของช่างนาฬิกาฝีมือดี หลังจากฝึกฝีมือประดิษฐ์นาฬิกา เขาก็ออกเดินทางพร้อมพี่ชาย Jean-Frédéric Bovet และ Alphone ไปยังกรุงลอนดอน ศูนย์กลางการค้า
นาฬิกาโลกในปี 1814 และสี่ปีต่อมาเขาล่องเรือโดยสารไปกับ Orwell หนึ่งในกองเรือสินค้าของ East India Company ไปยังมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ประเดิมการค้าแรกด้วยการขายนาฬิกาพก 4 เรือนในราคา 10,000 ฟรังก์ ซึ่งเทียบเท่ากับ 1 ล้านสวิสฟรังก์ในปัจจุบัน และนั่นก็เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ Bovet กลายเป็นแบรนด์ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในประเทศจีน

หลังจากลงหลักปักฐานในกวางตุ้งทำหน้าที่จัดจำหน่ายนาฬิกา และให้พี่ชายทั้งสองที่อยู่ลอนดอนทำหน้าที่เป็นตัวกลางกับ Gustave Bovet พี่ชายอีกคนใน Fleurier ที่ทำหน้าที่ผลิตนาฬิกา สี่พี่น้องได้จดทะเบียนชื่อ Bovet ที่กรุงลอนดอนในวันที่ 1 พฤษภาคม 1822 นั่นคือประวัติศาสตร์ยุคต้นของแบรนด์ที่รังสรรค์นาฬิกาพกดีไซน์ที่งดงามแตกต่างกันของหน้าปัดและฝาหลัง สะท้อนวิจิตรศิลป์ด้วยเทคนิคต่างๆ ทั้งการเคลือบสีลงยา งานแกะสลัก ภาพเหมือนในมุมตรงข้ามสร้างชื่อเสียงอย่างยิ่งให้กับแบรนด์ในตลาดจีน

ในปี 1830 Edouard Bovet กลับมาที่ Fleurier และขยายธุรกิจการผลิตนาฬิกาที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อแบรนด์เปิดตัวนาฬิกาฝาหลังใสให้กับลูกค้าที่ชื่นชอบความงามของกลไกที่ได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตร เขาจากไปในปี 1849 นับจากนั้น Bovet ก็ผ่านยุคสมัยตั้งแต่ความรุ่งเรือง เงียบเหงาและเปลี่ยนมือมาหลายครั้ง จนกระทั่งปี 2001 เมื่อ
Mr. Pascal Raffy (ปาลกาล กราฟฟี่) อดีตเจ้าของธุรกิจเภสัชกรรมระดับโลกที่หลงใหลเสน่ห์นาฬิกาจักรกล ได้เข้าซื้อกิจการนาฬิกา Bovet Fleurier SA และเปลี่ยนชื่อมาเป็น Bovet 1822 และค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างมั่นคง โดยรักษาขนบธรรมเนียมการสร้างสรรค์นาฬิกาอันทรงคุณค่าของ Bovet จากอดีต ผสานกับแนวคิดยุคใหม่และเทคโนโลยีใหม่ สู่ผลงานสุดอัศจรรย์ที่ครองใจนักสะสมนาฬิกาผู้หลงใหลในความงามวิจิตรและซับซ้อน

Bovet 1822 Manufacture
พื้นที่การผลิตชิ้นส่วนต่างๆ
จบประวัติศาสตร์แล้ว เราก็มาทัวร์กันดีกว่า สถานที่แรกที่จะพาชมก็คือ โรงงานที่ประดับชื่อ Bovet 1822 ไว้อย่างโดดเด่น ซึ่งก่อนหน้านี้เคยใช้ชื่อ Dimier 1738 Manufacture de Haute Horlogerie Artisanale และเปลี่ยนชื่อเป็น Bovet 1822 เมื่อประมาณ 4 ปีก่อน หรือราวปี 2020 เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและตอกย้ำความเป็นแบรนด์ด้วยชื่อเดียวคือ Bovet 1822 แม้จะเปลี่ยนชื่อ แต่ภายในอาคารทันสมัยนี้ก็ยังคงเป็นฐานการผลิตสำคัญที่สูงด้วยศักยภาพเช่นเดิม โดยประกอบด้วยแผนกต่างๆ หลายสิบแผนก ทุกแผนกล้วนมีผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่ทำงานร่วมกัน

จากห้องรับรองที่ดูเป็นทางการ รายล้อมด้วยเรื่องราวของนาฬิกา Bovet และห้องทำงานของช่างนาฬิกา ครั้งนี้ดูน่าตื่นเต้นกว่าครั้งไหนๆ เมื่อนักสะสมนาฬิกาชาวจีนที่หลงใหลใน Bovet นำนาฬิกาพกโบราณสองเรือนมาให้ทีมช่างได้ชมพร้อมกับการทัวร์โรงงาน ซึ่งนาฬิกาพกโบราณนี้งดงามและซับซ้อนอย่างมาก ชนิดที่ทำให้ช่างนาฬิกาของ Bovet ถึงกับเอ่ยปากกว่า “you made my day” กันเลยทีเดียว


จากห้องรับรองลงไปยังชั้นล่าง ในพื้นที่ของการผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็กด้วยเครื่องจักรทันสมัยอย่าง CNC และเครื่องมือเก่าแก่ที่ยังคงใช้งานในบางครั้ง ผลิตชิ้นส่วนกลไกชิ้นเล็กชิ้นน้อยตั้งแต่สกรู เฟือง ล้อ จักร วงแหวน ชิ้นส่วนทรงกลมต่างๆ ไปจนถึงเฟืองตัวเล็ก (pinion) ซึ่งคุณ Keith Strandberg - Head of Content ของ Bovet 1822 ที่นำทัวร์ในครั้งนี้บอกว่า Bovet ผลิตนาฬิกาเพียงปีละพันเรือนเท่านั้น แต่มีชิ้นส่วนที่แตกต่างกันมากมาย เวลาส่วนหนึ่งในแผนกนี้จึงใช้ไปกับการตั้งโปรแกรม บางครั้งเราก็ผลิตเพียงแค่ 200 ชิ้น หรือน้อยกว่านั้นถ้ามีความต้องการเร่งด่วนเข้ามา หลังจากได้ชมชิ้นส่วนในกล่องก็จะเห็นว่า บางชิ้นมีขนาดเล็กมาก ซึ่งทุกชิ้นที่ผ่านการผลิตในแผนกนี้ยังต้องไปผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพเพื่อให้ได้มาตรฐานอีกด้วย

ในห้องถัดมานั้น เป็นแผนกของการทำชิ้นส่วนด้วยการปั๊มตัดหรือ Stamping ด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย และช่างที่มีความชำนาญเฉพาะทาง แผนกนี้จึงไม่ใช่แค่ปั๊มตัดชิ้นส่วนสำหรับนาฬิกาเท่านั้น แต่ยังสร้างแม่พิมพ์ของชิ้นส่วนต่างๆ เองอีกด้วย ทำให้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับนาฬิกาที่ต้องใช้เช่น แผ่นฐานหน้าปัด หน้าปัดย่อย ฝาครอบตลับลาน แป้นงัด (lever) และชิ้นส่วนที่มีรูปทรงแบนหรือทรงอื่นๆ ขนาดเล็ก และยังสามารถผลิตชิ้นส่วนให้กับอุตสาหกรรมอื่น เช่น การบิน การแพทย์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้อีกด้วย แผนกนี้จึงเป็นทั้งผู้ผลิตแบบอินเฮาส์และซัพพลายให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ

ชิ้นส่วนต่างๆ เหล่านี้เมื่อผ่านการตัดหรือปั๊มตัดด้วยเครื่องแล้ว จะถูกส่งไปกำจัดส่วนเกินที่อาจติดมาในอีกห้อง ที่มีเครื่องหมุนเหวี่ยงให้ชิ้นส่วนเกินหลุดออกไป และการใช้วัสดุบางอย่าง เช่น เซรามิกหรือไม้ ในการนำส่วนเกินและขัดไปในเวลาเดียวกัน เป็นการทำความสะอาดในขั้นต้น จากนั้นก็จะส่งไปแผนกควบคุมคุณภาพเพื่อตรวจสอบความถูกต้อง

ในชั้นนี้ยังมีแผนกการประกอบชิ้นส่วนขั้นแรก เพื่อจับรวมกันก่อนที่จะส่งไปประกอบเป็นกลไกทั้งหมด เช่น การประกอบทับทิมในหลุมหรือประกอบชุดเฟืองเกียร์บางส่วนเป็นต้น โดยมีช่างนาฬิกาที่มีสมาธิสูงทำงานที่ประณีตและมีขนาดเล็กจิ๋วอย่างเบามือ รวมไปถึงห้องสำหรับเก็บวัสดุตั้งต้นก่อนที่จะนำมาผ่านกระบวนการผลิตในห้องต่างๆ และห้อง Finishing and Engraving ที่ต้องสวมเสื้อกราวน์สีขาวป้องกันการนำฝุ่นเข้าไปในห้อง โดยชิ้นส่วนจากแผนกการตัดและปั๊มคัทจะถูกส่งมาตกแต่งในแผนกนี้ เพื่อสร้างความสวยงามให้กับชิ้นส่วนต่างๆ เช่น การแกะสลักบนขอบตัวเรือนด้วยลวดลายที่งดงาม การใช้เทคนิคสร้างลายอย่าง Côtes de Genève, Perlage, Ciselage, Poli Miroir, Brossage, Colimaçonnage. Soleillage, Anglage เป็นต้น ยกเว้นงาน Miniature และ Guilloché เท่านั้นที่ไม่ได้ทำในแผนกนี้

เรายังได้ชมแผนกการผลิตสปริงสายใย Spring manufacture area ซึ่งน้อยแบรนด์นักที่จะผลิตสปริงสายใยเอง และ Bovet ก็เป็นหนึ่งในนั้นโดยแบรนด์นำเข้าลวดที่เป็นวัสดุตั้งต้นเข้ามา จากลวดขนาด 0.60 มิลลิเมตรถูกนำมาผ่านกระบวนการยืดและทำให้บางลงเหลือเพียง 0.0005 มิลลิเมตร ที่บางกว่าเส้นผม และนำไปขดเป็นวงก่อนติดตั้งเข้ากับจักรกรอกและหมุนตั้งค่าหรือ regulating organ เป็นขั้นตอนถัดไป ภายในห้องผลิตสปริงสายใย เข้าไปไม่ได้ ได้แต่ชมจากด้านนอกเพราะต้องการความสะอาดปราศจากฝุ่น แต่ก็ได้ดูกระบวนการผลิตที่จัดแสดงให้ชมตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสปริงสายใยสำเร็จของกลไกขนาดต่างๆ

ในอาคารนี้ยังรวมไปถึงแผนกพิมพ์ลายบนหน้าปัดที่สุดประณีตและต้องใช้ความแม่นยำของช่างฝีมือดี รวมไปถึงการตกแต่งหน้าปัดด้วยการเคลือบสีต่างๆ ก็อยู่ในแผนกนี้เช่นกัน ถัดมาเป็นห้องประกอบกลไกนาฬิกาที่ต่างจากโรงงานอื่นๆ ช่างนาฬิกาของ Bovet จะทำหน้าที่ประกอบกลไกทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบคนเดียว จากนั้นก็จะถูกส่งไปยังห้องควบคุมคุณภาพเพื่อตรวจเช็คเป็นขั้นตอนสุดท้าย

แล้วกลไกที่ประกอบสำเร็จไปไหนต่อ!!!!

Château de Môtiers
ที่กำเนิดและที่จบของนาฬิกา Bovet
สถานที่อีกแห่งที่นับเป็นหนึ่งในต้นกำเนิดของแบรนด์ก็คือ Château de Môtiers ปราสาทเก่าแก่ที่ก่อสร้างขึ้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13ตั้งตระหง่านท้าทายกาลเวลาอยู่ในละแวกย่าน Fleurier และ Val-de-Travers ปราสาทแห่งนี้เคยถูกขายให้กับสมาชิกตระกูล Bovet เมื่อปี 1853 ก่อนที่ทายาทรุ่นเหลนจะมอบให้เป็นของขวัญกับรัฐบาลในเขตปกครอง Neuchâtel ในปี 1957 ต่อมาในปี 2006 หลังจากที่ มร. ราฟฟี่ สร้างสรรค์นาฬิกา Bovet 1822 ให้กับนักสะสมทั่วโลกได้ระยะหนึ่ง รัฐ Neuchâtel ที่มองหาทางขายปราสาทนี้เนื่องจากค่าบำรุงรักษาสูงเกินไป และเขาก็เป็นผู้ซื้อรายเดียวที่มีศักยภาพในการรักษาแหล่งมรดกอันเปี่ยมเอกลักษณ์ของชาวเมืองได้ในระยะยาว ปราสาทที่มีพื้นที่ 5,800 ตารางเมตร จึงกลายเป็นพื้นที่ของ Bovet 1822 และทำให้แบรนด์หวนคืนสู่บ้านเกิดอีกครั้ง

ปราสาท Château de Môtiers แบ่งออกเป็นพื้นที่ต่างๆ ส่วนอาคารหลักตรงกลางนั้น ถูกตกแต่งให้เป็นเสมือนห้องนั่งเล่นท่ามกลางพิพิธภัณฑ์ที่อวดมรดกอันทรงคุณค่าของ Bovet จากอดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงรางวัลระดับโลกที่ประดับตกแต่งไว้โดยรอบ หนึ่งในผลงานที่ล้ำค่าก็คือ นาฬิกาพกจากปี 1825 ในลวดลาย “Flowers on a Purple Background ที่เรียกได้ว่าเป็นผลงานสุดวิจิตรที่สุดชิ้นหนึ่งของโลก

เมื่อเดินข้ามมายังอีกตึกซึ่งถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ โซนชั้นล่างเป็นพื้นที่ของสำนักงานใหญ่ ที่รวมงานด้านเอกสารและการตลาดไว้ด้วยกัน ขณะที่ชั้นบนนั้นเป็นพื้นที่ของบริการหลังการขาย ซึ่งมีช่างนาฬิกาอยู่จำนวนหนึ่งคอยดูแลรักษาซ่อมแซมนาฬิกาที่ถูกส่งกลับมาเซอร์วิส แต่ถ้าเป็นผลงานที่มีความซับซ้อนสูง บางครั้งก็จะถูกส่งกลับไปที่โรงงาน Bovet 1822 ในเมือง Tramelan แทน

เพราะทริปนี้มีนักสะสมนาฬิกาคนสำคัญของ Bovet 1822 มาร่วมทริปด้วย จึงมีโอกาสได้พบกับ มร.ราฟฟี่ ที่มาต้อนรับพร้อมนำผลงานรุ่นใหม่มาให้ชมกันอย่างใกล้ชิด เรียกว่าโชคดีคูณสองกันเลยทีเดียว

ใครที่ชอบนาฬิกา Bovet 1822 สามารถชมเรือนจริงได้ที่ Cortina Watch หรือ SHH by Pendulum มีเรือนสวยๆ ที่พร้อมจะเผยความอัศจรรย์ให้เห็นอย่างเต็มตา

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้