Retraces the fascinating history of Longines

Last updated: 24 ม.ค. 2566  |  1858 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Retraces the fascinating history of Longines

Saint-Imier เป็นเมืองเล็กๆ ที่มีประชากรอยู่ไม่ถึง 5,000 คน อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสวิตเซอร์แลนด์ อยู่ไม่ไกลจากเมืองเนอชาแตลที่นักท่องเที่ยวคุ้นเคย และเมืองที่มีวิวทิวทัศน์งดงามของทุ่งกว้างใหญ่ ก็คือพื้นที่ตั้งของโรงงานนาฬิกา Longines แบรนด์ที่ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1832 แต่โรงงานแห่งนี้สร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1867 โดย Ernest Francillon หลานชายของ Auguste Agassiz และเป็นผู้สืบทอดการประดิษฐ์นาฬิกาตามเจตนารมณ์ของผู้เป็นลุง

 

 

เมื่อ Ernest Francillon ซื้อพื้นที่และสร้างโรงงานแห่งนี้ เขามีแนวคิดในการขยายการผลิต โดยรวมสายการผลิตตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วนไปจนถึงการประกอบกลไกไว้ใต้หลังคาเดียวกัน สมัยก่อนเป็นกลไกไขลานของนาฬิกาพกที่มีชื่อเสียงอย่างเครื่อง 20A ผลงานแรกเริ่มของโรงงาน Longines และคว้ารางวัลจากงาน Universal Exhibition ในกรุงปารีส ในปี 1867 และเขายังเป็นผู้ที่จดทะเบียนชื่อบริษัท รวมถึงเครื่องหมายการค้ารูป “นาฬิกาทรายติดปีก” ของ Longines ที่เปรียบเสมือนเวลาติดปีกเพื่อการพัฒนาสู่อนาคตอันมั่นคง และจดทะเบียนตราสัญลักษณ์กับสำนักงานดูแลทรัพย์สินทางปัญญาของสวิส ซึ่งสัญลักษณ์ของแบรนด์ Longines ยังเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดสิทธิบัตรที่เก่าแก่ที่สุดในอุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกาด้วย

เรื่องราวความเป็นมาของแบรนด์ ได้รับการบันทึกและเก็บสะสมไว้ภายในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรงงาน Longines บนพื้นที่กว้าง 550 ตารางเมตร อย่างที่รู้กันดีว่า Longines เป็นสมาชิกของ Swatch Group มาตั้งแต่ปี 1983 แต่สำหรับส่วนพิพิธภัณฑ์ได้รับการบูรณะปรับปรุงโครงสร้างล่าสุดเมื่อปี 2012 เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัยและมีบันทึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของแบรนด์ที่ครบถ้วนที่สุดแห่งหนึ่งเลยทีเดียว เฉพาะห้องสมุด มีหนังสือที่ถูกบันทึกไว้มากถึง 12,000 เล่ม ในจำนวนนั้นมีกว่า 800 เล่มที่บันทึกนาฬิกาที่ได้รับการผลิตขึ้นตั้งแต่เรือนแรกในยุคที่ Agassiz เริ่มต้นการค้าระหว่างปี 1867-1969 รวมไปถึงข้อมูลต่างๆ มากมาย บันทึกเหล่านี้ไม่ใช่แค่ข้อมูลอ้างอิงที่สำคัญเท่านั้น แต่ยังเป็นบทพิสูจน์ความมั่นคงและพัฒนาการที่ไม่สิ้นสุดของแบรนด์มาโดยตลอด

 

 

นอกจากส่วนของห้องสมุดแล้ว ผมยังได้เห็นการพัฒนารูปแบบของโลโก้แบรนด์ Longines นับจากปีแรกที่ออกแบบ และมีการเปลี่ยนแปลงมาหลายดีไซน์จนกระทั่งปี 1974 ถึงได้โลโก้ที่ใช้กันอยู่จนถึงทุกวันนี้ รวมไปถึงชุดกลไกที่ Longines ได้พัฒนาขึ้น ตั้งแต่ยุคแรก ไม่ว่าจะเป็นกลไกชุดแรก คาลิเบอร์ 20H, ชุดกลไกในตำนานอันยิ่งใหญ่อย่าง 13ZN กลไกโครโนกราฟสำหรับนาฬิกาข้อมือ หรือแบบองกลไกคาลิเบอร์ 22A รวมถึงกลไกควอตซ์สำหรับนาฬิกาที่เรียกว่าเป็นชุดควอตซ์บางพิเศษ ที่ส้ะอนถึงเทคนิคอันยอดเยี่ยมของข่างนาฬิกา Longines เช่นเดียวกับการพัฒนากลไกเรือนบางที่สุดเพียง 1.98 มิลลิเมตรที่ผลิตในปี 1979 เคยได้รางวัล Feuille d’ Or มาแล้ว ทุกชุดกลไกที่เรียงรายสะท้อนถึงความใส่ใจและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ที่หากใครสนใจเรื่องการพัฒนาของกลไกจักรกลและควอตซ์ในแต่ละยุค พิพิธภัณฑ์แห่งนี้น่าจะให้คำตอบและไขข้อข้องใจได้ในหลายๆ มุมมองเลยครับ

เคียงคู่ไปกับการพัฒนาชุดกลไก นาฬิกาที่ทำให้ผมได้ย้อนรอยประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่กว่า 185 ปีของแบรนด์ก็มีให้ชมกว่า 500 เรือน จากจำนวนทั้งสิ้นที่แบรนด์เก็บไว้มากกว่า 10,000 เรือน ที่หากเทียบกับจำนวนที่ Longines ผลิตนาฬิกาออกมาจำหน่ายมากกว่า 50 ล้านเรือน ก็นับว่าเป็นจำนวนส่วนน้อยมาก แต่ล้วนเป็นเรือนสำคัญที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ก็ยังมีเอกสารสำคัญทั้งแบบร่างดีไซน์ แบบแผนโครงสร้างของกลไก รายชื่อลูกค้าคนสำคัญจากอดีต เอกสารและจดหมายเหตุต่างๆ ที่น่าสนใจคือ Longines ยังได้พัฒนาระบบการบันทึกนาฬิกาทุกเรือนที่ได้รับการผลิตจากโรงงานนับตั้งแต่มีการก่อตั้งในฐานข้อมูลที่เรียกว่า Longines Electronic Archives (LEA) ซึ่งใช้เวลานานกว่า 3 ปีกว่าจะบันทึกได้หมด ซึ่งผู้ใช้สามารถติดตามข้อมูลของนาฬิกาที่จำหน่ายออกไปทั้งหมายเลขประจำเรือน หมายเลขอ้างอิง หมายเลขเครื่อง รหัสเครื่อง รวมไปถึงข้อมูลสำคัญของรุ่นนั้นๆ ด้วย

 


 

อีกมุมที่เรียกว่าเป็นไฮไลท์ของพิพิธภัณฑ์และเป็นตำนานอันทรงคุณค่าของแบรนด์คือโซนที่อุทิศให้กับจิตวิญญาณแห่งการสำรวจและผจญภัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นแบรนด์ Longines ที่ร่วมเป็นในภารกิจการสำรวจโลกกับนักบินและนักสำรวจไม่ว่าจะเป็น Charles Lindbergh, Philip van Horn Weems, Roald Amundsen, Amelia Earhart และ Paul-Emile Victor ซึ่งในห้องนี้ไม่ได้มีเพียงนาฬิกาเรือนสำคัญของแต่ละภารกิจเท่านั้น แต่ยังตกแต่งด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการสำรวจ การบินและการผจญภัย รวมไปถึงภาพยนตร์ของการผจญภัยครั้งสำคัญนั้นๆ

 

 

Longines ยังนำเอาประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันธ์กับกีฬามาจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย อย่างที่หลายคนรู้กันดีกว่า Longines เคยได้รับเลือกให้เป็นผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการในกีฬาโอลิมปิกมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังมีอีกหลายประเภทกีฬาที่แบรนด์ร่วมให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการขี่ม้า เป็นหนึ่งในประเภทกีฬาที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกับ Longines มายาวนานมาก ย้อนหลังไปได้ถึงปี 1878 เมื่อแบรนด์ผลิตนาฬิกาที่มีระบบจับเวลาโครโนกราฟ สลักรูปม้าแข่งและนักขี่ม้า ซึ่งต่อมากลายเป็นนาฬิกาที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้เข้าชมการแข่งม้าในสนามม้าที่สหรัฐอเมริกา และแบรนด์ยังกลายเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการให้กับการแข่งขันขี่ม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวางระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกในปี 1912 ซึ่งปัจจุบัน Longines มีส่วนร่วมในกีฬาขี่ม้ารายการสำคัญระดับโลกหลายรายการ รวมไปถึงการจัดอันดับโลกของกีฬาขี่ม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวางของสหพันธ์แข่งม้านานาชาติ IFHA ที่มีการประกาศผลประจำปีในเดือนมกราคม ล่าสุด Longines ก็เพิ่งประกาศให้ Arrogate ม้าแข่งสัญชาติอเมริกันพันธุ์เธอร์รัพเบรด ได้ตำแหน่งม้าแข่งยอดเยี่ยมที่สุดในโลกประจำปี 2017 และได้ติดต่อกันเป็นสมัยที่ 2 และรายการแข่งขัน Qatar Prix de l’Arc de Triomphe ได้รับเลือกให้เป็นรายการแข่งขันม้ายอดเยี่ยมที่สุดในโลก

 

 

ไม่เฉพาะกีฬาและการผจญภัยเท่านั้น หากนึกถึงความงามสง่า แบรนด์ Longines ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้เช่นกัน ที่คุ้นตาผมที่สุดก็คือภาพของนางเอกสาวอมตะอย่าง ออเดรย์ เฮปเบิร์น เจ้าหญิงแห่งฮอลลีวู้ดที่เคยปรากฏภาพบนงานโฆษณาของแบรนด์มาแล้ว หรือยุคปัจจุบันของทูตพิเศษของแบรนด์อย่าง ไซม่อน เบเกอร์ พระเอกจากซีรีส์ยอดฮิต The Mentalist ก็ล้วนแต่เผยมุมด้านความงามสง่าเหมือนกัน ซึ่ง Longines ก็ได้สะท้อนมุมแห่งความสง่างามบนนาฬิกาหลายรุ่นที่มีให้ชมในโซนเฉพาะ

พิพิธภัณฑ์ Longines เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้ แต่ต้องนัดหมายล่วงหน้าผ่านทางเว็บไซต์ของแบรนด์ ใครสนใจก็ลองชมภาพแบบ 360 องศาบนเว็บไซต์ก่อนก็ได้นะครับ แต่ผมบอกเลยว่า ของจริงดีกว่าโลกดิจิตอล อยากให้ทุกท่านที่มีโอกาสเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ ได้แวะไปเยี่ยมชมกันครับ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้