De Bethune - DB28GS 'JPS'

Last updated: 12 เม.ย 2565  |  895 จำนวนผู้เข้าชม  | 

De Bethune - DB28GS 'JPS'

JPS ย่อมาจาก John Player Special นั้น นับเป็นสามตัวอักษรที่ชวนให้หวนนึกถึงสัมพันธภาพแห่งตำนานของเฉดสีดำและทอง ที่มากไปกว่าการเป็นแบรนด์ แต่เป็นอาณาจักรทั้งหมดและเป็นดั่งรหัสสีไอคอนิก ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของ Team Lotus พร้อมทั้งการปฏิวัติครั้งใหม่ในทุกมิติ โดยเฉพาะรถแข่งที่มิอาจเอาชนะได้ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จสูงสุดในช่วงเวลาของพวกเขา และบ่อยครั้ง ยังได้รับการยกย่องในฐานะรถแข่งสูตรหนึ่งอันสวยงามที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา! JPS จึงเปรียบดั่งความใฝ่ฝันแห่งจักรกล และการสืบทอดซึ่งชัยชนะ นับจากถ้วยรางวัลคอนสตรัคเตอร์ส เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ (Constructors’ World Championship) ถึงเจ็ดครั้ง และรางวัลไดรเวอร์ส เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ (Drivers’ World Champhionship) อีกหกครั้งที่ได้ร่วมสร้างไว้โดยเหล่านักขับแห่งตำนาน อาทิ จิม คลาร์ก (Jim Clark), เกรแฮม ฮิลล์ (Graham Hill), โยเชน รินดท์ (Jochen Rindt), เอเมอร์สัน ฟิตติพาลดิ (Emerson Fittipaldi), มาริโอ อันเดรตติ (Mario Andretti)… และนั่นคือยุคสมัยที่ไม่มีใครเหมือน!

ในวันเวลาที่เรานั้นยังเป็นเด็กชายและเด็กหญิง ณ ช่วงต้นยุค 1970s ย่อมจดจำได้ดีกับภาพของบรรดา ‘จรวด’ สีดำและทองที่ผ่านสายตาเราในช่วงวัยรุ่น โดยมีภาพของเหล่านักแข่งและชุดสีดำและทอง กับหมวกกันน็อคสีดำและทอง หรือแม้แต่ภาพของทีมวิศวกรที่ทำงานอย่างรวดเร็ว ซึ่งเรามีโอกาสได้เห็นเป็นครั้งแรกๆ จากการติดตั้งด้วยกล้องต่างๆ ภายในพิตส์...

โดยมีรถ Lotus JPS เป็นหนึ่งในรถแข่งแบบที่นั่งเดี่ยวคันแรกๆ ที่ได้ร่วมใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหลักอันล้ำสมัย ณ ช่วงเวลานี้ด้วย เช่นเดียวกับการวิจัยด้านหลักอากาศพลศาสตร์หรือแอโรไดนามิกส์ รวมถึงการพัฒนาด้านต่างๆ โดยมีคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยเป็นครั้งแรกๆ ..F1 จึงนับเป็นการสร้างรูปให้กับภาพแห่งจินตนาการที่สั่งสมมานานสู่ความเป็นจริง ภายใต้เฉดสีดำแห่งความน่าเกรงขามและรุนแรงที่ได้จับคู่มากับสีทองแวววาวอันทรงเกียรติและสง่างาม ซึ่งนั่นทำให้ JPS ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งยุค 1970s และในวันนี้ De Bethune ได้ดึงแรงบันดาลใจนี้มาใช้สร้างสรรค์ในเวอร์ชันใหม่ของนาฬิกาสปอร์ต DB28GS ‘JPS’ นาฬิกาสไตล์สปอร์ตด้วยลุคสีดำและทอง ตัวแทนจิตวิญญาณอันกล้าแกร่งของ ‘JPS’ แห่งยุคสมัย

ด้วยความปิติยินดี ที่เดนิส ฟลาจีโอลเลต (Denis Flageollet) และทีมของเขาได้หวนย้อนกลับสู่ช่วงเวลาอันยิ่งใหญ่ และพร้อมปลดปล่อยพลังในการพัฒนาปรับปรุงการปรับจูนนาฬิกาสปอร์ตเรือนแรกของเขา อย่าง DB28GS เพื่อนำเสนอเวอร์ชันใหม่ของเฉดสีดำและทอง ภายในตัวเรือนสตีล, ไทเทเนียม และเซอร์โคเนียม

โดยผ่านการพัฒนาปรับปรุงความแตกต่างด้านโครงสร้างมาอย่างต่อเนื่อง ที่มอบมิติซึ่งตัดกันระหว่างการตกแต่งแบบขัดเงาและด้าน สีเทาเข้มและดำสนิท ขณะเดียวกันยังเติมเต็มไว้ด้วยรายละเอียดอันแวววาวของทอง ซึ่งจริงๆ แล้วนั้นคือไทเทเนียมสีเหลือง ที่ได้มอบโอกาสใหม่ของการแสดงออกให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญของ De Bethune ในการจัดการกับปฏิกิริยาออกซิเดชันของไทเทเนียมและแถบสีสันต่างๆ โดยมีสี De Bethune blue ที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์และการบุกเบิกของแบรนด์ ซึ่งในวันนี้ได้สืบทอดไว้โดยสีเหลืองทอง โดยผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ที่ต้องอาศัยซึ่งเทคนิคการประกอบใหม่ รวมถึงทักษะการสร้างลวดลายใหม่ ที่ทั้งหมดนั้นล้วนได้รับความร่วมมือจากเดนิส ฟลาจีโอลเลต และทีมของเขาในการพัฒนา เพื่อนำพาให้โครงการนี้มาสู่ผลิตผลแห่งความสำเร็จ ทั้งยังมอบซึ่งการอุทิศอย่างแรงกล้าให้กับยุคสมัยอันมิอาจต้านทานได้แห่งการค้นพบความไฮเทคล้ำสมัย

การหลอมรวมแห่งจักรกล
ในปี ค.ศ. 1978 Lotus 78 JPS Mark III ได้สร้างการปฏิวัติให้กับหลักแห่งอากาศพลศาสตร์ของการแข่งขันความเร็วยานยนต์ ด้วยโครงร่างใหม่ทั้งหมดของปีกที่แหงนขึ้น จึงทำให้สามารถยกกำลังแรงดึงดูดได้ ซึ่งช่วยให้รถแข่งสามารถ ‘เกาะหนึบ’ กับสนามแข่งขัน นับเป็นการหลอมรวมทั้งความโดดเด่นพิเศษ นวัตกรรมและความท้าทายอย่างแท้จริง พร้อมทั้งความทุ่มเทให้กับการค้นพบซึ่งพรมแดนแห่งสมรรถนะสูงสุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และการจัดการด้วยเทคนิคเฉพาะหนึ่งเดียวนี้เองที่ทำให้ มาริโอ อันเดรตติ ได้กลายเป็นหนึ่งในตำนานจากความสามารถของเขา โดยมีทีมโลตัสเป็นผู้ร่วมสร้างความสำเร็จไปกับเขา

เฉกเช่นเดียวกับเหล่าวิศวกรของทีมแข่งรถสูตรหนึ่งที่กำลังมุ่งมั่นพยายามพัฒนาปรับปรุงหลักการด้านอากาศพลศาสตร์ของรถแข่งที่นั่งเดี่ยวของพวกเขา (เพื่อเพิ่มแรงดึงดูดของรถบนสนามแข่ง) ที่ในเวลาเดียวกันนั้น เดนิส ฟลาจีโอลเลตและทีมแห่ง เดอ บีธูน ได้ทำงานอย่างทุ่มเทเช่นกันในการพัฒนาปรับปรุงสมรรถนะของอุปกรณ์ชิ้นส่วนควบคุมของกลไก ซึ่งนั่นยังเชื่อมโยงสัมพันธ์ถึงการเสริมหลักอากาศพลศาสตร์ของบาลานซ์ แต่ต่างวัตถุประสงค์ไปจากโลกของการแข่งขันความเร็วรถยนต์ กับการเสาะหาวิธีที่จะกำจัดแรงดึงดูดของบาลานซ์เข้าหาแท่นเครื่อง

เพื่ออธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น พวกเขากำลังย้อนกลับไปมองถึงคุณลักษณะของอากาศที่มีความลื่นไหล แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นได้ โดยนักคณิตศาสตร์ชาวสวิส ดาเนียล แบร์นูลลี (Daniel Bernoulli) ได้พัฒนาหลักการที่กล่าวว่าภายในการไหลของของเหลวนั้น มีการเร่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลันซึ่งสอดคล้องสัมพันธ์กับการลดลงของแรงกดอากาศ และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้เครื่องบินสามารถบินได้ ด้วยปีกที่มีสองโครงร่างแตกต่างกัน โดยด้านหนึ่งมีความโค้งทำให้อากาศผ่านไปได้เร็วกว่า (เพราะครอบคลุมระยะทางที่มากกว่า) ขณะที่อีกด้านหนึ่งนั้นอากาศไหลได้ช้ากว่า และด้วยความแตกต่างของแรงกดอากาศนี้จึงทำให้เกิดการยกตัว และช่วยให้เครื่องบินสามารถบินได้

นั่นเป็นสิ่งเดียวกันกับที่เดนิส ฟลาจีโอลเลต พยายามที่จะนำมาปรับใช้กับบาลานซ์ของเขา โดยการให้บาลานซ์ผ่านอย่างใกล้ชิดกับแท่นเครื่อง เพื่อให้เกิดซึ่งแรงดึงดูด เช่นในกรณีของรถแข่ง ปีกที่แหงนขึ้นทำให้เกิดแรงยกลบที่ผลักให้รถสามารถพุ่งทะยานไปข้างหน้าบนสนามแข่งขัน ทั้งยังเพิ่มการเกาะยึดของยาง จึงทำให้สามารถวิ่งได้เร็วขึ้นรอบขอบสนาม ขณะที่ในบาลานซ์ของ De Bethune นั้นมีผลตรงกันข้าม โดยเป็นการมอบผลลัพธ์แบบเดียวกับจาก “ปีกเครื่องบิน” แต่เป็นการยกขึ้นด้วยความเบาที่เกือบจะทำให้บาลานซ์เหล่านั้นเสมือน “บิน” 

และขณะที่แรงดึงดูดนั้นมีพลังมากขึ้นด้วยการเร่งความเร็ว สิ่งเดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นเช่นกันในระหว่างการเร่งระยะของบาลานซ์ ดังนั้น จึงเหมือนกันกับรถสูตรหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากปีกที่แหงนขึ้น เพื่อกดให้รถยึดกับพื้นสนามได้มากขึ้นเมื่อเร่งความเร็ว ทว่า ประโยชน์ที่ได้นี้มีประสิทธิผลในทางตรงกันข้ามสำหรับบาลานซ์ ซึ่งใช้กระบวนการของปีกเครื่องบินนี้เพื่อหลีกเลี่ยงจากการถูก ‘ดัน’ เข้าหาแท่นเครื่อง

ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค DLC
คล้ายกันกับที่ทีมวิศวกรเอฟ1 ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญกลุ่มแรกๆ ที่ทำงานกับเทคนิคการเคลือบต้านแรงเสียดทานอย่าง DLC – Diamond-Like Carbon เพื่อช่วยลดแรงเสียดสีของชิ้นส่วนโลหะภายในเครื่องยนต์ และดังนั้น จึงช่วยพัฒนาปรับปรุงสมรรถนะของรถยนต์ได้ด้วย ที่เดนิส ฟลาจีโอลเลต และทีมของเขาได้ทำงานกับคุณสมบัติอันน่ามหัศจรรย์ของการเคลือบ ดีแอลซี นี้บนสตีลผ่านการทำให้แข็งเช่นกัน เพื่อพัฒนาปรับปรุงด้านความทนทานของชิ้นส่วน อาทิ หูตัวเรือนเชื่อมสาย และขอบตัวเรือนแบบลอยเคลือบสีดำของนาฬิกา

ทว่า บ่อยครั้งที่การเคลือบนี้มักถูกนำมาใช้อย่างไม่เหมาะสมเท่าใดนักในโลกของการประดิษฐ์นาฬิกา ด้วยเพราะเป็นการใช้บนวัสดุที่อ่อนมากเกินไป อาทิ สเตนเลสสตีล 316แอล (316L) หรือไทเทเนียม ซึ่งนั่นอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนรูปได้ภายใต้ชั้นของ DLC หรือแม้แต่อาจทำให้เปราะได้ ดังนั้น เดอ บีธูน จึงเลือกใช้การเคลือบ DLC นี้เฉพาะกับสเตนเลสสตีลที่ผ่านความร้อนเพื่อทำให้มีความแข็งพิเศษ เหมือนกับสเตนเลสสตีลที่นำไปใช้ในเครื่องยนต์ หรือเครื่องมือศัลยกรรมที่มีความคม โดยชั้นดีแอลซีแข็งนี้จะยึดติดได้อย่างสมบูรณ์แบบกับวัสดุที่มีความแข็ง และไม่ถูกทำลายโดยสิ่งกระทบต่างๆ (ไม่เหมือนกับการเคลือบดีแอลซี ที่นำมาใช้กับวัสดุที่อ่อนเกินไป) และในทางตรงกันข้ามนั้น การเคลือบนี้ยังจะยิ่งช่วยพัฒนาคุณภาพโดยรวมได้อีกด้วย ขณะที่ธีมสีทูโทนของ DB28GS 'JPS' นั้นเปรียบได้กับความมืดและสว่าง ความด้านและเงาวาว อันเป็นคุณสมบัติของการผสมผสานระหว่างแสงสว่างและความเรืองปัญญา

นับเป็นเวลาสิบปี ที่ De Bethune ได้เริ่มต้นพัฒนาเรือนเวลาซึ่งอาบไว้ด้วยจิตวิญญาณอันร่วมสมัยเหนือกว่า เหมือนเช่นที่ถ่ายทอดไว้ในนาฬิการุ่นแรกของ DB28 ซึ่ง ณ เวลานั้น เดนิส ฟลาจีโอลเลต ผู้ก่อตั้งและช่างนาฬิการะดับมาสเตอร์ของ เดอ บีธูน และเป็นผู้ที่ชื่นชอบในกีฬากลางแจ้งอันท้าทาย รับรู้ได้ถึงความต้องการนาฬิกาซึ่งเหมาะสำหรับไลฟ์สไตล์แอคทีฟเหล่านี้

โดยมีพื้นฐานมาจากการสังเกตเห็นว่านาฬิกาสปอร์ตนั้น จำเป็นต้องมอบซึ่งความสามารถในการมองเห็นได้ในทุกสภาวการณ์ของทั้งสภาพอากาศและสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงเกิดเป็นกลไกซึ่งถูกพัฒนาขึ้นจากช่วงเริ่มต้นที่มีรูปแบบของการให้แสงสว่างกับหน้าปัดและกลไกจากด้านใน โดยแหล่งกำเนิดของแสงสีขาวนั้นถูกผลิตขึ้นโดยวิธีการทางจักรกลทั้งหมด และทำงานบนหลักการที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือไดนาโม

แม้ไม่มีกระแสไฟฟ้า ไม่มีแบตเตอรี ทว่า เป็นการทำงานของจักรกลทั้งหมด... โดยปุ่มกดที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกาจะทำหน้าที่มอบแสงไฟสว่างได้ตามต้องการ อันเป็นผลลัพธ์มาจาก gear train ซึ่งขับเคลื่อนโดยตลับลานคู่ และโดยวิธีการเดียวกันกับการจำลองย่อส่วนมาจากไดนาโมแบบดั้งเดิม ที่เกียร์เทรนนี้ได้มอบพลังงานที่จำเป็นสำหรับการให้แสงสว่างขึ้นบนหน้าปัดของนาฬิกา โดยที่ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อกระบวนการทำงานและพลังงานที่จำเป็นสำหรับขับเคลื่อนการทำงานอย่างราบรื่นของกลไก ความท้าทายอย่างแท้จริงนี้จึงอาจเปรียบได้กับกระบวนการทำงานทางเทคนิคขั้นสูงของกลไกจักรกลตีบอกเวลา (minute repeater) ที่ต้องอาศัยทั้งประสิทธิภาพสูงสุดของการให้พลังงานโดยรวม และต้องสามารถควบคุมได้อย่างสมบูรณ์แบบเช่นกัน โดยแสงสว่างเพียงไม่กี่วินาทีนั้น มากเพียงพอสำหรับการอ่านค่าเวลาหรือแม้แต่ในเวลากลางคืน และฉายให้ ดีบี28จีเอส ‘JPS’ ถ่ายทอดถึงรูปโฉมสีดำและทองได้อย่างโดดเด่น แม้ในที่มืด

รับกับสรีระและสะดวกสบาย
ท้ายสุดนั้น เรือนเวลา DB28 GS ซึ่งแรกเริ่มเปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 2015 ก็ได้มาบรรจบกับแรงบันดาลใจแห่งสไตล์สปอร์ต อันเปี่ยมด้วยเทคนิคและความสวยงามของเดอ บีธูน โดยมีตัวเรือนวัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ 44 มม. พร้อมประสิทธิภาพของการกันน้ำได้ลึกระดับ 105 เมตร ที่ DB28GS 'JPS' นี้อยู่เหนือซึ่งความคาดหมาย และมอบซึ่งความสะดวกสบายให้กับผู้สวมใส่ตามหลักการของ De Bethune อย่างแท้จริง ทั้งยังมอบความสะดวกสบายอันแสนพิเศษจากการผสมผสานระหว่างเซอร์โคเนียมสีดำและสเตนเลสสตีล ที่ถ่ายทอดด้วยความนุ่มนวลประณีตของงานการตกแต่งขัดเงาด้วยมือ รวมถึงเม็ดมะยม ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกา และเหนืออื่นใดคือการปรากฏของระบบหูตัวเรือนเชื่อมสายแบบลอยผ่านการจดสิทธิบัตรของแบรนด์ ซึ่งมาพร้อมด้วยปลายทรงกรวยอันเป็นเอกลักษณ์ มอบความโดดเด่นมากกว่าที่เคย ทั้งยังประกอบด้วยการแทรกไทเทเนียม เกรด 5 สีเหลืองขัดเงา ซึ่งชวนให้หวนนึกถึงด้านข้างของตัวเรือน กับผลลัพธ์อันทรงคุณค่านั่นคือโครงสร้างซึ่งสามารถปรับให้รับไปกับแต่ละขนาดข้อมือ และทุกๆ วิถีการเคลื่อนไหวได้อย่างดีเยี่ยมเสมอ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้