MUSÉE ATELIER AUDEMARS PIGUET

Last updated: 24 ม.ค. 2566  |  710 จำนวนผู้เข้าชม  | 

MUSÉE ATELIER AUDEMARS PIGUET

กระต่ายตัวใหญ่สีขาวตัดกับสีเขียวของต้นหญ้าและสีฟ้าเข้มของท้องฟ้า ถือนาฬิกาพก AP ไว้ในมือ ยืนเด่นตระหง่านระหว่างอาคารโรงงานและอยู่เบื้องหน้าของสถาปัตยกรรมรูปทรงเกลียวที่ดูราวกับผุดขึ้นมาจากพื้นดิน เป็นเสมือนกระต่ายสีขาวในอลิซในแดนมหัศจรรย์ ที่จะนำพาทุกคนไปในดินแดนอัศจรรย์ภายใน Musée Atelier Audemars Piguet พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ล่าสุดของแบรนด์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 147 ปี ซึ่งรวบรวมประวัติศาสตร์ของผู้บุกเบิกเครื่องบอกเวลาและถ่ายทอดความชำนาญจากอดีตสู่ปัจจุบัน และพร้อมที่จะส่งต่อไปในอนาคตอย่างมั่นคง

ผสานประวัติศาสตร์และวิธีคิดอันก้าวหน้า

พิพิธภัณฑ์โอเดอมาร์ ปิเกต์ (Musée Atelier Audemars Piguet) นำผู้เข้าชมไปค้นพบประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของแบรนด์ผู้ผลิตนาฬิกาจากสวิตเซอร์แลนด์ จากอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคต ภายในพื้นที่ของการสร้างสรรค์ที่บรรจุอยู่ภายในอาคารสถาปัตยกรรมดีไซน์ร่วมสมัย เผยให้เห็นมิติของการเป็นผู้บุกเบิก และถ่ายทอดความชำนาญที่มีมาแต่อดีตให้ทุกคนได้ประจักษ์ โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังพร้อมบอกเล่าเรื่องราวแห่งจิตวิญญาณที่เปี่ยมด้วยความอิสระและความทุ่มเทของโอเดอมาร์ ปิเกต์ในศิลปะชั้นสูงของการสร้างเครื่องบอกเวลาที่เริ่มต้นขึ้นที่วัลเลย์ เดอ ฌูซ์ (Vallée de Joux)  ก่อนจะขยายออกไปทั่วโลก

ในปี 2014 บริษัท บีอาร์ก อินเกิลส์ กรุ๊ป (Bjarke Ingels Group: BIG) ชนะเลิศการประกวดออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่โอเดอมาร์ ปิเกต์ตั้งใจให้เป็นสถานที่ในการถ่ายทอดเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์ของแบรนด์ โดยทางบริษัทได้ออกแบบโดมกระจกรูปทรงเกลียว เพื่อเสริมความโดดเด่นให้กับอาคารเก่าแก่ดั้งเดิมที่โอเดอมาร์ ปิเกต์มีอยู่ อาคารที่จูลส์ หลุยส์ โอเดอมาร์ (Jules Louis Audemars) และเอ็ดเวิร์ด ออกุสต์ ปิเกต์ (Edward Auguste Piguet) ได้ร่วมกันก่อตั้งเวิร์คช็อปขึ้นในปี 1875

การผสมผสานที่ลงตัวของงานสถาปัตยกรรม ถือเป็นสัญลักษณ์ของการหลอมรวมเอาประวัติศาสตร์และวิธีคิดที่ล้ำหน้าเข้าด้วยกัน เพื่อเผยให้เห็นเอกลักษณ์ของความประณีตพิถีพิถันในการทำงานของโอเดอมาร์ ปิเกต์ พร้อมประวัติศาสตร์ที่หยั่งรากลึกอยู่ที่วัลเลย์ เดอ ฌูซ์ คอนเซปท์โดมกระจกรูปทรงเกลียวเชื่อมต่อพื้นกับตัวอาคารได้อย่างไร้รอยต่อที่ออกแบบโดย BIG แห่งนี้ จะเป็นสถานที่เก็บรักษาผลงานระดับมาสเตอร์พีซทั้งในเชิงเทคนิคและในเชิงการออกแบบ ซึ่งค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างตามกาลเวลาที่ผ่านไปในวัลเลย์กลางหุบเขาจูราอันห่างไกลในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เวิร์คช็อปที่มีมาตั้งแต่เริ่มต้นเป็นสถานที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นาฬิกาที่มีกลไกซับซ้อนที่สุดและยังคงดำเนินงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเช่นเดิมจนถึงปัจจุบันนั้น ถูกนำมารวมไว้ในพิพิธภัณฑ์นี้ เพื่อให้ผู้เข้าชมมีโอกาสได้เข้ามาใกล้ชิดกับทีมช่างผู้เชี่ยวชาญของโอเดอมาร์ ปิเกต์ ส่วนแกรนด์ คอมพลิเคชั่น (Grandes Complications) และ Métiers d’Art Ateliers ซึ่งตั้งอยู่ตรงใจกลางของอาคาร จะบอกเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญด้านกลไกและการออกแบบ ซึ่งจะถูกจัดแสดงให้เห็นทั่วทั้งพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์โอเดอมาร์ ปิเกต์พร้อมเผยให้เห็นมุมมองที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ของวัลเลย์ เดอ ฌูซ์ รวมถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของการรังสรรค์นาฬิกา ถูกรวบรวมอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารสถาปัตยกรรมที่ร่วมสมัยที่สุด โปรเจกต์ที่สำเร็จลุล่วงได้ภายใต้ความคิดสร้างสรรค์และการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ทั้งสถาปนิก วิศวกร และช่างฝีมือผู้ชำนาญในพื้นที่ รวมไปถึงทีมงานทุกแผนกของโอเดอมาร์ ปิเกต์ ทุกคนที่ได้ร่วมทำงานในโปรเจกต์ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ล้วนมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวข้ามข้อจำกัดของตนเองเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ซึ่งถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวในหน้าประวัติศาสตร์ของแบรนด์ที่ยังจะถูกบอกเล่าต่อๆ ไป

“เราต้องการให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่รวบรวมทั้งประวัติศาสตร์ ความเชี่ยวชาญ ต้นกำเนิดทางวัฒนธรรม และการเปิดกว้างสู่โลกภายนอก ซึ่งอยู่ในภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนื้ที่สะท้อนรากฐานของความเป็นโอเดอมาร์ ปิเกต์อันเต็มเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณที่ก้าวล้ำนำสมัยอยู่เสมอ เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องขอบคุณและยกย่องช่างทำนาฬิกาและช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญจากรุ่นสู่รุ่นที่ทำให้โอเดอมาร์ ปิเกต์ มีวันนี้” จัสมิน โอเดอมาร์ (Jasmine Audemars) ประธานกรรมการบริหารของโอเดอมาร์ ปิเกต์ กล่าว

 

การเข้าชมพิพิธภัณฑ์โอเดอมาร์ ปิเกต์

พิพิธภัณฑ์โอเดอมาร์ ปิเกต์เลือกบันทึกเรื่องราวการทำงานของช่างผู้เชี่ยวชาญเปี่ยมวิสัยทัศน์ก้าวหน้า ซึ่งโอเดอมาร์ ปิเกต์ให้ความสำคัญเสมอมา หลังบอกเล่าพัฒนาการของการทำนาฬิกาภายในวัลเลย์ เดอ ฌูซ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในปัจจุบันในฐานะแหล่งผลิตนาฬิกาที่มีกลไกที่ซับซ้อนแห่งแรกๆ ในสวิตเซอร์แลนด์แล้ว จะได้พบกับประวัติศาสตร์ของโอเดอมาร์ ปิเกต์ผ่านนาฬิกาเรือนพิเศษที่ได้รับการคัดสรรมาจัดแสดงทั้งรุ่นในอดีตและรุ่นปัจจุบัน

และเพื่อสร้างประสบการณ์ที่มีความหลากหลาย ทวีความตื่นเต้นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ด้วยไฮไลต์และช่วงเวลาที่น่าจดจำอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ชม ATELIER BRÜCKNER บริษัทออกแบบพิพิธภัณฑ์จากเยอรมนีเลือกออกแบบการจัดวางนิทรรศการในรูปแบบคล้ายดนตรีที่มีจังหวะจะโคนสลับช่วงไปมา พร้อมทั้งมีผลงานให้ชมทั้งในรูปของงานประติมากรรม ออโตมาตา งานอินสตอลเลชั่น และชิ้นงานจำลองความเคลื่อนไหวของกลไกต่างๆ ที่มีความละเอียดซับซ้อน เผยให้เห็นแง่มุมที่หลากหลายทั้งในแง่ของเทคนิคและดีไซน์ โดยผู้ชมยังสามารถเข้ามาสัมผัสการสร้างสรรค์งานนาฬิกาด้วยเทคนิคที่ผู้เชี่ยวชาญของโอเดอมาร์ ปิเกต์ได้อนุรักษ์และสืบสานเอาไว้จากอดีตจนถึงปัจจุบันด้วยมือตนเอง อย่างเช่น การขัดลายซาติน และการขัดแต่งเป็นวงกลม เมื่อมาถึงใจกลางของอาคารทรงเกลียวทุกคนจะได้พบกับเหล่านาฬิกาแกรนด์ คอมพลิเคชั่น ที่จัดแสดงอย่างโดดเด่นในบริเวณนี้

“พิพิธภัณฑ์โอเดอมาร์ ปิเกต์ถือว่าเป็นสถานที่ที่มีความพิเศษอย่างยิ่งสำหรับผู้ชมที่จะได้ค้นพบ และเรียนรู้ ภายใต้การนำเสนอทั้งความรู้และความเชี่ยวชาญที่จะได้รับการสืบทอดไปยังผู้คนรุ่นต่อไป รายละเอียดที่ถูกถ่ายทอดผ่านสถาปัตยกรรมของตัวอาคาร รวมถึงภูมิทัศน์โดยรอบ สามารถเชื่อมโยงเข้ากับกลไกอันซับซ้อนของกลไกแกรนด์ คอมพลิเคชั่นได้เป็นอย่างดี” เซบาสเตียน วิวาส์ (Sébastian Vivas) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์และประวัติศาสตร์ (Heritage and Museum Director) ของโอเดอมาร์ ปิเกต์ กล่าว

 

300 เรือนสำคัญถูกรวบรวมไว้ ณ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้

นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้บอกเล่าเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 2 ศตวรรษ ผ่านนาฬิกากว่า 300 เรือนที่เผยให้เห็นทั้งกลไกการทำงานอันซับซ้อน ศิลปะการย่อขนาด และงานดีไซน์ที่แปลกตา นาฬิกาทั้งหมดนี้เผยเรื่องราวอันอ่อนน้อมถ่อมตนของช่างผู้ชำนาญในศตวรรษที่ 19 ซึ่งรังสรรค์ผลงานอยู่ในหมู่บ้านอันห่างไกลภายในหุบเขาจูราในสวิตเซอร์แลนด์ ทว่าผลงานอันโดดเด่นของพวกเขากลับสะดุดตาลูกค้าในแดนไกล และยังคงจับใจคนรักนาฬิกาทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน

ผลงานมาสเตอร์พีซที่มีความซับซ้อนที่สุดของโอเดอมาร์ ปิเกต์ถูกจัดแสดงไว้ตรงใจกลางของอาคารทรงเกลียว ในตำแหน่งที่งานออกแบบสถาปัตยกรรมของอาคารแห่งนี้ดูโดดเด่นที่สุด

ศิลปะการสร้างสรรค์กลไกนาฬิกาที่เชื่อมโยงกับดาราศาสตร์ (Astronomical) กลไกการบอกเวลาด้วยเสียง (Chiming) รวมถึงกลไกโครกราฟ (Chronograph) หัวใจสำคัญของโอเดอมาร์ ปิเกต์ตั้งแต่เริ่มต้นถูกนำมาจัดแสดงให้เห็นผ่านนาฬิกาพกพารุ่น Universelle ที่ผลิตออกมาตั้งแต่ปี 1899 ด้วยแรงบันดาลใจจากระบบสุริยจักรวาล นิทรรศการรูปทรงกลมในส่วนนี้จะเผยให้เห็นวงจรของเวลาในเชิงดาราศาสตร์ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์งานนาฬิกา

นิทรรศการนาฬิกาจะไปจบลงที่คอลเลกชั่นนาฬิกาที่รู้จักกันเป็นอย่างดี นั่นก็คือ รอยัล โอ๊ค (Royal Oak) รอยัล โอ๊ค ออฟชอร์ (Royal Oak Offshore) และรอยัล โอ๊ค คอนเซปท์ (Royal Oak Concept)

พรสวรรค์ของช่างนาฬิกาจากรุ่นสู่รุ่น

เพื่อให้การจัดแสดงผลงานนาฬิกาคอมพลิเคชั่น หรือนาฬิกาที่มีกลไกซับซ้อนน่าสนใจยิ่งขึ้น พิพิธภัณฑ์โอเดอมาร์ ปิเกต์จึงเลือกจัดแสดงความเชี่ยวชาญนับจากอดีตผ่านห้องเวิร์คช็อปพิเศษ 2 ห้องที่ตั้งอยู่ตรงกลางอาคาร ห้องแรกเป็นส่วนของแกรนด์ คอมพลิเคชั่น (Grandes Complications) บอกเล่าการประกอบนาฬิกาภายใต้กลไกอันซับซ้อนของชิ้นส่วนกว่า 648 ชิ้นในระยะเวลาราว 6-8 เดือน โดยทั้งหมดเป็นการประกอบมือของช่างนาฬิกาเพียงคนเดียว ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้ายก่อนส่งออกจากห้องเวิร์คช้อป ส่วนห้องที่ 2 เป็นส่วนของ Métiers d’Art Ateliers ที่จะเผยให้เห็นการผลิตงานจิวเวลรี่ชั้นสูง (Haute Joaillerie) ด้วยฝีมือของช่างจิวเวลรี่ ช่างอัญมณี และช่างสลักผู้มีความชำนาญสูง หากมองย้อนกลับไปยังอดีตห้องเวิร์คช็อปทั้ง 2 ห้อง เผยให้เห็นการสร้างสรรค์ผลงานที่ละเอียดอ่อนที่สุดที่แบรนด์ยังคงรักษาไว้จวบจนปัจจุบัน นับว่าเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความมุ่งมั่นในการรังสรรค์สิ่งที่ดีที่สุดอย่างไม่หยุดยั้งของโอเดอมาร์ ปิเกต์

วัลเลย์ เดอ ฌูซ์ และความประณีตพิถีพิถันในแบบฉบับของโอเดอมาร์ ปิเกต์

อาคารรูปทรงเกลียวของพิพิธภัณฑ์โอเดอมาร์ ปิเกต์ ซึ่งออกแบบโดยบริษัท BIG และมี CCHE ซึ่งเป็นบริษัทสถาปนิกสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์เป็นผู้ก่อสร้างนั้น เป็นอาคารที่ค่อย ๆ ไล่ระดับสูงขึ้นอย่างไร้รอยต่อจากกำแพงของโครงสร้างกระจกทรงกลม เผยให้เห็นความสำเร็จของการทำงานด้านวิศวกรรมและการออกแบบด้วยการเป็นสิ่งปลูกสร้างอาคารแรกที่สามารถก่อสร้างขึ้นด้วยความสูงเช่นนี้ กระจกทรงโค้งช่วยโอบรับหลังคาโลหะทั้งหมด ในขณะที่โครงตาข่ายทองเหลืองที่ล้อมรอบอาคารด้านนอก ช่วยควบคุมการเปิดรับแสงและอุณหภูมิภายในอาคาร ส่วนหลังคาสีเขียวประดับหญ้าก็ช่วยซึมซับน้ำและควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสม

การออกแบบให้เป็นรูปทรงเกลียวนั้นก็เพื่อให้ตัวอาคารสามารถกลมกลืนไปกับภูมิทัศน์รายรอบ พื้นของอาคารถูกจัดวางไปตามแนวลาดเอียงที่ต่างกันเพื่อให้สอดคล้องกับความลาดชันตามธรรมชาติของพื้นดิน และช่วยให้แผนผังภายในของพิพิธภัณฑ์สามารถมอบประสบการณ์ที่ต่อเนื่องถึงกันได้อย่างดีที่สุด ภายในอาคาร กำแพงกระจกทรงโค้งถูกจัดวางต่อกันแบบตามเข็มนาฬิกาเพื่อไปบรรจบกับใจกลางของตัวอาคาร ก่อนจะเคลื่อนที่ต่อไปยังทิศทางตรงกันข้าม โดยผู้ชมจะเดินลัดเลาะภายในอาคารในลักษณะที่เหมือนเดินผ่านไปตามสปริงของนาฬิกาแต่ละเรือน

“การทำนาฬิกานั้นไม่ต่างกับงานสถาปัตยกรรมตรงที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของการใช้โลหะและแร่ธาตุมาผสานกับพลังงาน การเคลื่อนไหว ความชาญฉลาด และการวัดที่เที่ยงตรง เพื่อสร้างผลงานให้ออกมามีชีวิตด้วยรูปทรงที่บ่งบอกถึงกาลเวลา” บีอาร์ก อินเกิลส์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ BIG กล่าว

อาคารร่วมสมัยที่ถูกสร้างขึ้นใหม่แห่งนี้สะท้อนความมุ่งมั่นของโอเดอมาร์ ปิเกต์ในการสร้างนวัตกรรมทางสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและวัฒนธรรม โดยออกแบบมาให้สอดคล้องกับมาตรฐานคุณภาพสวิสไมเนอร์จี ทั้งในเรื่องของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการก่อสร้างด้วยมาตรฐานคุณภาพระดับสูง นอกจากนี้บริษัทยังสร้างโรงแรมโอแตล เด ออโลแจร์ (Hôtel des Horlogers) ในเมืองเลอ บราซูส์ (Le Brassus) ซึ่งเป็นเมืองบ้านเกิดของโอเดอมาร์ ปิเกต์ โดยวางแผนเปิดดำเนินการในช่วงฤดูร้อน ปี 2021 ด้วยคอนเซปท์ของการเป็นพื้นที่แบบยั่งยืนที่เป็นการบรรจบกันระหว่างประเพณีที่มีมาแต่เดิมกับความเป็นสมัยใหม่ โดยที่นี่ออกแบบโดย BIG และมี CCHE ร่วมทำงานก่อสร้างด้วยเช่นเดียวกัน

 

สำรวจบ้านแห่งประวัติศาสตร์

บ้านหลังประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ของโอเดอมาร์ ปิเกต์ ซึ่งเชื่อมต่อกับอาคารทรงเกลียว เปิดต้อนรับผู้เข้าชมให้ก้าวเข้าสู่โลกยุคอดีตที่ประกอบขึ้นด้วยไม้และหิน เหนือสุดของอาคารหลังเก่าแห่งนี้อุดมไปด้วยแสงธรรมชาติที่จูลส์ หลุยส์ โอเดอมาร์ และเอ็ดเวิร์ด ออกุสต์ ปิเกต์ได้ก่อตั้งเวิร์คช็อปของพวกเขาขึ้นในปี 1875

โปรเจกต์ปรับปรุงอาคารหลังเก่านำมาซึ่งการรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลผู้เปี่ยมด้วยความสามารถจากในวัลเลย์ เดอ ฌูซ์ ไม่ว่าจะเป็น CCHE บริษัทสถาปนิกสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเข้ามาทำงานอย่างใกล้ชิดกับช่างฝีมือในท้องถิ่นและทีม Heritage ของโอเดอมาร์ ปิเกต์เพื่อซ่อมแซมสถาปัตยกรรมของอาคารที่เก่าแก่ที่สุดของบริษัทแห่งนี้ที่สร้างไว้ตั้งแต่ปี 1868 การรีโนทเวทจัดทำด้วยความละเอียดรอบคอบ การศึกษาวัสดุที่ใช้ในอดีต โดยเฉพาะการใช้งานไม้แบบเก่ามาหุ้มกำแพงอาคารโดยไปเลือกไม้จากหมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกลกัน อาคารที่ได้รับการรีโนเวทใหม่นี้ประกอบด้วยห้องลงทะเบียน ห้องเก็บข้อมูล ห้องของทีม Heritage  มูลนิธิโอเดอมาร์ ปิเกต์ และห้องเวิร์คช็อปเพื่อการบูรณะ (Restoration Atelier)

ในขณะที่การเริ่มการก่อสร้างและด้านการดีไซน์ก็มีรายละเอียดหลายส่วนที่ต้องคำนึง ห้องเวิร์คช็อปแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นใหม่ที่ชั้นบนสุด ซึ่งเป็นที่ที่โอเดอมาร์ ปิเกต์เปิดตัวครั้งแรก และเป็นพื้นที่ที่ช่างทำนาฬิกาผู้มีความเชี่ยวชาญอย่างสูงจำนวนไม่มาก ใช้ความชำนาญจากอดีตที่หาได้ยากยิ่งในปัจจุบันเพื่อการซ่อมแซมนาฬิการุ่นเก่าให้กลับมาใช้งานได้ดังเดิม ม้านั่งทำงานของช่างนาฬิกายังถูกสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดโดยช่างฝีมือท้องถิ่นผู้มุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์งานฝีมือแบบดั้งเดิมเอาไว้ ผู้เข้าชมยังสามารถเข้ามาชมเรื่องราวของโอเดอมาร์ ปิเกต์ ในฐานะแบรนด์ที่มีชื่อและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกผ่านนิทรรศการน่าสนใจภายในห้องชั้นใต้ดินของบ้านหลังประวัติศาสตร์หลังนี้ได้อีกด้วย

 

รากฐานที่สำคัญ

พิพิธภัณฑ์โอเดอมาร์ ปิเกต์ยังเป็นสถานที่ตั้งของมูลนิธิโอเดอมาร์ ปิเกต์ ซึ่งทำงานด้านการอนุรักษ์ผืนป่าผ่านการรักษาสิ่งแวดล้อมและการสร้างความตระหนักให้กับคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 1992 โดยเรื่องราวของมูลนิธิจะถูกบอกเล่าไว้ในห้องโถงของพิพิธภัณฑ์ จะมีการปลูกต้นอะเมลแลนเซียร์ (Amelanchier) และดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นระยะเวลา 2 ปีในพื้นที่เปิดโล่งเพื่ออุทิศให้กับความเป็นมาของโอเดอมาร์ ปิเกต์ในวัลเลย์ เดอ ฌูซ์ เช่นเดียวกับการร่วมทำงานด้านการอนุรักษ์ป่าไม้ภายในสวิตเซอร์แลนด์และทั่วโลก ต้นไม้เหล่านี้จะถูกเคลื่อนย้ายเพื่อนำไปปลูกในโครงการท้องถิ่นที่ได้รับการสนับสนุนโดยมูลนิธิของแบรนด์

การอนุรักษ์ป่าไม้และการให้ความรู้แก่เด็ก ๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และการให้ความรู้แบบดั้งเดิม ล้วนเป็นสิ่งที่มูลนิธิให้ความสำคัญสูงสุด โดยภายใต้โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุน มูลนิธิมุ่งหวังที่จะเริ่มต้นวงจรแห่งคุณธรรมของการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งโดยชุมชนเองและการร่วมทำงานกับชุมชน

คณะกรรมการมูลนิธิโอเดอมาร์ ปิเกต์ มีจัสมิน โอเดอมาร์ ประธานกรรมการบริหารโอเดอมาร์ ปิเกต์ บุตรีของชาคส์-หลุยส์ โอเดอมาร์ ผู้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิ ทำหน้าที่เป็นประธานมูลนิธิ

 

ประวัติศาสตร์และความเชี่ยวชาญของโอเดอมาร์ ปิเกต์

นอกเหนือจากการนำเสนอผลงานที่สะท้อนความโดดเด่นทางศิลปะและวัฒนธรรมของโอเดอมาร์ ปิเกต์เองแล้วนั้น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเดอมาร์ ปิเกต์เป็นผู้คัดสรรมาด้วย

นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา โอเดอมาร์ ปิเกต์ได้ถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ระหว่างศิลปะร่วมสมัยและศิลปะการทำนาฬิกาชั้นสูงผ่านผลงานของศิลปินที่ผ่านการคัดสรร เพื่อเรียนรู้จุดเริ่มต้นทางวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์ รวมถึงการสำรวจแนวคิดต่างๆ อาทิ ความซับซ้อนและความแม่นยำซึ่งเชื่อมโยงกับกลไกของนาฬิกา และสำหรับการเปิดพิพิธภัณฑ์อย่างเป็นทางการครั้งแรกนี้ ทางโอเดอมาร์ ปิเกต์จะจัดแสดงผลงานของเพื่อนศิลปินผู้ใกล้ชิดและร่วมงานกับแบรนด์มาโดยตลอด อาทิ แดน โฮลส์เวิร์ธ (Dan Holdsworth), ควายอลา (Quayola) และอเล็กซานเดอร์ โจลี (Alexandre Joly) ซึ่งเข้ามาร่วมกันตีความจุดกำเนิดของโอเดอมาร์ ปิเกต์ในวัลเลย์ เดอ ฌูซ์ โดยแดน โฮลส์เวิร์ธนำเสนอผลงานภาพถ่าย “Vallée de Joux n° 10” ในซีรีส์ภาพถ่ายชุด “The Vallée de Joux” ของเขา ส่วนควายอลามาพร้อมผลงาน “Remains #A_027” จาก Remains: Vallée de Joux ซึ่งจะจัดแสดงประกอบกันกับงานมัลติมีเดียอินสตอลเลชันของอเล็กซานเดอร์ โจลี ผลงานศิลปะทั้งหมดนี้จะช่วยพาผู้ชมก้าวเข้าสู่โลกทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และงานด้านเทคนิคของโอเดอมาร์ ปิเกต์ผ่านมุมมองของศิลปะร่วมสมัย

บีอาร์ก อินเกิลส์ กรุ๊ป (Bjarke Ingels Group: BIG)

BIG เป็นการรวมตัวกันของสถาปนิก นักออกแบบ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมือง ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิทัศน์ นักออกแบบตกแต่งภายในและนักออกแบบผลิตภัณฑ์ นักวิจัย และนักประดิษฐ์ ที่ทำงานอยู่ทั้งในโคเปนเฮเกน นิวยอร์ก ลอนดอน และบาร์เซโลนา สำนักงานของ BIG เข้าร่วมทำงานในโครงการจำนวนมากทั่วทั้งยุโรป อเมริกาเหนือ เอเชีย และตะวันออกกลาง BIG สร้างสรรค์ผลงานด้านสถาปัตยกรรมด้วยการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วนว่า ชีวิตร่วมสมัยนั้นมีวิวัฒนาการและเปลี่ยนแปลงไปภายใต้อิทธิพลของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย กระแสเศรษฐกิจโลก และเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่นำไปสู่การค้นหาหนทางใหม่ในการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมและการวางผังเมือง BIG เลือกท้าทายการรับรู้โดยทั่วไปเกี่ยวกับความยั่งยืนตามแนวความคิดทางศีลธรรมที่มีอยู่ ด้วยความพยายามที่จะออกแบบเมืองและอาคารภายใต้ระบบนิเวศที่ประกอบกันขึ้นจาก 3 องค์ประกอบ นั่นก็คือสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ เชิงสังคม BIG มองว่าโครงการของบริษัทนั้นเป็นโอกาสในการช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและการมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยไม่มองว่าเป็นปัญหาทางศีลธรรม แต่เป็นความท้าทายด้านการออกแบบมากกว่า

BIG เชื่อว่า การจะรับมือกับความท้าทายในวันนี้ได้นั้น สถาปัตยกรรมควรจะสร้างผลกำไรในแนวทางที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้เข้าไปสำรวจ นั่นก็คือการสร้างงานสถาปัตยกรรมในอุดมคติที่ทำได้จริงโดยหลุดออกจากกรอบและแนวคิดอุดมคติที่ไม่จีรังของรูปแบบนิยมดิจิทัล BIG สร้างผลงานสถาปัตยกรรมด้วยการผสานส่วนผสมที่มีอยู่เดิม เช่น การใช้ชีวิต การพักผ่อน การทำงาน ที่จอดรถ และการช้อปปิ้ง ทว่าด้วยมุมมองของการทับซ้อนกันระหว่างสิ่งที่เป็นอุดมคติกับสิ่งที่ทำได้จริง แล้วค้นหาอิสรภาพที่จะเปลี่ยนแปลงโลกจากจุดนั้น เพื่อสร้างรูปแบบชีวิตร่วมสมัยที่ดียิ่งขึ้น รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ BIG เข้าไปดูได้ที่ www.big.dk

 

CCHE

เป็นเวลากว่าศตวรรษที่ CCHE ทำงานในหลากหลายมิติ ทั้งการวางผังเมือง สถาปัตยกรรม และการออกแบบตกแต่งภายใน โดยทำงานในสาขาต่าง ๆ เหล่านี้อย่างหลากหลายและกว้างขวาง ตั้งแต่เริ่มต้นวางคอนเซปท์ ไปจนถึงการสร้างให้เกิดเป็นผลงาน โดยนำเสนอผลงานสถาปัตยกรรมที่มีความร่วมสมัย พิถีพิถัน และตอบรับความต้องการเฉพาะบุคคล

ปัจจุบัน CCHE มีผู้ร่วมงาน 13 กลุ่มและมีพนักงานราว 230 คนกระจายอยู่ในสำนักงาน 5 แห่งทั้งในโลซานน์ เจนีวา นียง และวัลเลย์ เดอ ฌูซ์ ในสวิตเซอร์แลนด์และปอร์โต โดยในแต่ละโครงการจะมีการจัดตั้งทีมงานสหสาขาที่ประกอบด้วยสถาปนิก ผู้จัดการโครงการ นักวางผังเมือง นักออกแบบ ผู้จัดการฝ่ายก่อสร้าง นักออกแบบภูมิทัศน์ วิศวกรสิ่งแวดล้อม และนักเศรษฐศาสตร์การก่อสร้างที่ทำงานร่วมกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและกำกับดูแลรายละเอียดด้านคุณภาพและการดำเนินการที่รวดเร็วและคุ้มค่าที่สุด

CCHE มุ่งมั่นต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการเป็นสำนักงานสถาปัตยกรรมแห่งแรกในสวิตเซอร์แลนด์ในพื้นที่ที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส ที่ได้รับรางวัล “Eco-Entreprise” สำหรับผู้ทำโครงการสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนและมีความรับผิดชอบในปี 2009

CCHE ยังได้ร่วมทำงานในโครงการระหว่างประเทศมากมายกับสำนักงานสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียง รวมถึง BIG, Kengo Kuma และอีกหลายบริษัท รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ CCHE เข้าไปดูได้ที่ www.cche.ch

 

ATELIER BRÜCKNER

ATELIER BRÜCKNER เป็นสตูดิโอที่เป็นที่รู้จักในระดับสากลจากงานด้านภูมิทัศน์ โดยสตูดิโอแห่งนี้ทั้งสร้างสรรค์และออกแบบงานสถาปัตยกรรมและการจัดการพื้นที่สำหรับแบรนด์ นิทรรศการ งานแสดงสินค้า และพิพิธภัณฑ์ โดยดูแลงานทั้งทางด้านคอนเทนต์และข้อความ ซึ่งสตูดิโอจะเป็นผู้พัฒนาไอเดียที่แปลกใหม่น่าสนใจ พร้อมทั้งสร้างสรรค์คอนเซปท์ที่น่าจดจำอันเป็นมาตรฐานสากล

สถาปนิก นักออกแบบกราฟิก นักวิทยาศาสตร์ ผู้กำกับเวที นักออกแบบผลิตภัณฑ์ และนักออกแบบสื่อ เข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อนำเสนอแนวคิดด้านสถาปัตยกรรมและนิทรรศการ ด้วยจุดประสงค์ในการสร้าง “Gesamtkunstwerk” หรือผลงานศิลปะที่เป็นมากกว่าผลรวมของส่วนต่างๆ แต่คือการทำให้ผู้เข้าชมสัมผัสผลงานได้ด้วยทุกประสาทสัมผัสของพวกเขา


สถาปนิกผู้ออกแบบ                        Bjarke Ingels Group (BIG)
สถาปนิกท้องถิ่น                             CCHE Lausanne SA & CCHE La Vallée SA
งานวิศวกรรมโครงสร้าง                  Dr. Lüchinger+ Meyer Bauingenieure AG
ที่ปรึกษาเกี่ยวกับด้านนอกอาคาร    Dr. Lüchinger + Meyer Bauingenieure AG              
ผู้ช่วยที่ปรึกษาเกี่ยวกับด้านนอกอาคาร    Frener & Reifer
งานวิศวกรรมเครื่องกล                    Fondation Pierre Chuard Ingénieurs-Conseils SA
ที่ปรึกษาแสง                                  Belzner Holmes Light-Design
ออกแบบการจัดนิทรรศการ             ATELIER BRÜCKNER GmbH
วันเปิดตัว                                       เปิดสำหรับบุคคลทั่วไป 25 มิถุนายน 2020
จองบัตร                                         www.museeatelier-audermaspiguet.com
การเข้าถึง                                      รถวีลแชร์สามารถเข้าพิพิธภัณฑ์โอเดอมาร์ ปิเกต์ได้
ค่าธรรมเนียมการเข้าพิพิธภัณฑ์      การเข้าเยี่ยมชมต้องมีการนัดหมายก่อนเท่านั้น   

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้