VAN CLEEF & ARPELS - Legend of Diamonds

Last updated: 17 มี.ค. 2566  |  594 จำนวนผู้เข้าชม  | 

VAN CLEEF & ARPELS - Legend of Diamonds

องก์ที่สองของคอลเลคชันตำนานเพชร หรือ Legend of diamonds คืองานออกแบบเครื่องประดับซึ่งใช้เพชรน้ำหรือ white diamond อันหมายถึงเพชรขาวใสไร้สีแต่เพียงเท่านั้นในการขึ้นตัวเรือน โดยเมซงได้ขนานนามให้แก่ผลงานการออกแบบเหล่านี้นับแต่ แรกเริ่ม White diamond variations หรือ “คอลเลคชันเพชรน้ำหนึ่ง” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงตำแหน่งสำคัญเป็นการถาวรของ เพชรทางการสรรค์สร้างเครื่องประดับแห่งเมซง อีกท้งยังเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงสถานะบทบาทของเพชรน้ำในคอลเลคชันสำคัญทั้งหลายตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานเพชรน้ำหนึ่ง หรือเพชรขาวใสไร้สีได้รับการยกย่องให้ครองตำแหน่งสัญลักษณ์อันเป็นหนึ่งแห่ง ศิลปะล้ำค่ามาตั้งแต่ผลงานเครื่องประดับชิ้นแรกนั่นก็คือเพชรน้ำรูปหัวใจประดับรายละเอียดด้วยเพชรเจียระไนเหลี่ยมเกสรล้วนที่ Van Cleef & Arpels ได้ทำการจำหน่ายให้แก่ลูกค้าคนสำคัญไปเมื่อปี 1906 จากนั้นคือการรังสรรค์เรื่องราวระดับตำนานให้ เจิดจรัสอย่างต่อเนื่องผ่านออกแบบหลากแรงบันดาลใจ จากธรรมชาติไปสู่โลกแห่งการตัดเย็บ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือแฟชันการแต่งกาย อิทธิพลจากมรดกทางงานออกแบบอันพรั่งพร้อมของเมซงเหล่านั้น นำมาซึ่งจุดกำเนิดเครื่องประดับเพชรน้ำถึง 82 ชิ้นในคอลเลคชันตำนานเพชรเพื่อเป็นบทสรุปเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ผ่านการย้อนคืนไปสู่ผลงานชิ้นเด่นซึ่งเปี่ยมคุณค่าเสมอหลักฐานบ่งชี้เหตุการณ์สำคัญในแต่ละยุคสมัย และทำการรังสรรค์สไตล์อันโดดเด่นเป็นหนึ่งนั้นขึ้นอีกครั้งให้เป็นบทสะท้อนถึงกระแสความนิยมเชิงสุนทรียศิลป์ในแต่ละช่วงเวลา

งานออกแบบเครื่องเพชร “มาลาประดับ” หรือ garland ในยุคสุนทรีย์หรือแบ็ลเลพ็อค (Belle Époque หรือที่นิยมเรียกกันว่า “ยุคแห่งความสวยงาม” เริ่มต้นขึ้นหลังการสิ้นสุดสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียจนถึงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 นั่นก็คือประมาณปีค.ศ. 1870 – 1914) อันโดดเด่นด้วยการร้อยเพชรเป็นเส้นสายดุจกระแสธาราประดับพู่ระย้าพวงดอกไม้ ใบไม้เว้นวรรค์สลับช่องไฟเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ตามมาด้วยงานออกแบบเครื่องประดับเพชรน้ำหนึ่ง (White Jewelry) ที่ตอบรับกับกระแสอลังการศิลป์หรืออาร์ต เดโค ระหว่างทศวรรษ 1920 ซึ่งช่วงต้นของยุคนี้ อาศัยแง่มุมทางการออกแบบแนวธรรมชาตินิยมเป็นสำคัญ มวลวิหคฝังเพชรจิกไข่ปลาทั้งหลายต่างถ่ายทอดลีลากางปีกโบยบินในลักษณะต่างๆ ขณะเดียวกับที่บรรดาช่อพฤกษาเลอค่าพากันผลิวงกลีบแย้มบานรองรับแสงตกกระทบให้สะท้อนกลับเป็นประกายวิบวับระยับพราย จากนั้น นิทรรศการศิลปะอุตสาหกรรมและเครื่องประดับตกแต่งยุคใหม่ที่จัดขึ้นเมื่อปี 1925 ได้กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญอันบ่งชี้ถึงระยะเปลี่ยนผ่านทางกระแสศิลป์นิยม Van Cleef & Arpels นำเสนอผลงานการออกแบบเชิงนามธรรม ในการสื่อถึงที่มาของแรงบันดาลใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสร้อยข้อมือจำลองแบบแถบคาดศีรษะหรือ bandeaux (“บองโดซ์” แปลว่าแถบคาดศีรษะหรือหน้าผาก หนึ่งในเครื่องประดับยอดนิยมของสุภาพสตรีในวงสังคมชั้นสูงยุคนั้น) ซึ่งอาศัยงานฝังเพชรล้วนทั้งสิ้น และบ่อยครั้งมักใช้สวมซ้อนกันหลายเส้นหลายวงบนข้อมือข้างเดียว ตัวเรือนสร้อยข้อมือแต่ละเส้นนั้นเต็มไปด้วยความยืดหยุ่นเป็นอย่างยิ่ง สืบเนื่องจากการใช้ไหวพริบพลิกแพลงของเหล่าช่างทำเครื่องประดับแห่งยุค ตัวอย่างผลงานทางประวัติศาสตร์ และเครื่องประดับทรงคุณค่าระดับมรดกวัฒนธรรมประจำเมซงทั้งหลายในอดีตอันรุ่งโรจน์เรืองรองหลายปีนั้น ก็ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แผนกการออกแบบหรือ Design Studio ของเราสรรค์สร้างกำไลเพชรกุสุมาลย์หรือ Floraison de diamants (ฟลอเรซง เดอ เดียมองตส์) กับต่างหูเพชรโคมระย้าหรือ Diamond chandelier ซึ่งสามารถดัดแปลงเป็นเข็มกลัดได้

เครื่องประดับในปีต่อๆ มาหลังจากนั้นมีการใช้เส้นกราฟิกทางการออกแบบมายิ่งขึ้นตามหลักการเรขาคณิตเพื่อรองรับขั้วต่างทางความขัดแย้งจากลูกเล่นเฉดสี อิทธิพลจากศิลปะแนวนวนิยม (Modernism) และญี่ปุ่นนิยม (Japonism) กลายเป็นจุดเริ๋มต้นการนำงานออกแบบเชิงนามธรรมมาใช้สรรค์สร้างเครื่องประดับtชั้นสูง (High Jewelry) ด้วยการผสานสรรพสีรัตนชาตินานาชนิดเข้ากับประกายเพชรสุกสว่างพร่างพราย นี่เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เครื่องประดับเพชรน้ำหรือ White Jewelry ได้ก้าวขึ้นสู่สถานะเครื่องประดับสำหรับยามค่ำคืนโดยอาศัยตัวเรือนแพลทินัมรองรับเทคนิคฝังเพชรจิกไข่ปลาบนสัดส่วนสมมาตร และนี๋คือที่มาของการรังสรรค์สร้อยคอยาว “ทศวรรษสุดขั้ว”หรือ Roaring Twenties long necklace (รอริง ทเว็นตีส์คือคำสรุปรูปแบบบรรยากาศสังคมทศวรรษ 1920 ที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูถึงขีดสุด ส่งผลให้ผู้คนใช้ชีวิตสนุกสนานสุดเหวี่ยง) กับต่างหูไครส์เลอร์ (Chrysler earrings) ซึ่งจำลองแบบมาจากสถาปัตยกรรมยอดอาคารไครสเลอร์ หนึ่งในตึกระฟ้ายุคแรกของสหรัฐอเมริกาเจ้าของสมญา “อัญมณีระฟ้า”

ในขณะที่ความนิยมต่อเครื่องประดับเพชรเริ่มเสื่อมคลายลงจากปลายทศวรรษ 1930 จนถึงต้นทศวรรษ 1950 สืบเนื่องเพราะภาวะสงคราม นั่นคือวาระที่เครื่องประดับทองคำเข้ามาครองตำแหน่งสำคัญในส่วนแบ่งการตลาด (ด้วยบทบาทของทองคำทางระบบการเงินโลกตามหลักการทางเศรษฐกิจ) อย่างไรก็ตาม สำหรับเมซงแล้ว เพชรกลับมีชีวิตนิรันดร์เป็นของตนเองและกระบวนการวิวัฒน์เครื่องประดับเพชรก็ได้สร้างรากฐานเชิงบุคลิก ก่อสไตล์อันเป็นที่รู้จัก และจดจำดังปรากฏในนิทรรศการเทคนิค และศิลปะสากล The International Exhibition of Arts and Techniques เมื่อปี 1937 อิทธิพลจากอาณาจักรแฟชัน และศิลปะการตัดเย็บเครื่องแต่งกาย ถูกถ่ายทอดผ่านสร้อยคอ “พระนางเมดิซี” หรือ Médicis necklace ซึ่งเป็นต้นแบบการรังสรรค์สร้อยคอ “ขดคลื่นประกายแสง” หรือ Vagues étincelantes necklace (วากเซแต็งเซอล็องตส์) ณ ปัจจุบันด้วยแรงบันดาลใจจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ อันมีบทบาทต่องานออกแบบเครื่องประดับสมัยนั้น แถบริบบินลูกไม้ถักเข็มประดับคอเสื้อฉลองพระองค์ของแคทเธอรีน เดอ เมดิซี กฤติยารานีแห่งฝรั่งเศสในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ นำมาซึ่งงานสร้างสรรค์สร้อยปลอกคอแถบริบบินฝังเพชรขึ้นตัวเรือนซ่อนหนามเตยทับซ้อนงานฝังเพชรเหลี่ยมบาแก็ตต์เรียงแถวรองรับการฝังเพชรลูกทรงกลมทับลงไป พร้อมกับประดับจี้เพชรทรงลูกแพร์ ซึ่งสามารถปลดออกมาใช้เป็นเข็มกลัดได้ ระหว่างทศวรรษ 1940 งานออกแบบเครื่องเพชรอาศัยลูกเล่นนูนต่ำลดหลั่นไล่ระดับเพื่อเผยความประณีตวิจิตรของงานขัดผิวขึ้นเงา หรือรายละเอียดผิวสัมผัสของตัวเรือนทองคำเฉดเหลือง บทบรรจบของประกายสว่างเรืองรองของสองวัสดุ อันได้แก่รัตนชาติกับโลหะเลอค่านี้ คือแรงบันดาลใจในงานออกแบบสร้อยคอแถบลูกไม้ Passementerie précieuse , แหวนริบบิน Precious ribbon ring และกำไลข้อมือ Boogie-woogie bracelet

หลังภาวะอัตคัดขัดสนระหว่างสงครามตลอดทศวรรษ 1940 ผ่านพ้น คือการหวนคืนสู่ความหรูหราตระการตาในทศวรรษ 1950อันถือเป็นยุคทองแห่งวงการภาพยนตร์ อีกนัยหนึ่งก็คือการฟื้นฟูเสน่ห์ชวนฝันของเครื่องประดับเพชรน้ำชั้นสูง (White High Jewelry) ซึ่งนำงานออกแบบอลังการศิลป์หรือ “อาร์ต เดโค” มารังสรรค์ให้สดใหม่ จรัสประกายสะกดสายตาผู้คนทั่วโลกผ่านจอภาพยนตร์ขาว-ดำของฮอลลีวูด และประสบความสำเร็จในฐานะเครื่องประดับประจำตัว เสริมบารมีให้แก่บรรดาชนชั้นสูงทั้งในภาคพื้นยุโรป และอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นเพชรร้อยลดหลั่นดุจกระแสธารประดับระหงคอ, เข็มกลัดล้อแสงระยับวาว หรือสร้อยข้อมือเลอค่า บรรดาเครื่องประดับชุดกลางคืนทั้งหลาย คือบทบรรจบระหว่างประกายสุกสว่างจากไฟในน้ำเพชรกับตัวเรือนแพลทินัมสีเงินขาววาววับ โดยอาศัยงานออกแบบแนวศิลปะนามธรรม หรือบางครั้งก็ใช้โครงสร้างจำลองรูปทรงสิงสาราสัตว์, ดอกไม้ หรือตัวบุคคลในเทพตำนาน เพื่อเป็นเวทีรองรับความโดดเด่นให้แก่รัตนชาติอันทรงคุณสมบัติสุดพิเศษเหนือธรรมดา นำมาซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผลงานแต่ละชิ้น อีกทั้งยังทวีความวิจิตรบรรจงยิ่งขึ้นด้วยลูกเล่นเจียระไนอัญมณีหลากรูปทรง โดยเฉพาะเพชรเหลี่ยมเกสร,เพชรเหลี่ยมมรกต และเพชรทรงหยดน้ำหรือลูกแพร์ และสำหรับ Legend of diamonds – White diamond variations collection หรือเครื่องประดับเพชรน้ำอันเป็นผลงานแยกย่อยในคอลเลคชันตำนานเพชรนั้น สร้อยคอ Fabulous Fifties คือบทสรุปบรรยากาศหรูหราตระการตาในทศวรรษ 1950 ได้อย่างแยบยล

การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 จนเกิดเป็นวัฒนธรรมย่อยที่เรียกว่า “ฮิปปี” (hippie) นำมาซึ่งวาระแห่งการสานต่องานสร้างสรรค์ผลงานสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันที่เรียกว่า La Boutique collection (ลา บูทีค ก็อลเล็กซิยง) ซึ่งเมซงเริ่มทำการวางจำหน่ายเมื่อปี 1954 ให้เป็นเครื่องประดับระหว่างวันอันโดดเด่นด้วยการฝังเพชรเรียงแถวเป็นเส้นลาย หรือไม่ก็ใช้เทคนิคฝังเพชรจิกไข่ปลาให้การสะท้อนแสงกระจ่างเรืองรองละมุนตา ร่วมกับการนำรงคศิลามารับบทเด่น รวมถึงวัสดุธรรมชาติอื่นๆ รวมถึงทองคำสีเหลืองเล่นรายละเอียดทางผิวสัมผัสในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อทองหล่อแบบพิมพ์ลายเส้นริ้วแบบกระดาษย่น, งานสลักลายสุดประณีต หรือใช้เทคนิคทุบผิวขึ้นรูปลาย โลหะล้ำค่าทั้งหลายต่างทอประกายระยิบระยับ พร้อมกับการปรับแปลงสัดส่วนขยายขนาดรูปทรง ซึ่งเข็มกลัด “เทพธิดาไนกา” หรือ Fée Naïca (เฟ นาอิกา) คือผลงานสรุปความให้แก่สุนทรียศาสตร์ทางการออกแบบยุคนั้นมาสู่นางอัปสรทองคำขาวนั่งสถิตบนก้อนหินทองคำเล่นเหลี่ยมมุมสลับรายละเอียดผิวหน้าตัด อันเป็นบทสะท้อนถึงโลหะดิบกับผลึกแร่ที่ Van Cleef & Arpels นิยมนำมาใช้สรรค์สร้างผลงานศิลปวัตถุหลายต่อหลายครา นอกจากนั้น ยังมีศิลปะการสวมสร้อยข้อมือหลายเส้นให้เต็มแขนกับสร้อยคอเต็มแผงหน้าอกจนดูคล้ายกับเป็นเสื้อเกราะ หรือแผ่นเกราะหุ้มหน้าอกอย่างสร้อยคอลายลูกไม้ชองติญีหรือ Precious Chantilly necklace นั่นเอง

ความนิยมชมชอบต่อเครื่องประดับชั้นสูงได้กลับมาปรากฏเป็นกระแสอีกคราในระหว่างทศวรรษ 1980 เมื่อบรรดารัตนชาติล้ำค่าขนาดโอฬารผิดสามัญถูกขายในงานประมูลด้วยราคาสูงลิบลิ่วก่อนจะนำไปแยกชิ้น หรือเจียระไนใหม่สำหรับขึ้นตัวเรือนเครื่องประดับสุดตระการตา ทั้งแบบเครื่องประดับชิ้นเดียว หรือเป็นชุดเครื่องประดับ อัญมณีเหล่านั้นต่างอวดความงามอยู่บนตัวเรือนทองคำเฉดเหลือง, ทองคำขาว หรือแพลทินัมเรืองรองลออตา ซึ่งบ่อยครั้งล้วนได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากโลกของแฟชันการแต่งกาย โบว์ประดับกับริบบินราวจะร่วมกันชะลอความรุ่งโรจน์ระหว่างยุคทองของธุรกิจห้องเสื้อชั้นสูงให้กลับมาเจิดจรัสเรืองรองขึ้นอีกครั้งจนกลายเป็นกระแสความนิยมใหม่อันต่อเนื่องจนถึงทศวรรษ 2000 ยามที่เพชรน้ำกับรงคศิลาล้ำค่านานาชนิดได้รับการร้อยเรียงขึ้นตัวเรือนรูปจำลอง หรือจัดสัดส่วนเล่นเฉดสีที่ขัดแย้งได้อย่างลงตัว

งานออกแบบเพชรน้ำของคอลเลคชันตำนานเพชร หรือ Legend of diamonds – White diamond variations นี้ หาได้ต่างอะไรจากการถักทอ และร้อยเรียงเหตุการณ์แต่ละช่วงทางประวัติศาสตร์ให้มาสะท้อนเรื่องราวผ่านแต่ละหน้าตัด และเหลี่ยมมุมเจียระไนของเพชร สุดยอดอัญมณีที่คงความงดงามอยู่เหนือกระแสความนิยมแห่งยุคสมัยตราบนิรันดร์

กำไลเพชรกุสุมาลย์
Floraison de Diamants


ความโดดเด่นสะดุดตาทางการออกแบบกำไลข้อมือวงนี้อยู่ที่ความต่อเนื่องของเส้น และรายละเอียดลดหลั่นเป็นชั้นเชิงเรียงซ้อนไล่ระดับให้ทอดยาวต่อเนื่องตลอดโค้งโครงสร้าง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจในการรังสรรค์จากสร้อยข้อมือจำลองแบบแถบคาดศีรษะ (bandeaux bracelets) รุ่นต่างๆ ที่ Van Cleef & Arpels จำลองแบบมาจากแฟชันแถบคาดหน้าผากสุภาพสตรีอันเป็นหนึ่งในเครื่องประดับยอดนิยมระหว่างทศวรรษ 1920 สำหรับผลงานต้นแบบในอดีตครั้งนั้น White Jewelry เผยโฉมใหม่หมดจดด้วยการใช้รูปทรงเรขาคณิตในงานออกแบบเชิงนามธรรม ตามกระแสความนิยมอลังการศิลป์หรืออาร์ต เดโคผ่านบทบรรจบระหว่างตัวเรือนโลหะแพลทินัมกับเพชรน้ำหรือเพชรขาวใสไร้สี ซึ่งร่วมกันล้อแสงทอประกายสู่กันและกัน เป็นลูกเล่นเร่งความเข้มแสงทวีความสว่างเจิดจรัสทวีความหรูหราให้แก่เครื่องประดับชั้นสูง ส่วนกำไลเพชรกุสุมาลย์วงนี้ อาศัยชิ้นส่วนทองคำขาวฝังเพชรจิกไข่ปลาประกบต่อเข้าด้วยกันเพื่อจำลองแบบแถบริบบิน ทั้งในลักษณะเรียงขนานระนาบเดียวกันสลับกับจังหวะเหลื่อมซ้อนให้มีการลดหลั่นเป็นลายนูนกราฟิกรองรับงานฝังเพชรลูกทรงกลมทับลงไปเป็นเอกเทศ เหนืออื่นใด ศูนย์กลางโครงสร้างตัวเรือน อันเป็นที่มาของชื่อผลงานนั้นก็คือดอกไม้ฝังเพชรเหลี่ยมเกสรบนกลีบยกตัวทำมุมรับแสงตกกระทบเพื่อให้แสงสะท้อนกลับมีความสว่างมากยิ่งขึ้น 

Roaring Twenties and Chrysler
สร้อยคอ Roaring Twenties long necklace (รอริง ทเว็นตีส์) กับต่างหู Chrysler (ไครส์เลอร์) ดัดแปลงรูปทรง พลิกแพลงวิธีสวมใส่ได้ ตัวเรือนทองคำขาวประกอบทองคำสีกุหลาบ จี้สร้อยคอโดดเด่นด้วยเพชรเดี่ยวทรงหยดน้ำเจียระไนเหลี่ยมกุหลาบคุณภาพระดับ DIF Type 2A ขนาด 10.32 กะรัตกับเพชรเดี่ยวทรงวงรีเจียระไนเหลี่ยมกุหลาบน้ำหนัก 4.46 กะรัตประดับเพชร

สร้อยคอยาว Roaring Twenties คือผลงานจุดประกายจินตนาการถึงบรรดาผลงานสร้างสรรค์จาก Van Cleef & Arpels ระหว่างกาลเวลาอันรุ่งโรจน์หลายปีนั้น เดรส หรือชุดเสื้อ/กระโปรงติดกันตัวสั้นโครงสร้างบังทรงหรือที่เรียกทับศัพท์กันสั้นๆ ว่า “แฟล็ปเปอร์” (flapper) ทั้งแบบแขนสั้น และแขนกุด คือเครื่องแต่งกายยอดนิยมของสุภาพสตรีในทศวรรษ 1920 ถือเป็นงานออกแบบที่ใช้ประกาศถึงเสรีภาพของผู้หญิงยุคใหม่ ที่ไม่ต้องแต่งกายเอาใจผู้ชายอีกต่อไป เพื่อเติมเต็มความงามสง่าให้แก่เดรสสั้นปราศจากทรวดทรง เมซงจึงออกแบบสร้อยคอยาวให้กลมกลืนกับเส้นมิติทรงโครงสร้างแฟล็ปเปอร์เดรส หรือเดรสสั้นบังทรงสไตล์นี้ โดยร้อยเรียงเพชรร่วมกับรัตนชาติ และรงคศิลาเลอค่านานาชนิดขึ้นมาหลายต่อหลายรุ่น และบทสรุปงานออกแบบสร้อยคอยาวยอดนิยมของเหล่าสุภาพสตรีในวงสังคมชั้นสูงยุคนั้นก็ถูกถ่ายทอดมาสู่ความร่วมสมัยในปัจจุบันผ่านเรือนสร้อยสายโซ่เพชรล้วนสลับคั่นเว้นช่องไฟระหว่างกลางทั้งซ้าย-ขวาด้วยโมทิฟเรือนทองคำสีกุหลาบฝังเพชรจิกไข่ปลา ทวีความหรูหราอลังการดุจจุดรวมสายตาให้แก่งานออกแบบร่วมสมัยด้วยจี้เพชรคุณภาพระดับ DIF Type 2A อันถือว่ามีความบริสุทธิ์เชิงเคมีประกอบที่หาได้ยากยิ่ง ดั่งจะเห็นได้จากประกายกระจ่างสุกใสในน้ำเพชรอันหมดจดจรัสรัศมีรอบทิศทาง และเมื่อใช้งานเจียระไนเหลี่ยมกุหลาบเล่นหน้าตัดสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสำหรับรับแสงตกกระทบ ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มจำนวนวิถีแสงสะท้อนไปมาตามเหลี่ยมมุมในเนื้อเพชร เร่งความเข้มแสงทวีความสว่างได้อย่างสลับซับซ้อนจนมิอาจละสายตา เทคนิคการเจียระไนเหลี่ยมกุหลาบหน้าตัดสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน (หรือสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด) นี้ ถูกนำมาใช้ทั้งกับเพชรวงรีเม็ดบนน้ำหนัก 4.46 กะรัตเหนือเพชรทรงหยดน้ำขนาด 10.32 กะรัต โดยมีเส้นระย้าเพชรทิ้งสายกรุยกรายเป็นบทเติมเต็มอันชวนให้นึกถึงพู่ชายครุยฝอยประดับชุดบนเดรสชาร์ลส์ตัน (Charleston dresses เป็นเสื้อ/กระโปรงติดกันตัวสั้น มิติทรงเดียวกับแฟล็ปเปอร์ หากจะมีความหรูหราตระการตากว่าในแง่ของรายละเอียดการตกแต่งเพื่อรองรับโอกาสสวมใส่ไปเต้นรำตามทำนองเพลง “ชาร์ลส์ตัน” จังหวะยอดนิยมของยุคนั้น ด้วยคำนวณแล้วว่า ระหว่างเคลื่อนไหว โยกตัวไปมายามเต้นรำ พู่ชายครุยรอบตัวชุดจะสะบัดพลิ้วไปมาอย่างงดงาม) สร้อยคอเส้นนี้เป็นงานออกแบบอำนวยต่อการพลิกแพลงดัดแปลงวิธีสวมใส่ได้ถึงแปดรูปแบบ ไม่ว่าจะแยกชิ้นเป็นสร้อยคอสั้นสามสไตล์, ปรับระดับเป็นสร้อยคอยาวได้สามแบบ และลดทอนเป็นสร้อยข้อมือได้อีกสองเส้น

รูปทรงเรขาคณิต กับรายละเอียดเส้นตรงสลับเหลี่ยมมุมตัดก่อลูกเล่นขัดแย้งกับเส้นโค้งเส้นเว้าอันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของวิถีอลังการศิลป์ ยังถูกสะท้อนผ่านงานออกแบบต่างหู Chrysler ซึ่งตั้งชื่อตามอาคารไครสเลอร์ หนึ่งในตึกระฟ้าอันโด่งดัง และมีความสำคัญที่สุดแห่งมหานครนิวยอร์กเจ้าของสมญา “อัญมณีระฟ้า” ด้วยฐานะแบบอย่างสถาปัตยกรรมยุคอลังการศิลป์หรืออาร์ต เดโค ผลงานการออกแบบโดยสถาปนิกวิลเลียม แวนอเล็นกับความสูงกว่า 1,000 ฟุตรองรับพื้นที่อาคาร 77 ชั้น ครองตำแหน่งสัญลักษณ์สำคัญของดินแดนแห่งเทพีเสรีภาพมานับแต่ปีค.ศ. 1939 ได้ถูกจำลองแบบรังสรรค์เป็นต่างหูประกอบชิ้นส่วนฝังเพชรลูกทรงกลมเรียงแถวประกบขนาบเพชรหยดน้ำไล่ระดับถึงสี่ชั้นขึ้นโครงสร้างตัวเรือนฉลุโปร่ง เอื้อต่อการรับแสงส่องผ่านรอบทิศทางเพื่อให้ไฟในน้ำเพชรแต่ละเม็ดเพิ่มระดับความสว่างเจิดจรัสตระการตาเฉกเช่นคราที่อาคารสูงเสียดฟ้าต้นแบบแรงบันดาลใจได้สร้างความตื่นตะลึงแก่คนทั้งโลกในวันเปิดตัว

ต่างหูเพชรโคมระย้ากับ “ลิซที่รัก”
Diamond Chandelier and Dear Liz


ต่างหูเพชรโคมระย้า Diamond Chandelier ดัดแปลงเป็นเข็มกลัดได้คู่นี้ โดดเด่นสะดุดตาจากโมทิฟซึ่งอาศัยแรงบันดาลใจจากศิลปะแฟชันเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบลวดลายเพื่อสะท้อนถึงผลงานเข็มกลัดชิ้นสำคัญที่ปรากฏในแค็ตตาล็อก Fine Jewelry ซึ่ง Van Cleef & Arpels ตีพิมพ์เมื่อปี 1922 โครงตัวเรือนฉลุโปร่งจากการใช้ความต่อเนื่องของเส้นมิติทรงอย่างละเมียดละไมรองรับความวิจิตรบรรจงของงานฝังเพชรเจียระไนหลากรูปทรง ทั้งเพชรกลม, เพชรเหลี่ยมผืนผ้าบาแก็ตต์, ทรงสี่เหลี่ยมคางหมู, ทรงเม็ดข้าวสารหรือมาร์คีส์ และทรงหยดน้ำหรือลูกแพร์ ร่วมกับบทระดมสารพันเทคนิคการฝังขึ้นตัวเรือนตั้งแต่ฝังหุ้มเหยียบหน้าจม, ฝังหุ้มครึ่งวง หรือฝังหุ้มหัว/ท้าย, ฝังหนีบด้วยเขี้ยวหนามเตยไปจนถึงฝังสอดหนีบมุม เพชรกลมสองเม็ดใจกลางจี้ระย้าต่างหูแต่ละข้างน้ำหนักรวมถึง 3.76 กะรัต ได้รับการประดับลงในโมทิฟอันเอื้อต่อการแกว่งไกวไปมาเพื่อเผยคุณภาพมาตรฐานระดับ triple EX (ความเป็นเลิศเหนือชั้นสามแง่มุม ประกอบไปด้วยรูปทรงเจียระไน ซึ่งผ่านการคำนวณอัตราระหว่างความลึก, ขนาดความกว้าง และพื้นที่หน้าตัดเพชรอย่างเฉียบขาดแม่นยำ, ความสมมาตรในเชิงสัดส่วนอันหมายถึงองศาอันแม่นยำระหว่างเหลี่ยมมุมกับตำแหน่งหน้าตัดเพชร และความหมดจด เกลี้ยงเกลาอันอำนวยต่อความเข้มแสง หรือความสว่างในประกายของเนื้อเพชร) อย่างลงตัว

สร้อยคอขดคลื่นประกายแสง
Vagues Étincelantes


ลีลาลดหลั่นในการไล่แสงของสายสร้อยสวมชิดติดลำคอเส้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอาณาจักรแฟชัน และถ้าให้ระบุเจาะจงลงไปก็คือจีบระบายผ้าลูกไม้เข็มถักประดับคอเสื้อสตรีในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ อันมีชื่อเรียกเฉพาะว่า “คอเสื้อเรติเซ็ลลา” (reticella collars) ซึ่งครองความนิยมต่อเนื่องจากสมัยนั้นมานานถึงสามศตวรรษ สำหรับสร้อยคอขดคลื่นประกายแสง Vaguesétincelantes นี้ อาศัยมิติทรงตัวเรือนมาจากสร้อยคอพระนางเมดิซีหรือ Médicis necklace (ตั้งชื่อเพื่อระลึกถึงสมเด็จพระราชินีแคทเธอรีน เดอ เมดิซี อัครมเหสีในพระเจ้าอ็องรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศส อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งพระพันปี 3 สมัยจนนักประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสเรียกรัชสมัยปกครองระหว่างโอรสผู้ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ทั้งสามของพระนางว่า “สมัยแห่งแคทเธอรีน เดอ เมดิซี”) ซึ่งเมซงสรรค์สร้างขึ้นเมื่อปี 1937 และได้นำออกแสดงในนิทรรศการเทคนิค และศิลปะสากล International Exhibition of Arts and Techniques ณ กรุงปารีส โครงสร้างโค้งเว้าราวขดคลื่นอันเกิดจากการประกอบชิ้นส่วนย่อยให้เรียงต่อล้อแสงทอประกายระยิบระยับ อำนวยให้เครื่องประดับแนบชิดระหงลำคออย่างอ่อนช้อยไม่ต่างอะไรจากจีบผ้าลูกไม้คอเสื้ออันถือเป็นโจทย์ท้าทายความสามารถของเหล่าช่างฝีมือประจำเมซงอย่างยิ่ง เพราะนี่หมายถึง ช่างฝีมือต้องประดิษฐ์แต่ละชิ้นส่วนขึ้นอย่างพิถีพิถันเพื่อให้มั่นใจในความยืดหยุ่นของตัวเรือนแล้วเสร็จยามสวมใส่ติดลำคอ จากนั้น จึงทำการฝังเพชรลงบนตำแหน่งแอ่งเว้าของขดคลื่นบนโค้งตัวเรือน ก่อนทำการขัดผิวในทุกอณูรายละเอียดเป็นขั้นตอนสุดท้ายเพื่อให้เพชรเรียงแถวแนวตั้งไล่เรียงรอบลำคอแต่ละเม็ด บนแต่ละองค์ ประกอบแถบขดคลื่น ร่วมกันก่อประกายเจิดจรัสตระการตาอย่างเต็มที่ เพื่อทวีความหรูหราอ่อนช้อย สุดวิจิตรบรรจง บนปลายชิ้นส่วนแถบโลหะโค้งขดคลื่นด้านหน้าลำคอทั้งบน และล่าง ยังประดับเพชรหยดน้ำหยาดตัวลงมาแกว่งไกวไปมาตามอากัปการเคลื่อนไหวจนดูคล้ายกับมีหยดน้ำละอองเพชรเกาะตัวอิงแอบแนบผิวอย่างน่าตื่นตา

New Haricot, Boogie-Woogie and Spontini
เข็มกลัดฝักถั่วรุ่นใหม่, บูกี-วูกี และลูกเล่นรัดปมสป็อนตินิ


เข็มกลัดฝักถั่วอาริโกต์รุ่นใหม่ (New Haricot) คือบทรังสรรค์อันแยบคายจากเข็มกลัดเปลวอัคคี (Flame) รุ่นต้นแบบ ผลงานชิ้นสำคัญของเมซงเมื่อปี 1934 ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “อาริโกต์” ในภายหลังสืบเนื่องจากรูปทรงคล้ายคลึงกับฝักถั่วฝรั่งเศส และประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องกับงานออกแบบรุ่นต่างๆ ตลอดทศวรรษ 1960 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชิ้นที่แจ็คเกอลีน เคนเนดีนิยมใช้เป็นเครื่องประดับประจำตัวในหลายโอกาส สำหรับผลงานรังสรรค์ใหม่รุ่นนี้ โดดเด่นเป็นหนึ่งด้วยการใช้ทองคำขาวร่วมกับทองคำสีกุหลาบหล่อแบบเป็นโมทิฟแยกชิ้นก่อนนำมาประกบตัวเรือนรอบชิ้นส่วนแกนกลาง จุดเด่นสะดุดตาของเข็มกลัดชิ้นนี้อยู่ที่งานฝังเพชรกลมเม็ดใหญ่ไล่ลำดับขนาดลงบนเขี้ยวหนามเตยท่ามกลางงานฝังเพชรจิกไข่ปลาเรียงแถวอย่างสม่ำเสมอ กลมกลืนกันทั่วทั้งชิ้นงาน ความใส่ใจในรายละเอียดอันเป็นแบบฉบับเฉพาะ Van Cleef & Arpels ยังสะท้อนผ่านเขี้ยวหนามเตยโลหะทองสองโทนสีที่รองรับบรรดาเพชรลูกกลางตัวเรือนเพื่อทวีความโดดเด่นให้แก่ลูกเล่นไล่เฉดโทนอย่างละเมียดละไม

New Haricot, Boogie-Woogie and Spontini


การใช้เส้นกราฟิกในงานออกแบบกำไลข้อมือบูกี-วูกี (Boogie-woogie เป็นจังหวะเต้นรำเพลงสวิงยอดนิยมระหว่างทศวรรษ 1940 อาศัยการผสมผสานงานบรรเลงเพลงบลูส์ด้วยเปียโนเข้ากับเบสหนักแน่น กระชั้นจังหวะแปดตัวโน้ตเสมือนร็อค แอนด์โรล) คือลูกเล่นดัดแปลงสรุปความตัวอย่างผลงานชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมซงจากปลายทศวรรษ 1930 จนถึงระหว่างทศวรรษ 1940 ซึ่งเป็นสมัยนิยมเครื่องประดับรูปทรงหรูหราอลังการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของห่วงโซ่ทองขนาดใหญ่ที่ดูขัดแย้งกับความยืดหยุ่นของโครงสร้างตัวเรือน เพื่อให้วงกำไลมีความยืดหยุ่น สวมสบาย มอบความรู้สึกอ่อนช้อยท่ามกลางเส้นโค้งกับเหลี่ยมมุม ลูกเล่นสำคัญจึงอยู่ที่งานกระหวัดรัดร้อยโครงแผ่นโมทิฟโปร่งครึ่งวงกลมให้ยึดตัวต่อกันอย่างระมัดระวัง การจัดตำแหน่งสัณฐานเรียบแบนให้ดูเหมือนสายระย้าทิ้งตัวสลับกับทรวดทรงโค้งนูนต่อเนื่องกันไปตลอดรอบโค้งข้อมือ หาได้ต่างอะไรจากงานประดับปูโมเสคแท่งโลหะล้ำค่าฝังเพชรล้อแสงทอประกายสว่างคั่นจังหวะเว้นช่องไฟพื้นที่ว่าง นอกจากนั้น บนกึ่งกลางของแต่ละชิ้นส่วนข้อต่อห่วงโซ่ ยังรองรับการฝังเพชรทรงกลมสลับเพชรทรงวงรีในสัดส่วนสมมาตร มอบความสมดุลให้กับชิ้นงานในทุกแง่มุม

ส่วนแหวนรัดกระดุม หรืออีกนัยหนึ่งก็คือแหวนเชือกเกลียวรังดุม “สป็อนตินิ” (Spontini ring)อาศัยงานออกแบบลายมัดปมสป็อนตินิ หนึ่งในโมทิฟซึ่งปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งตลอดประวัติความเป็นมาของ Van Cleef & Arpels เพื่อสื่อถึงความรัก ความนิยมชมชื่นของเมซงอันมีต่อศิลปะการตัดเย็บในวงการแฟชัน ขดโค้งหัวแหวนอันต่อเนื่องถึงวงตัวเรือน ถูกออกแบบขึ้นอย่างพิถีพิถันบนความลื่นไหลของเส้นสาย อำนวยให้แถบทองคำพลิกตัวพับทบเสมือนเวลาใช้เกลียวเชือกรัดปมกระหวัดเกี่ยวรอบกระดุมได้อย่างเสมือนจริง และเพื่อเติมเต็มความสมจริง กระดุมหัวแหวนคือเพชรเจียระไนทรงหยดน้ำขนาด 3.04 กะรัต จรัสประกายเจิดจ้าท่ามกลางลีลาเร่งระดับความสว่างจากงานฝังเพชรเหลี่ยมเกสรเรียงแถวคู่ขนาน คุณภาพสูงสุดของสีเพชรระดับ Dเสมอกับน้ำเพชรบริสุทธิ์ปราศจากตำหนิ (Internally Flawless หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า IF) มอบเนื้อแท้แห่งความงามอันควรค่าแก่นิยาม “เพชรน้ำหนึ่ง” ให้หัวแหวนทรงลูกแพร์ ซึ่งผ่านการเจียระไนโดยคำนึงถึงความสมบูรณ์แบบในเชิงสมดุลของสัดส่วนตามมาตรฐานนิยมแห่ง Van Cleef & Arpels

Fabulous Fifties and Chemin de Diamants


ชื่อซึ่งสื่อความหมายตรงตัวว่า “ทศวรรษ 1950 อันสุดบรรเจิด” ของสร้อยคอ Fabulous Fifties (ฟาบูลัส ฟิฟตีส์) คือตัวแทนเสน่ห์หรูหราในครั้งอดีตผ่านการใช้เส้นรูปทรงจุดประกายความทรงจำถึงกระแสธารเพชรระยับแสงสุกสว่างกลางจอภาพยนตร์ขาว-ดำ ในยุคทองของฮอลลีวูด อันส่งผลให้บรรดาเมซง หรือผู้ผลิตเครื่องประดับอัญมณีชั้นสูงทั้งหลายมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โครงสร้างเปิดโปร่งของสร้อยคอเส้นนี้ ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนที่ผ่านการออกแบบ คำนวณสัดส่วน และน้ำหนักมาอย่างระมัดระวังเพื่อให้ตัวเรือนมีน้ำหนักเบา สวมสบายเป็นอย่างยิ่ง โมทิฟชิ้นต่างๆ ของแผงสร้อยตัวเรือนบอบบาง สวมแนบฐานลำคอเส้นนี้ ได้รับการสรรค์สร้างขึ้นอย่างวิจิตรประณีตเพื่อให้ทิ้งตัวลงแนบผิวสรีระของผู้สวมใส่อย่างลงตัว และงดงาม โครงสร้างรองรับการฝังเพชรน้ำซึ่งผ่านการเจียระไนหลากรูปทรง ทั้งเพชรกลม, ทรงเหลี่ยมจัตุรัส, สี่เหลี่ยมคางหมู และสี่เหลี่ยมผืนผ้าบาแก็ตต์ รวมถึงเทคนิคฝังอัญมณีขึ้นตัวเรือนแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝังสอดลงรางหนีบ, ฝังหุ้มรอบขอบเพชร, ฝังหุ้มหัว-ท้าย และฝังจมเดินลายเกล็ด สำหรับโมทิฟจี้ใจกลางสายสร้อย ทุกสายตาพลันจับจ้องเพชรเดี่ยวคุณภาพระดับ DIF Type 2A เจ้าของน้ำหนัก 10.06 กะรัตเจียระไนเหลี่ยมมรกตเผยหน้าตัดรองรับการส่องผ่านของแสงเพื่อเร่งระดับความสว่างของไฟในน้ำเพชรให้จรัสประกายสุกสกาวของน้ำเพชรบริสุทธิ์หมดจดอย่างมิอาจหาถ้อยคำใดมาพรรณนา เหนืออื่นใด เทคทิคเจียระไนที่นำมาใช้ยังคำนึงถึงการเผยสัดส่วนผิวหน้าตัดพื้นที่กว้างอย่างที่เรียกว่า “คอร์ทเทนนิส” (tennis court)ซึ่งต้องให้ความสำคัญต่อสมดุลเชิงสัณฐานระหว่างความกว้างกับความยาวเป็นพิเศษ
ส่วนแหวน “รอยทางสายเพชร” หรือ Chemin de diamants (เชอแม็ง เดอ เดียมองตส์) นั้น ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานต้นแบบอันทรงเอกลักษณ์ของเมซงระหว่างทศวรรษ 1940 นั่นก็คือโมทิฟเกล็ดหิมะ (Snowflake motif) ซึ่งรองรับการฝังเพชรลูกทรงกลมต่างขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพื่อมอบมิติความลึก และเร่งความเข้มแสง ทอประกายสว่างอย่างเหนือชั้น

ร้อยเพชรเป็นทางเมฆ Envol de Diamants


เพื่อเป็นเกียรติแก่ฌาคเกอลีน โอริอัล (Jacqueline Auriol อ่าน “ฌัคเกอลีโนริอัล”) นักบินหญิงสัญชาติฝรั่งเศสผู้ทำลายสถิติ การบินความเร็วสูงระดับโลกหลายต่อหลายครั้ง Van Cleef & Arpels ได้ออกแบบสร้างสรรค์สร้อยคอ Mystère IV ขึ้นตาม มอบหมายจากมารเซล ดาโซลต์ (Marcel Dassault) เมื่อปี 1956 เพื่อเป็นของขวัญฉลองความสำเร็จให้แก่หนึ่งในวีรกรรมหาญ กล้าระหว่างปี 1953 จนส่งผลให้เธอเป็นนักบินหญิงชาวยุโรปคนแรกที่สามารถขับเคลื่อนบินรบความเร็วสูงทลายกำแพงเสียง และ เพื่อย้อนรำลึกถึงเรื่องราวของผลงานเครื่องประดับระดับประวัติศาสตร์ครั้งนั้น เมซงจึงรังสรรค์ผลงานรุ่นต้นแบบมาสู่คอลเลคชัน ตำนานเพชร Legend of diamonds ผ่านงานออกแบบซึ่งอาศัยการฝังเพชรน้ำล้วนทั่วทั้งตัวเรือน ในขณะที่สร้อยคอ Mystère IV รุ่นต้นแบบเมื่อปี 1956 ได้รับการสรรค์สร้างขึ้นโดยใช้ทองคำเหลืองฝังเพชรต่างทางเมฆหางเครื่องบินทอดยาวเป็นวงตัวเรือน โอบกระหวัดรอบฐานลำคออย่างอ่อนช้อยออกมาจากจี้รูปเครื่องบิน ผลงานรุ่นใหม่ในคอลเลคชันนี้ กลับถูกออกแบบเป็นวงโค้ง ทางเมฆหางเครื่องบินแต่เพียงอย่างเดียวโดยอาศัยงานประกอบชิ้นส่วนทองคำขาวฝังเพชรขึ้นโครงสร้างอสมมาตรทิ้งตัวประดับ ระหงคออย่างงามสง่า ชิ้นส่วนแต่ละปล้องของตัวเรืองวงสร้อยคอคือแถบโมทิฟโลหะทองคำขาวดัดโค้งรองรับการฝังเพชรสำหรับ นำมาประกบเรียงอย่างต่อเนื่องโดยพลิกแพลงมาจากลูกเล่นงานออกแบบสร้อยคอเกศาอัปสร (Angel Hair) รุ่นต่างๆ ระหว่าง ทศวรรษ 1950 เพื่อมอบความยืดหยุ่น สวมสบาย และเพื่อเติมเต็มความวิจิตรบรรจง ยังมีตัวเรือนอีกส่วนประกอบขึ้นจากงาน ออกแบบทองคำขาวฝังเพชรแถวเดี่ยวซ้อนกันสามเส้นทอดยาวเสมือนเป็นทางเมฆพวยพุ่งออกมาจากปลอกริบบินจรัสแสงระยับตา

 

 

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้