VAN CLEEF & ARPELS Time, Nature, Love Exhibition

Last updated: 16 ธ.ค. 2566  |  1742 จำนวนผู้เข้าชม  | 

VAN CLEEF & ARPELS Time, Nature, Love Exhibition

นิทรรศการ Van Cleef & Arpels: Time, Nature, Love ซึ่งจะจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์สถาน D Museum ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน 2023 จนถึงวันที่ 14 เมษายน 2024 นี้ เป็นการแสดงความเกริกไกรในอาณาจักรแห่งเมซงผู้สร้างสรรค์เครื่องประดับชั้นสูงผ่านการรวบรวมผลงานเครื่องประดับอัญมณี, นาฬิกาข้อมือ และศิลปวัตถุล้ำค่ากว่า 300 ชิ้น ซึ่งมีการสรรค์สร้างขึ้นนับแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1906 อีกทั้งยังรวมถึงงานต้นแบบกว่า 90 ชิ้นจากแผนกจัดเก็บเอกสาร และหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมซง

ในโอกาสสำคัญอันหาได้ยากยิ่งครั้งนี้ บรรดาเอกสารสำคัญตลอดจนภาพวาดลายเส้นร่างแบบ และภาพลงสีกูยาชระบุรายละเอียดทางการขึ้นแบบ อันล้วนถือเป็นขั้นตอนแรกในกระบวนการสร้างสรรค์ ต่างถูกรวบรวมมาจัดแสดงเคียงข้างกับเหล่าผลงานล้ำค่าจากคอลเลกชันส่วนตัวของ Van Cleef & Arpels เช่นเดียวกับเหล่าชิ้นงานซึ่งหยิบยืมมาจากคอลเลกชันส่วนตัวของบุคคล หรือสถาบันต่างๆ

จากการคัดเลือกอย่างพิถีพิถันของภัณฑารักษ์สำหรับนิทรรศการครั้งนี้ ซึ่งก็คืออัลบา กัปปาเลียริ (Alba Cappellieri) นักวิชาการสัญชาติอิตาเลียน อีกทั้งยังเป็นนักเขียน และผู้อำนวยการฝ่ายประจำแผนกเครื่องประดับแฟชัน และอัญมณี Jewelry & Fashion Accessories ของวิทยาลัยสารพัดช่างแห่งกรุงมิลาน (Politecnico di Milano) ผลงานทั้งหลายซึ่งถูกนำมาจัดแสดงครั้งนี้ได้ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน ประกอบไปด้วย “กาลเวลา” (Time), “ธรรมชาติ” (Nature) และ “ความรัก” (Love) เพราะศิลปะแห่งเครื่องประดับอัญมณีมีความเกี่ยวพันซับซ้อนกับช่วงเวลาของแต่ละยุคสมัย โดยอาศัยการจัดสัดส่วนอันได้สมดุลระหว่างบทบรรจบของกระแสยุคสมัย ซึ่งจะผันผ่านไปอย่างรวดเร็วตามกาลเวลา กับการเป็นวัตถุให้จับต้อง ซึ่งจะคงอยู่เป็นการถาวร เช่นเดียวกับกระบวนการผลิต ที่ดำเนินขึ้นตามแบบแผน หรือขนบธรรมเนียมดั้งเดิมกับคุณค่าของการเป็นผลงานสะท้อนถึง “แฟชัน” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือกระแสสมัยนิยม นิทรรศการครั้งนี้จึงเป็นบทสรุปความสามารถอันเป็นเลิศของ Van Cleef & Arpels ในการนำเศษเสี้ยวแห่งความเป็นศตวรรษที่ 20 แง่มุมต่างๆ จากแต่ละยุคมาร้อยเรียงอย่างต่อเนื่องพร้อมกันในคราวเดียวเพื่อถ่ายทอดค่านิยมแห่งความงามอันอยู่เหนือกระแสสมัยนิยม และยังแสดงถึงพลังทางการสร้างสรรค์ที่จะจุดประกายความรู้สึก ปลุกจินตนาการขึ้นในใจของผู้พบเห็น

ด้วยแรงบันดาลใจจาก “ประมวลหกหมายเหตุของสหัสวรรษต่อไป” หรือ Six Memos for the Next Millennium ผลงานของนักเขียนอิตาโล กัลวิโน (นักเขียน และนักข่าวหนังสือพิมพ์ชื่อดังผู้มีอายุอยู่ระหว่างปีค.ศ. 1923-1985) อัลบา กัปปาเลียริได้เลือกแนวคิดหลักทางบริบทงานเขียนชิ้นนี้มาใช้ตีความการสรรค์สร้างผลงานต่างๆ ของเมซง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นว่าด้วยความสอดคล้อง หรือความเกี่ยวพันกับช่วงเวลาของแต่ละยุคสมัย ดังนั้นการจัดแสดงลำดับแรกอันได้แก่ Time หรือ “กาลเวลา” จะครองพื้นที่การจัดแสดงถึงสิบห้องเพื่อเป็นเล่าเรื่องราวแง่มุมต่างๆ อันถือเป็นสัญลักษณ์ หรือตัวแทนของช่วงเวลาตามยุคสมัย

โดยที่ปฐมบทของผลงานกลุ่มนี้ จะนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับมหานครปารีสภายใต้ชื่อหัวข้อ Paris และตามมาด้วย Elsewhere หรือ “อารยศิลป์ต่างถิ่น” ก่อนจะเป็นห้าค่านิยมสำคัญตามแนวทางของกัลวิโน นั่นก็คือLightness อันหมายถึง “ความเบา”, Quickness คือ “ความเร็ว”, Visibility คือ “ความชัดเจน”, Exactitude หมายถึง “ความแม่นยำ” และ Multiplicity ซึ่งก็คือ “ความหลากหลาย” ส่วนห้องถัดๆ ไปคือการแสดงผลงานอันเป็นจุดบรรจบทางความคิด หรือแรงบันดาลใจที่เรียกว่า Intersections นั่นก็คือการสรรค์สร้างผลงานซึ่งเชื่อมโยงถึงศิลปะแขนงอื่นๆ อย่างแฟชัน หรือศิลปะทางการตัดเย็บ, ศิลปะนาฏกรรม และสถาปัตยกรรม จากนั้น ผลงานส่วนที่สองของนิทรรศการก็คือการยกย่องธรรมชาติหรือ Nature อันประกอบไปด้วยผลงานกลุ่ม “สัตวชาติ” (Fauna), “รุกขชาติ” (Botany) และ “พฤกษชาติ” (Flora) ท้ายที่สุด ในห้องจัดแสดงผลงานซึ่งอาศัยแรงบันดาลใจจากความรักหรือ Love ก็จะสะกดอารมณ์ของผู้เข้าชมไปกับสัญลักษณ์ และของขวัญสื่อรัก อันล้วนเป็นบทสรุปอำนาจแห่งหลากอารมณ์ ในขณะเดียวกัน บางชิ้นก็เป็นตัวแทนตำนานรักสุดโรแมนติกแห่งศตวรรษที่ 20

ผลงานหายากที่ผ่านการคัดเลือกอย่างพิถีพิถันเหล่านี้ ถูกนำมาจัดวางท่ามกลางภาพมิตินิทรรศการอันชวนให้ดื่มด่ำประทับใจจากฝีมือของศิลปิน-นักออกแบบสากลโยฮานนา กราวุนเดอร์ (Johanna Grawunder) ผู้ใช้แสงสีจากหลอดไฟนีออนสร้างบรรยากาศลึกลับสุดวิจิตรบรรจงบนพื้นที่จัดงาน รวมถึง “ประติมากรรมโปร่งใสไร้ตัวตน” ในห้องจัดแสดงผลงานกลุ่ม “ความรัก” หรือ Love พร้อมกันนั้น ไมกาล บาตอรี นักออกแบบกราฟิกยังมาร่วมประดิษฐ์ตัวอักษรเฉพาะกาล และวิดิทัศน์พิเศษสำหรับนิทรรศการครั้งนี้ ทั้งสองได้ร่วมกันยกย่องสไตล์อันอยู่เหนือกระแสความนิยมทางยุคสมัยของเมซงให้ปรากฏอย่างชัดเจน
นิทรรศการ “กาลเวลา, ธรรมชาติ และความรัก” หรือ Time, Nature, Love คือการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้ค้นพบ ทำความรู้จัก และเข้าใจต่อมุมมองสุนทรีย์ในผลงานต่างๆ ซึ่ง Van Cleef & Arpels อาศัยทักษะความชำนาญทางหัตถศิลป์งานฝีมือในการหลอมรวมองค์ประกอบต่างๆ ให้กลมกลืนเข้าด้วยกันอย่างลงตัว จนควรค่าต่อการเป็น “ศิลปะ” อย่างแท้จริง

บทสัมภาษณ์พิเศษ

สองกุญแจสำคัญของการจัดนิทรรศการครั้งนี้คือ Nicolas Bos ประธาน และหัวหน้าคณะกรรมการบริหารของ Van Cleef & Arpels และ Alba Cappellieri ภัณฑารักษ์ผู้ดูแลผลงานในการจัดนิทรรศการ “Van Cleef & Arpels: Time, Nature, Love”  ร่วมแบ่งปันความคิดเห็นและมุมมองต่อนิทรรศการในครั้งนี้

ช่วยเล่าถึงจุดเริ่มต้นการร่วมงานกับอัลบา กัปปาเลียริในการจัดนิทรรศการครั้งนี้

Nicolas Bos: ผมได้พบกับอัลบา กัปปาเลียริ ซึ่งเป็นผู้ชำนาญด้านเครื่องประดับอัญมณีประจำสถาบัน Creative Academy โรงเรียนสอนการออกแบบของกลุ่มบริษัทริชม็องต์ (Richemont Group) ที่กรุงมิลานประมาณสองสามปีก่อน เธอทำการสอนอยู่ที่นั่น และผมพบว่าการบรรยายของเธอนั้นช่างน่าสนใจอย่างยิ่ง จากนั้น พอเราวางแผนจัดนิทรรศการขึ้นที่ Palazzo Reale (ปาลาซโซ เรอาเล) ในกรุงมิลาน ผมก็คิดว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่เราจะให้เธอมารับหน้าที่ภัณฑารักษ์คัดกรองผลงาน เราต้องการให้เธอนำเสนอมุมมองเฉพาะตัวอันมีต่อเมซงผ่านโครงการระดับปรากฏการณ์ซึ่งมีรากฐานกระบวนทัศน์มาจากผลงานของอิตาโล กัลวิโน ด้วยเหตุนั้น นิทรรศการ “กาลเวลา, ธรรมชาติ และความรัก” จึงได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่มิลานระหว่างปีค.ศ. 2019-2020 จากนั้น ในปี 2022 เราได้จัดนิทรรศการครั้งนี้ขึ้นอีกครั้งที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย Power Station of Art ในนครเซี่ยงไฮ้ ตามมาด้วยที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติซาอุดิอารเบียตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเมษายนปี 2023 ที่ผ่านมาสำหรับวันนี้ เรามีความภูมิใจอย่างยิ่งที่นิทรรศการสัญจรมาสู่ D Museum ในกรุงโซล สถานที่ซึ่งเมซงได้เข้ามามีบทบาททางภูมิทัศน์วัฒนธรรมตั้งแต่ปีค.ศ. 2016 ผ่านการจัดนิทรรศการ The Art of Clip ด้วยการนำเสนองานตัดต่อ ลำดับภาพจากคลิปภาพยนตร์หลายชุดอันผ่านการคัดเลือกมาจากคอลเลกชันผลงานมรดก (patrimonial collection) ของ Van Cleef & Arpels เพื่อเป็นการยกย่อง และสร้างความกระจ่างในใจบรรดามรดกทางการสร้างสรรค์เครื่องประดับชั้นสูงของเรา เป็นความยินดีอย่างสูงของเราที่จะได้สานต่อความสัมพันธ์อันยาวนานทางวัฒนธรรมมาสู่ D Museum การร่วมงานต่างๆ เหล่านี้ นำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนมุมมองอันทรงคุณค่า พร้อมกับช่วยเติมเต็มมุมมองการรับรู้ของผู้คนทั้งหลายที่มีต่อผลงานสร้างสรรค์ของเรา

ในการแสดงลักษณะเฉพาะของอาณาจักรแห่ง Van Cleef & Arpels คุณหยิบยกค่านิยมห้าประการที่อิตาโล กัลวิโนสาธกไว้ในงานเขียน Six Memos for the Next Millennium (Lightness: ความเบา, Quickness: ความเร็ว, Visibility: ความชัดเจน, Exactitude: ความแม่นยำ และ Multiplicity:ความหลากหลาย) ของเขามาใช้ในการนำเสนอผลงานจัดแสดง เพราะเหตุใดคุณถึงเลือกแนวทางความคิดนี้?

Alba Cappellieri: อิตาโล กัลวิโนเป็นอิตาเลียนคนแรกที่ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อปี 1984 ให้ไปร่วมบรรยายในประเด็นเกี่ยวกับกวีนิพนธ์อันโด่งดังของชาร์ลส์ อีเลียต นอร์ตันในงาน Charles Eliot Norton Poetry Lectures ซึ่งเป็นการประชุมสัมมนาต่อเนื่องถึงหกวาระ สำหรับการร่วมบรรยายครั้งนี้ เขาตัดสินใจจะให้ความสำคัญแก่ “ค่านิยมต่างๆ อันควรค่าต่อการเก็บรักษาให้ธำรงสืบไปในสหัสวรรษหน้า” อันได้แก่ Lightness, Quickness, Exactitude, Visibility และ Multiplicity นั่นเอง ส่วนการบรรยายครั้งที่หก อันแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของ “ความสอดคล้อง ต่อเนื่อง” หรือ Consistency ก็ถูกกำหนดไว้ในวาระของฮาร์วาร์ดเรียบร้อยแล้ว แต่โชคไม่ดีที่อิตาโล กัลวิโนเสียชีวิตลงไปเสียก่อนเมื่อวันที่ 19 กันยายน 1985 ก่อนเดินทางออกจากอิตาลี “ค่านิยม หรือคุณค่า หรือคุณลักษณ์เฉพาะ” เหล่านี้ ตามที่ตัวเขาเองเป็นผู้ให้คำจำกัดความไว้ ก็เป็นค่านิยมร่วมที่โดดเด่น ชัดเจนทั้งในแวดวงวรรณกรรม และศิลปะเครื่องประดับอัญมณี ตลอดจนศิลปะแขนงใดๆ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยต่อการวิเคราะห์ และทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวในยุคสมัยของเรา นอกเหนือจากการใช้สาขาวิชาต่างๆ เข้าช่วย ความเบา, ความเร็ว, ความแม่นยำ, ความชัดเจน และความหลากหลาย ล้วนเป็น อันมีประสิทธิภาพมากสำหรับใช้ถอดรหัสความเกี่ยวพันระหว่าง Van Cleef & Arpels กับยุคสมัยช่วงเวลาที่มีแง่มุมซับซ้อน มีการแตกวัฒนธรรมย่อย และเต็มไปด้วยรายละเอียดปลีกย่อยอย่างศตวรรษที่ 20 ทักษะอันแยบยลในเชิงวรรณกรรม ช่วยแสดงให้เห็นว่า แต่ละประเด็นของ “ประมวลหมายเหตุ” ทั้งห้าล้วนเป็นค่านิยมฝังแน่นอยู่ในบรรดาผลงานสร้างสรรค์อันทรงแบบฉบับของเมซงฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแง่มุมที่หล่อหลอมกันขึ้นเป็นความงดงามตราบนิรันดร์ อีกทั้งยังสามารถแสดง หรืออธิบายเรื่องราว เป็นตัวแทนจิตวิญญาณหรือแนวนิยมในแต่ละยุคสมัยที่มีการสร้างผลงานนั้นๆ ขึ้น ค่านิยมต่างๆ ซึ่งกัลวิโนยกย่อง ยังใช้ได้กับบริบทสังคมปัจจุบันเช่นกัน พิสูจน์ได้ถึงความเป็นสัจธรรมเชิงแนวคิด และช่วยทำให้เราได้ทำความเข้าใจถึงความสามารถของ Van Cleef & Arpels ในการตีความ, ใช้ความวิจิตรบรรจงทางการสลักเสลาสรรค์สร้าง และส่งผ่านเรื่องราวของช่วงเวลาหนึ่ง หรือยุคสมัยหนึ่งๆ มาไว้ในผลงานวัตถุเลอค่า

คุณรู้สึกว่า มีอะไรเป็นจุดน่าสนใจอย่างยิ่งในการถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ในอาณาจักรของ Van Cleef & Arpels ผ่านงานนิทรรศการครั้งนี้?

Nicolas Bos: ผลงานต่างๆ ของอิตาโล กัลวิโนที่ผมรู้จักอย่าง The Baron in the Trees, The Nonexistent Knight และ Invisible Cities ผมรู้สึกถึงการหลอมรวมร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างงานเขียนร่วมสมัยสไตล์ศตวรรษที่ 20 เข้ากับกลิ่นอายของเทพนิยายอมตะ ซึ่งมีความเป็นเด็กแฝงอยู่ ก็ต้องขอขอบคุณอัลบาที่ทำให้ผมได้รู้จักหนังสือ Memos เล่มนี้ และด้วยผลงานการเขียนนี้เอง ก็ทำให้ผมได้ค้นพบความเป็นไปได้ในการหลอมรวมอาณาจักรแห่งเครื่องประดับอัญมณีกับวรรณกรรมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวผ่านการวิเคราะห์หาค่านิยมร่วม หรือมิติเชิงคุณค่าที่ศิลปะทั้งสองแขนงนี้มีเหมือนกันในเนื้อแท้ เวลาพูดถึงอัตลักษณ์ หรือเอกลักษณ์ของเรา ก็จะมีบางคำของกัลวิโนซึ่งตรงกับค่านิยมของเราปรากฏขึ้นมาในความคิดของผมทันที อย่างในห้องผลิตงาน บ่อยครั้งที่เราจะใช้คำพูดเดียวกับเขานั่นก็คือ “ความแม่นยำ” หรือ “ความประณีต” (precision) กับ “ความเบา” หรือ “น้ำหนักเบา” (lightness) เพื่อใช้เป็นนิยามผลงานสร้างสรรค์ของเรา ระหว่างอัลบาดำเนินโครงการนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างค่อยๆ เข้ารูปเข้ารอยอย่างเป็นธรรมชาติจากการที่เราให้เธอมีอิสระในการนำเสนอมุมมองอันมีความสดใหม่ ไม่ซ้ำเดิม เธอนำผลงานชิ้นต่างๆ ของเรามาร้อยเรียงโดยอาศัยค่านิยมเหล่านี้เป็นบรรทัดฐานในการสร้างความกลมกลืน เป็นเรื่องน่าสนใจมากในการส่งผ่านแนวคิดซึ่งกินความครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างนี้ให้แสดงตัวออกมาได้ตลอดทั้งนิทรรศการ ซึ่งนั่นก็ตรงกับบทบรรยายสุดท้ายที่กัลวิโนจะใช้สรุปทุกอย่างในงานประชุมสัมมนา นั่นก็คือค่านิยมอันดับหกที่เรียกว่า “ความสอดคล้อง ต่อเนื่อง” หรือ Consistency นั่นเอง

 

ในนิทรรศการนี้ คุณยังทำการศึกษาเพิ่มเติมไปถึงแนวคิดประเด็นอื่น อย่าง “จุดบรรจบทางความคิด” หรือ Intersections ช่วยอธิบายถึงการทำงานในส่วนนี้

Alba Cappellieri: การเริ่มต้นงานด้วยประมวลหมายเหตุค่านิยมของกัลวิโน นำไปสู่การเพิ่มเติมค่านิยมอีกห้าประการเพื่อใช้สะท้อนถึงดีเอ็นเอของเมซง นั่นก็คือความเป็นปารีส (Paris), อารยศิลป์ต่างถิ่น (Elsewhere) และจุดบรรจบทางความคิด (Intersection) ระหว่างศิลปะต่างแขนงอันได้แก่นาฏศิลป์, แฟชั่น และสถาปัตยกรรม ในกรณีของ “ปารีส” ผลงานที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้ เป็นมากกว่างานออกแบบยกย่องคุณค่าของมหานครที่คนสกุลแวนคลีฟ กับสกุลอารเปลส์ ได้ร่วมกันเริ่มต้นเรื่องราวอันมีความพิเศษเหนือธรรมดาเมื่อปี 1906 เพราะเรายังนำเสนอนครหลวงแห่งฝรั่งเศสนี้ในฐานะศูนย์กลางศิลปะแขนงต่างๆ กับความงามตอนยุคเริ่มต้นของศตวรรษที่ 20 ในทำนองเดียวกัน Elsewhere หรือค่านิยมอันมีต่อศิลปวัฒนธรรมต่างถิ่น ก็อำนวยให้เราทำความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นถึงทักษะตามวิสัยทัศน์ของบรรดาผู้ก่อตั้งเมซงอันมีต่อการศึกษา และเรียนรู้ถึงดินแดน หรืออารยธรรมต่างๆ ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จัก ทั้งในแง่ของการสืบเสาะ แสวงหารัตนชาติอันมีเอกลักษณ์ ทั้งในประเด็นของการกลั่นกรองแรงบันดาลใจ, สีสัน และลวดลายซึ่งปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมอื่นๆ ความสามารถในการเชื่อมต่อนี้ ถือเป็นคุณสมบัติอันหาได้ยากยิ่งในโลกของเครื่องประดับชั้นสูง เมซงส่วนมากปรารถนาจะสร้างผลงานที่สถิตเป็นนิรันดร์โดยไม่สนใจใยดีต่อกระแสแฟชั่น ครองความนิยมเพียงชั่วครู่ ชั่วยาม ในทางกลับกัน Van Cleef & Arpels กลับแสดงให้เห็นถึงความสามารถอันทรงแบบฉบับของตนในการเก็บเกี่ยวความงามจากต่างแหล่งกำเนิด ทั้งในประเด็นของวัตถุดิบ, รูปทรง, ศิลปะแขนงต่างๆ มาใช้สรรค์สร้างผลงาน ซึ่งครองความนิยมชมชอบตลอดทุกยุคมาได้ยาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษ นั่นเป็นสิ่งที่สืบทอดจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน บทบรรจบขั้วต่างระหว่างศิลปะหลากแขนงอย่างนาฏศิลป์, แฟชั่น และสถาปัตยกรรม สร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบสุดยอดผลงานต้นแบบอย่างเช่นเข็มกลัดนางระบำหรือ ballerina clip, สร้อยคอสายซิป และกำไลปลอกข้อมืออันทันสมัยรุ่นต่างๆ

คุณคิดอย่างไรในการเลือกตั้งชื่อนิทรรศการว่า “Time, Nature, Love,” และใช้แนวคิดทั้งสามประการนี้มาออกแบบโครงสร้างการจัดงานอย่างไร?

Alba Cappellieri: ฉันคิดว่าเวลา, ธรรมชาติ กับความรัก เป็นค่านิยมสำคัญที่สุดของชีวิต และในขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นตัวแทนคุณค่าของชีวิต นำมาซึ่งวัตถุต่างๆ อันจะปรากฏอยู่ในชีวิตประจำวันของคนเรา โชคไม่ดีที่ค่านิยมเช่นนั้นค่อนข้างหาได้ยากจากแวดวงเครื่องประดับอัญมณี เพราะเครื่องประดับอัญมณี มักเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างความเป็นนิรันดร์จากสถานภาพวัตถุอันจะคงอยู่เป็นการถาวรกับความนิยมเพียงช่วงยุคสมัยสั้นๆ พร้อมจะผันผ่าน ถูกลืมเลือนไปได้อย่างรวดเร็ว อีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นผลงานซึ่งอยู่ตรงกลางการบรรจบพบกันระหว่างธรรมเนียมทางการผลิต และกระแสนิยมทางการออกแบบที่เรียกกันว่า “แฟชัน”, ความรักกับการลงทุน, ความงาม กับแนวทาง หรือแนวคิดการสร้างสรรค์, ความเป็นธรรมชาติ กับการเป็นประดิษฐกรรม โดยทั่วไปแล้ว เราจะพบได้ว่าเครื่องประดับชั้นสูงส่วนใหญ่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเป็นผลงานที่อยู่เหนือกระแสความนิยมของยุคสมัย สามารถอวดความงามได้ตลอดกาล ไม่มีความใยดีต่อกระแสวัฒนธรรมนิยม, วัฒนธรรมเชิงยุคสมัย และจิตวิญญาณแห่งสมัยนิยม หากสิ่งนี้หาได้เกิดขึ้นกับ Van Cleef & Arpels เพราะเมซงแห่งนี้ให้ความสนใจในเรื่องราว หรือเหตุการณ์ตามกาลเวลามาตลอด นิทรรศการนี้จะแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของเมซงในการออกแบบ และสร้างสรรค์ผลงานซึ่งสามารถหยิบมาสวมใส่ หรือใช้ประโยชน์ได้กับทุกยุค ทุกเวลา ขณะเดียวกัน แต่ละชิ้นยังสามารถเล่าเรื่องราวปลีกย่อยตามสมัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปทั้งตลอด และระหว่างศตวรรษที่ 20 พร้อมกันนั้นก็ยังสามารถสรุปความค่านิยมถาวรทั้งหลายอันเกี่ยวกับความงาม และอำนาจในการเย้ายวน จุดประกายปรารถนาให้ครอบครองไปพร้อมกัน ธรรมชาติกลายเป็นศิลปะ ผ่านการสรรค์สร้างผลงานของเมซง ทั้งในประเด็นของรัตนชาติ และงานฝีมือ ขณะเดียวกัน ก็ยังมีมุมมองของความเป็นมนุษย์ อันมีต่อประเด็นด้านความ ความกลมกลืน หรือความลงตัวระหว่างผลงานนั้นๆ กับวิถีการดำเนินชีวิตของตน สำหรับดิฉัน ความรักคือพลังงานอันมีอำนาจสูงสุดในโลก และเครื่องประดับทุกชิ้นก็ถูกสร้างขึ้นมาจากความรัก ยิ่งไปกว่านั้น เครื่องประดับ Van Cleef & Arpels ก็ได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องราวความรักระดับตำนานแห่งศตวรรษที่ 20 รวมถึงสัญลักษณ์กับของขวัญสื่อรักต่างๆ เป็นครั้งแรกที่ดิฉันพบว่ามีค่านิยมในแง่ของเวลา, ธรรมชาติ กับความรักหลอมรวมอยู่ร่วมกันภายในอาณาจักรของเมซงเครื่องประดับเพียงแห่งเดียว และการศึกษาถึงประวัติความเป็นมา กับมรดกรกรากที่มีความพิเศษเหนือธรรมดาของเมซงแห่งนี้ ช่างอยู่เหนือความคาดหมายของดิฉัน

ในส่วนของ “เวลา” กินพื้นที่จัดแสดงถึงสิบห้อง อะไรทำให้คุณตัดสินใจให้ความสำคัญแก่แนวคิดนี้เป็นพิเศษ?

Alba Cappellieri: ผลงานแต่ละชิ้น สมควรเป็นตัวแทนยุคสมัยของตน จึงสามารถถ่ายทอดคุณค่า กับความหมายเฉพาะตัวได้อย่างชัดเจน เวลาทั้งในแง่ของยุคสมัย และระยะเวลาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่นเดียวกันกับกรรมวิธีการผลิต อีกนัยหนึ่ง ยุคสมัย กับระยะเวลาคือตัวหล่อหลอมสุนทรียศิลป์ทางการออกแบบผลงานนั้นๆ เป็นตัวกำหนดวัตถุประสงค์การใช้งาน กับคุณสมบัติในการใช้งานตามบริบทสังคม ยุคสมัยมอบนิยามให้แก่สไตล์การออกแบบ, ปูหนทางในการเลือกใช้วัสดุ และเทคนิค บ่งชี้ถึงแหล่งกำเนิดที่มา จัดลำดับ หรือแบ่งแยกรสนิยม และเหนืออื่นใด กาลเวลาจะเล่าเรื่องราวของผลงาน ดิฉันทำการศึกษา วิจัย Van Cleef & Arpels อย่างถี่ถ้วนเพื่อทำความเข้าใจในวิถีทางที่เมซงนำบรรยากาศทางภูมิปัญญา หรือวัฒนธรรมนิยมของยุคสมัย มาหลอมรวมอยู่ในบรรดาผลงานวัตถุอันล้ำค่าของตน นั่นคือเกณฑ์ที่ดิฉันใช้ในการวิเคราะห์ ประเมิน และจัดแบ่งผลงานออกเป็นสิบกลุ่ม แสดงให้เห็นถึงสิบลักษณะเฉพาะตัวของศตวรรษที่ 20 โดยอาศัยจุดเริ่มต้นจาก Six Memos for the Next Millennium ของอิตาโล กัลวิโน

ในความคิดเห็นของคุณ มีประเด็นใดที่ทำให้เมซงประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผลงานซึ่งมีความสอดคล้องไปกับยุคสมัย และในขณะเดียวกันก็ยังคงคุณค่าเหนือกระแสความนิยมของยุคสมัยไปพร้อมกันได้?

Nicolas Bos: ค่อนข้างยากหากจะมองออกมาจากภายในเมซง เราจำเป็นต้องมองย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์ ความเป็นมา และลำดับเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของ Van Cleef & Arpels จากมุมมองนั้น เราจะเห็นจุดเชื่อมโยงที่ผลงานชิ้นต่างๆ มีต่อยุคสมัย และบริบทแวดล้อมของตนในช่วงเวลานั้นๆ ก็เหมือนกับการจัดงานสำคัญๆ ต่างๆ อย่างนิทรรศการครั้งสำคัญ จุดเชื่อมโยงเหล่านี้อาจไม่ได้อยู่ในเจตนา หรือในความคิดใดเลยตอนที่กำลังออกแบบผลงาน แต่พอเวลาผ่านไป ได้มีการทบทวน ทำความเข้าใจระหว่างมองย้อนกลับไป ทุกอย่างพลันประจักษ์แจ้ง สิ่งนี้คงสืบเนื่องมาจากวิถีการทำงานอันสืบเนื่องยาวนานจนกลายเป็นขนบธรรมเนียมของเมซง อีกนัยหนึ่งก็คือ มุมมองของเมซง ซึ่งมีความเป็นสากล ร่วมกับความใส่ใจในรายละเอียดที่มีให้ต่อวิถีการดำเนินชีวิตแบบต่างๆ, วิวัฒนาการทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงทางสมัยนิยม หรือแฟชั่น ทั้งในส่วนของเสื้อผ้า และเครื่องประดับ Van Cleef & Arpels ก้าวไปพร้อมกับทุกเหตุการณ์สำคัญในโลกของศิลปะ รวมถึงเปิดรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับงานออกแบบ สร้างสรรค์โดยทั่วไปตลอดเวลา คุณภาพผลงานของเราในฐานะงานออกแบบ สร้างสรรค์อันอยู่เหนือกระแสความนิยมของยุคสมัย อีกนัยหนึ่งก็คือ สามารถอวดความงดงาม เลอค่าของตนได้ในทุกกาลเวลา ตอบรับกับทุกกระแสความนิยม มีส่วนเกี่ยวโยงกับธรรมชาติวิสัยในเชิงธุรกิจของเราด้วยเช่นกัน ถ้าจะให้คำจำกัดความก็คงเป็น เครื่องประดับใช้วัสดุที่ทรงคุณค่าในแง่ของกาลเวลา มีคุณค่า และมูลค่าตลอดทุกกาลสมัย ไม่ได้ครอบความนิยมเพียงแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ นอกจากนั้นก็คือประเด็นที่ว่า เมซงยืนยงมาตลอดหลายทศวรรษ มีการพัฒนาต่อเนื่องไปบนหนทางบูรณาการอันหมดจด ทุกอย่างในความเป็นเรามีความเกี่ยวพันกันอย่างลงตัว ซึ่งทำให้เราก้าวพ้นไปจากการยึดติดอยู่กับยุคสมัยใดๆ นี่คือความสามารถที่จะมุ่งเน้น หรือทุ่มเท จดจ่อต่อการกรรมวิธีการผลิตที่เลือกนำมาใช้ เป็นการนำธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิม หรือที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน มาใช้ถ่ายทอดสไตล์เฉพาะตัว พร้อมกับผสานนวัตกรรมต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันโดยปราศจากการจำนน หรือตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางอิทธิพลจากกระแสสมัยนิยมในยุคนั้นๆ นี่คือจุดแข็งที่แท้จริงของเมซง และนี่คือจิตวิญญาณซึ่งเราต้องการส่งผ่านการจัดนิทรรศการ Van Cleef & Arpels: Time, Nature, Love ครั้งนี้

ศิลปวัตถุ หรือผลงานวัตถุล้ำค่าก็มีบทบาทสำคัญในการจัดนิทรรศการ คุณกำลังมองหนทางแสดงความโดดเด่นทางการสร้างสรรค์ของ Van Cleef & Arpels แง่มุมนี้อยู่ใช่ไหม?

Alba Cappellieri: บรรดาผลงานศิลปวัตถุล้ำค่าทั้งหลายเป็นจุดเด่นของห้อง Multiplicity ซึ่งดิฉันมองว่า ส่วนนี้เป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ และตระการตาที่สุดของนิทรรศการ นี่คือห้องจัดแสดงผลงานอันมีหลากหลาย ตั้งแต่กระเป๋ามิโนดิเอร ซึ่งชาร์ลส์ อารเปลส์ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี 1933 ไปจนถึงตลับแป้ง, ปลอกไฟแช็ค,แก้ว จนถึงขวดน้ำหอม ถึงอาจไม่เป็นที่รู้จักเท่าเครื่องประดับของ Van Cleef & Arpels กระนั้นผลงานทั้งหลายเหล่านี้ต่างล้วนมีเอกลักษณ์ เต็มไปด้วยความพิเศษเหนือธรรมดาในแง่ของงานฝีมือ และสไตล์ อีกทั้งยังเล่าเรื่องราวบางอย่างเกี่ยวกับความงาม, ศิลปะ, งานฝีมือ และพรสวรรค์ ความสามารถ สำหรับกัลวิโนแล้ว ความหลากหลายหรือ Multiplicity คือกรรมวิธีการจัดระเบียบความรู้ เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างผู้คนกับแนวความคิด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ Van Cleef & Arpels ทำมาตลอดเช่นเดียวกัน

Nicolas Bos: ผลงานล้ำค่าต่างๆ ร่วมกันก่อกำเนิดเป็นองค์ประกอบสำคัญทางมรดกประจำเมซงของเรา ซึ่งไม่เคยลดหย่อนคุณค่าเช่นนั้นลงไปเลยสักนิด ตัวอย่างเช่น นิทรรศการ “แวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์, ศิลปะของเครื่องประดับชั้นสูง” (Van Cleef & Arpels, the Art of High Jewelry) เมื่อปีค.ศ. 2012 ซึ่งจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเครื่องประดับและการตกแต่ง (Musée des Arts Décoratifs) ในกรุงปารีส ได้แสดงบทบาทความสำคัญของเครื่องประดับตามธรรมเนียมนิยมของยุคสมัย ผลงานศิลปวัตถุเหล่านี้หาได้เหมือนกับสร้อยคอ, สร้อยข้อมือ หรือเข็มกลัด ซึ่งถือเป็นเครื่องประดับตามธรรมเนียมมาแต่บรรพกาล และย่อมเป็นที่นิยมสืบต่อไปในอีกหลายศตวรรษข้างหน้า เพราะผลงานวัตถุนั้น มีความเกี่ยวพันอย่างแน่นแฟ้นกับศิลปะในการดำเนินชีวิต โดยสามารถเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้มากกว่า คุณสมบัติในการใช้งาน หรือรูปแบบในการใช้ประโยชน์ของผลงานวัตถุเหล่านี้ ย่อมข้องเกี่ยวกับบริบทเหตุการณ์ตามช่วงเวลาซึ่งตนถูกออกแบบ และผลิตขึ้น เป็นบทสะท้อนถึงเรื่องราวในแต่ละยุคสมัย ในนิทรรศการครั้งนี้ เราต้องการเน้นถึงคุณภาพในเนื้อแท้ของผลงานเหล่านี้ แทนที่จะมุ่งแสดงถึงประโยชน์ใช้สอย หรือรูปแบบการใช้งาน เรากลับมองหาหนทางถ่ายทอดคุณค่าของการเป็นงานออกแบบ และกรรมวิธีการผลิตในแง่มิติศิลป์ ด้วยมุมมองอันหลากหลายนี้ ทำให้ผลงานทั้งหลายล้วนเต็มไปด้วยคุณค่าแห่งความมหัศจรรย์ มีเรื่องราวที่น่าทึ่ง ชวนให้ชื่นชม เหมือนมีมนตราสะกดอารมณ์แฝงอยู่ อย่างระบบหุ่นกลหรือ automaton ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นกลไกบอกเวลารุ่นต่างๆ ในผลงานนาฬิกาชิ้นประวัติศาสตร์อันมาพร้อมความลับเฉพาะตัว บางครั้ง ผลงานเหล่านี้ก็ช่างน่าเกรงขาม จุดประกายความน่าสนใจ และสร้างแรงบันดาลใจได้มากเสียยิ่งกว่าเครื่องประดับตามขนบดั้งเดิม

อะไรเป็นผลงานซึ่งคุณชื่นชอบเป็นพิเศษในนิทรรศการครั้งนี้?

Alba Cappellieri: สร้อยคอสายซิปอย่างไม่ต้องสงสัย! แน่นอนค่ะ ดิฉันมีความประทับใจในเครื่องประดับสุดพิเศษเหนือธรรมดากับศิลปวัตถุอื่นๆ อีกหลายชิ้น กระนั้น สร้อยคอสายซิปคือรักแรกพบสำหรับดิฉัน นอกจากนั้น ดิฉันยังเลือกสร้อยคอสายซิปที่นำมาใช้ในการจัดแสดงโดยพิจารณาถึงคุณลักษณ์ทางการออกแบบอันรองรับต่อการผสมผสานความเป็นเลิศสูงสุดในเชิงคุณภาพของงานหัตถกรรมช่างทองเข้ากับแนวคิดประโยชน์นิยมของสายซิปอุตสาหกรรม ซึ่งสหรัฐอเมริการิเริ่มผลิตเพื่อนำมาใช้ในการทำเครื่องแบบทหารในยุคนั้น สร้อยคอสายซิปในสายตาของดิฉันจึงเป็นสุดยอดผลงานทางแนวคิด, นวัตกรรม, การใช้ความคิดสร้างสรรค์ และเทคนิคที่รอให้เราได้ค้นหา และทำความรู้จักในทุกๆ รายละเอียด!

Nicolas Bos: ผมคงต้องบอกว่าเป็นสร้อยคอสายซิปเหมือนอัลบาในมุมมองของผม นี่คือศูนย์กลาง หรือหัวใจสำคัญในการสรุปคำจำกัดความให้แก่เมซงของเรา สร้อยคอสายซิปนี้เป็นจุดเริ่มต้นทางการแลกเปลี่ยนทัศนคติ และแนวคิดต่างๆ ระหว่างผมกับอัลบา นอกจากนั้น งานออกแบบสไตล์นี้ยังจุดประกายให้เธอได้ตรึกตรองถึงบทบรรจบระหว่างรายละเอียดสำคัญสองประการ นั่นก็คือ การเป็นผลงานอันอยู่เหนือกระแสสมัยนิยม และความสามารถในการเล่าเรื่องราวของช่วงเวลายุคหนึ่งๆ ด้วยเหตุนี้ สร้อยคอสายซิปจึงเป็นผลงานอันทรงแบบฉบับสำหรับใช้อธิบายถึงความเป็น Van Cleef & Arpels และเนื้อหาของนิทรรศการครั้งนี้ไปพร้อมกัน

ไฮไลท์ผลงานสร้างสรรค์อันเป็นสัญลักษณ์ประจำเมซง

สร้อยคอ “อิซเมียร์” (Izmir necklace)
ตัวเรือนทองคำขาวประกอบทองคำเฉดเหลือง และทองคำสีกุหลาบ รองรับงานประดับไพลินสีเหลือง, พลอยดอกตะแบก แอเมทิสต์, บุษย์น้ำทองซิทริน, โอปอล, โกเมนสีส้มสเปซซาไทท์, ทุรมาลีสีชมพู, พลอยสปีเนลหลากสี และเพชร

สร้อยคออิซเมียร์เป็นส่วนหนึ่งในคอลเลกชันเครื่องประดับชั้นสูง “ตำนานลีลาศ” หรือ Bals de Légende (บาลส์ เดอ เลชองด์) ของปีค.ศ. 2011 ซึ่งอาศัยแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์มาจากงานลีลาศครั้งสำคัญทั้งห้าระหว่างศตวรรษที่ 20 สำหรับผลงานชิ้นนี้คือบทอ้างอิงถึง “บูรพาลีลาศ” หรือ Oriental ชื่องานราตรีสังสรรค์ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมลองแบรต์ กรุงปารีสในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1969 โดยบารอนอเล็กซีส์ เดอ เรเด (มีชีวิตอยู่ระหว่างค.ศ. 1922-2004) สุภาพบุรุษคนดังแห่งวงสังคมชั้นสูงยุคนั้น ความหรูหราจนเป็นที่เลื่องลือระดับตำนานของงานราตรีลีลาศครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากบรรยากาศตกแต่งสถานที่จำลองแบบมาจากโรงมหรสพอันได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “พันหนึ่งราตรี” (One Thousand and One Nights) นิยายรวมนิทานก่อนนอนชื่อดังแห่งตะวันออกกลาง ร่วมกันจินตนาการถึงมหานครอิซเมียร์ เมืองท่าสำคัญทางตอนใต้ของประเทศตุรกี ตัวเรือนอาศัยงานทองคำขาวฝังเพชรจำลองแบบทิวทัศน์หมู่อาคารราชวังแห่งอิซเมียร์ โดยใช้รัตนชาติหลากเฉดโทนอบอุ่นอาทิพลอยดอกตะแบกแอเมทิสต์, โกเมน, บุษย์น้ำทองซิทริน, ทุรมาลีสีชมพู และพลอยสปีเนลหลากสีเจียระไนทรงหัวหอมรองรับงานสลักลายตามแบบยอดโดม อันถือเป็นเอกลักษณ์สถาปัตยกรรมตะวันออกกลาง วงตัวเรือนประกอบงานร้อยลูกปัดโกเมนเรียงแถวลดหลั่นตามลำดับความยาวเคียงขนานมาสู่จุดรวมสายตา และสะกดอารมณ์ของไพลินสีเหลืองขนาด 50.79 กะรัตตรงศูนย์กลาง

สร้อยคอสายซิปปีค.ศ. 1951
สามารถดัดแปลงไปเป็นกำไลข้อมือได้
ตัวเรือนทองคำเฉดเหลืองประกอบทองคำสีกุหลาบแต่งรายละเอียดด้วยเพชรและทับทิม

ท่ามกลางเครื่องประดับสายซิปรุ่นแรกๆ ที่เมซงสรรค์สร้างขึ้น สร้อยคอสายซิปตัวเรือนทองคำเฉดเหลืองจากปีค.ศ. 1951 เส้นนี้ เต็มไปด้วยความวิจิตรประณีตในเชิงรายละเอียดขลิบริมเดินขอบตลอดแถบนอกเป็นขดห่วงทำจากเกลียวด้ายทองคำเฉดเหลืองจำลองแบบลายทอผ้าลูกไม้ประดับสายซิป และทวีความหรูหราด้วยงานฝังเพชรกับทับทิมสลับสีไล่เรียงอย่างต่อเนื่องในแต่ละห่วงลายขณะเดียวกับที่ลูกตุ้มทองคำเฉดเหลืองฝังเพชรขนาดตระการตาบนหัวซิปสะกดสายตาด้วยงานร้อยพู่ระย้าเกลียวเปียทองคำกวัดแกว่งไปมาตามอากัปการเคลื่อนไหวของผู้สวมใส่

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้