Last updated: 23 ส.ค. 2566 | 1180 จำนวนผู้เข้าชม |
ค.ศ. 1910 สี่ปีหลัง Van Cleef & Arpels ได้เริ่มต้นดำเนินกิจการ อองเดร ซูอาเรส์ นักประพันธ์กวีนิพนธ์สัญชาติฝรั่งเศสได้ตีพิมพ์หมายเหตุการเดินทางในอิตาลีของตนโดยใช้ชื่อว่า “จดหมายเหตุการเดินทางของพลทหารรับจ้าง” หรือ Le Voyage du Condottière (เลอ วัวยาช ดู กงด็อตติแอร) เพื่อลำดับเหตุการณ์ระหว่างตระเวนไปตามศูนย์กลางวัฒนธรรมแห่งดินแดนรองเท้าบูต (เมื่อดูในแผนที่โลก ประเทศอิตาลีมีรูปทรงเหมือนรองเท้าบูต) อันประกอบไปด้วยนครเวนิส, ฟลอเรนซ์ และเนเปิลส์ รวมถึงการศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับเหล่าอัครศิลปินยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการอิตาเลียน อย่างเลโอนาร์โด ดา วินชี, ซานโดร บ็อตติเชลลิ และมิเกลันเจโล เป็นอาทิ สำหรับนักเขียน และนักกวีชาวฝรั่งเศสผู้นี้ “ก็เหมือนสิ่งอื่นๆ ทั้งหลายที่มีความสำคัญยิ่งต่อชีวิต การเดินทางสู่แหล่งอารยธรรมในเมืองต่างๆ ถือเป็นผลงานศิลปะ หรือผลงานการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง” เพื่อตามรอยนักเขียน ตลอดจนเหล่านักเดินทางผู้จารึกเรื่องราว “สัญจรศิลป์ถิ่นวัฒนธรรม” หรือ Grand Tour (กรองด์ ตูร) เป็นของตนเอง เมซงจึงถ่ายทอดแง่มุมต่างๆ จากการเยี่ยมชม และศึกษาค้นคว้าในแต่ละเขตแดนอารยศิลป์ ซึ่งได้ทิ้งร่องรอยศิลปวัฒนธรรมในแต่ละยุคสมัยไว้บนผืนแผ่นดินยุโรปผ่านการรังสรรค์เครื่องประดับอย่างที่ไม่เคยมีเมซงใดทำมาก่อน
คำว่า Grand Tour หรือ “สัญจรศิลป์ถิ่นวัฒนธรรม” นั้น ถือกำเนิดขึ้นในประเทศอังกฤษประมาณศตวรรษที่ 16 เพื่อใช้จำกัดความถึงการออกตระเวนเดินทางของเหล่าชายหนุ่มจากตระกูลสูง หรือครอบครัวผู้มั่งคั่ง ไปเยือนตามหัวเมืองสำคัญหลายแห่งของยุโรป พร้อมกับทำการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะ, วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของผู้คนในสถานที่ต่างๆ เหล่านั้น โดยลักษณะการเดินทางจะเป็นเสมือนเส้นโคจรที่วนกลับมายังจุดตั้งต้น Grand Tour ได้กลายเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในระหว่างศตวรรษที่ 18 ถึง 19 เหล่าดรุณวัยแห่งชนชั้นสูงจะเริ่มสัญจรศิลป์ถิ่นวัฒนธรรมไปทั่วภาคพื้นทวีป (กินเวลาประมาณสองถึงสามปี) จนวนกลับมายังจุดตั้งต้น จึงถือว่าเสร็จสิ้นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ตลอดจนการหล่อหลอมหลักประพฤติ ขยายมุมมองต่อวิถีโลก และเป็นการยืนยันความพร้อมให้กับสถานภาพของตนก่อนเปิดตัวเข้าสู่วงสังคม เลือกคู่ และแต่งงาน (คล้ายกับการบวชเรียนของคนไทยในกาลก่อน) การเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต อันเป็นที่นิยมอย่างสูงในยุคแรกเริ่มนั้น ประกอบไปด้วยเส้นทางสัญจรศิลป์ถิ่นวัฒนธรรมสองสาย นั่นก็คือการเดินทางสู่ปารีส และพำนักในนครสำคัญของอิตาลี อีกเส้นทางจากสวิตเซอร์แลนด์ ทอดยาวไปตลอดตอนเหนือของฝรั่งเศสผ่านเทือกเขาแอลป์ และจังหวัดต่างๆ ของเยอรมันนั้น ก็เป็นที่นิยมไม่แพ้กัน สัญจรศิลป์ถิ่นวัฒนธรรมหรือ Grand Tour เป็นเสมือนใบเบิกทางสู่การเรียนรู้จริงในขอบเขตของศิลปะ และวรรณกรรม ประสบการณ์ซึ่งได้จากแต่ละทางสัญจร ยังมีลักษณะเด่นเป็นการเฉพาะผ่านการศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับวัฒนธรรมสถานประจำถิ่นของแต่ละประเทศที่ไปเยือน อาทิเช่น อนุสรณ์สถานของอดีตอันเรืองรอง หรือบทสะท้อนของผลงานร่วมสมัยในแต่ละยุค ถึงแม้ค่าใช้จ่ายตลอดเส้นทางสัญจรศิลป์ถิ่นวัฒนธรรมแต่เดิมทีจะอักโขจนกลายเป็นเรื่องสงวนสำหรับชนชั้นสูง และกลุ่มผู้มั่งคั่งเพียงเท่านั้น กระนั้น หลายปีต่อมา ก็กลายเป็นกิจกรรมยอดนิยม และดึงดูดความสนใจวงกว้างต่อสาธารณชน อาจกล่าวได้ว่า เป็นความฝัน ความปรารถนาของบรรดาศิลปิน และปัญญาชน
เส้นทางสัญจรศิลป์ถิ่นวัฒนธรรมสายดั้งเดิมของยุโรป ได้กลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และมรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่า สร้างแรงบันดาลใจทางการรังสรรค์งานออกแบบเครื่องประดับชั้นสูงคอลเลกชันใหม่ของ Van Cleef & Arpels โดยใช้ชื่ออันอุปมาเสมือนรจนาวรรณกรรมว่า “นิราศนครอารยศิลป์โดย Van Cleef & Arpels” หรือ Le Grand Tour raconté par Van Cleef & Arpels (เลอ กรองด์ ตูร ราก็องเต ปาร แวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์) ในขณะที่บรรดาสร้อยคอประติมากรรมกับต่างหูระย้า ต่างนำมาซึ่งความทรงจำถึงเครื่องประดับอัญมณีในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ สร้อยข้อมือแถบกว้างก็ทำหน้าที่เป็นเสมือนผืนผ้าใบถ่ายทอดทิวทัศน์เลื่องชื่อหลายต่อหลายแห่งโดยอาศัยเทคนิคเลียนแบบงานโมเสกแผ่นจิ๋วเดินลวดลายเล็กละเอียด (micro-mosaics) จากยุคโรมันโบราณ ส่วนเข็มกลัดทั้งหลาย ก็ไม่ต่างอันใดจากการนำจี้ และเหรียญตรายอดนิยมในกาลอดีตกลับมาเติมความสดใหม่ ชวนให้ตื่นตาตื่นใจได้อีกครั้ง อาจกล่าวได้ว่า เครื่องประดับทั้ง 70 ชิ้นของคอลเลกชัน คือการเปิดประตูไปสู่การค้นพบ ทำความรู้จักกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในแง่มุมต่างๆ ของเมซง
หลักฐานความงามจากสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และความเชื่อเรื่องเทพของอาณาจักรโรมันโบราณนั้น ได้นำมาสู่การสร้างสรรค์ชิ้นงานเลอค่าหลากหลายชิ้นให้กับคอลเลกชันนี้ ทั้งสร้อยคอ, เข็มกลัด, แหวน และกำไล หนึ่งในชิ้นงานไฮไลท์ของเมืองนี้คือ สร้อยคอ “จัตุรัสแห่งแดนสรวง” หรือ Piazza divina (ปิเอซซา ดิวินา) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์มากจากสถาปัตยกรรมบาโรกที่ใช้ตกแต่งจัตุรัสหน้าลาน และแนวเสาระเบียงของมหาวิหารเซนต์ ปีเตอร์ หรือมหาวิหารนักบุญเปโตรในนครรัฐวาติกันอันได้รับการยกย่องให้เป็นประตูสู่กรุงโรม
สร้อยคอ “จัตุรัสแดนสรวง” หรือ Piazza divina (ปิเอซซา ดิวินา) พร้อมจี้ประดับสับเปลี่ยนได้ตัวเรือนทองคำขาวประกอบทองคำสีกุหลาบ, ทองคำสีเหลือง และแพลทินัม จี้ประดับมรกตเม็ดเดี่ยวเจียระไนทรงวงรีน้ำหนัก 13.09 กะรัต (มรกตเอธิโอเปีย) ร่วมกับเพชรเดี่ยวเจียระไนทรงหยดน้ำคุณภาพ DFL Type 2A น้ำหนัก 1.03 กะรัตและเพชรเดี่ยวเจียระไนทรงหยดน้ำคุณภาพ DFL Type 2B น้ำหนัก 1.03 กะรัต ตกแต่งรายละเอียดด้วยมรกต, ไพลิน และเพชร ผลงานที่ได้รับการสร้างสรรค์ และตั้งชื่อขึ้นเพื่อยกย่องความเลอเลิศของแหล่งกำเนิดแรงบันดาลใจ นั่นก็คือสถาปัตยกรรมบาโรกที่ใช้ตกแต่งจัตุรัสลานหน้า และแนวเสาระเบียงของมหาวิหารเซนต์ ปีเตอร์ หรือมหาวิหารนักบุญเปโตรในนครรัฐวาติกันอันสุดตระการตาจนได้รับการยกย่องให้เป็นประตูสู่กรุงโรม จากการออกแบบโดยแบรนินิ (จาน ลอเรนโซ แบรนินิ) ประติมากรสัญชาติอิตาเลียน ผู้ถนัดในลูกเล่นเส้นโค้งสลับเหลี่ยมมุมอย่างสลับซับซ้อนไม่ธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้พื้นที่กรอบรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูรองรับรายละเอียดทรงวงรี หรือรูปไข่ อีกนัยหนึ่งก็คือการจับคู่อยู่ร่วมระหว่างรูปทรงเรขาคณิตที่มีความขัดแย้ง ก่อลีลาเส้นกราฟิกตัดกันอย่างงดงาม และสร้อยคอเส้นนี้ก็คือการหยิบยืมรูปทรงวงกลม กับวงรี และเส้นโค้งขดกระหวัดมาสรรค์สร้างเป็นลวดลายเรขาคณิตบนตัวเรือนผ่านการร้อยเรียงบรรดาวงแหวนทองคำขาวฝังเพชรประดับไพลินเข้ากับวงรีทองคำขาวฝังเพชรประดับมรกตประกอบเข้าด้วยกันเป็นแถบสร้อยสำหรับสวมติดลำคอ (โชคเกอร์) ขณะเดียวกัน จังหวะอ่อนช้อยดุจงานถักร้อยนี้ ก็ยังทวีความโดดเด่นด้วยระย้าวงแหวนทองคำสีกุหลาบล้อมเพชรสิบสี่ชิ้นคั่นสลับกับโมทิฟเพชรเดี่ยวทรงหยดน้ำประดับปลายด้วยมรกตเม็ดเดี่ยว สำหรับจี้สร้อยคอ ได้รับการขึ้นตัวเรือนเป็นรูปเหรียญตราทรงกลมรองรับงานฝังมรกตเม็ดเดี่ยวเจียระไนทรงวงรีน้ำหนัก 13.09 กะรัต จัดตำแหน่งแนวตั้งอยู่ท่ามกลางงานล้อมเพชรฝังเรียงแถวดุจแถบลำแสงรัศมีกระจายตัวออกมาโดยรอบก่อมิติความลึกได้อย่างเฉียบคม ในขณะเดียวกัน โครงสร้างจี้ทรงเหรียญตรา ซึ่งอาศัยกรอบเส้นทองคำสีกุหลาบบอบบาง ยังอำนวยให้สายตาผู้พบเห็นได้ดื่มด่ำกับเนื้อสีล้ำลึก ทอประกายกระจ่างสุกใสของอัญมณีหายากจากเอธิโอเปียดาวเด่นเม็ดนี้อย่างเต็มที่ และเพื่อตอบรับกับอารมณ์ หรือโอกาสการแต่งกาย จี้สร้อยคอชิ้นนี้ก็สามารถปลดออกสลับเปลี่ยนกับจี้ชิ้นที่สอง ซึ่งใช้งานฝังเพชรล้วนตรงกึ่งกลางโครงสร้างให้เข้ากับต่างหูในชุดเดียวกัน
อีกผลงานเด่นก็คือ เข็มกลัด “กุณโฑสองหู” หรือ Anfora (อางโฟรา) ถูกสรรค์สร้างขึ้นเพื่อเล่าขานความเป็นมหานครผู้ยิ่งใหญ่ในยุคโบราณของกรุงโรม โดยการใช้เทคนิคการแกะสลักร่องลึกเดินลายรูปเดินลายรูปกุณโฑ หรือคนโทสองหูแบบโบราณ (หม้อน้ำทรงคอสูง) บนเหรียญโมรา และประดับด้วยโกเมนสีส้มสเปซซาไทต์เจียระไนทรงวงรีน้ำหนัก 4.87 กะรัต ไม่ต่างอะไรจากภาพวาดหุ่นนิ่งหรือภาพวาดวัตถุนิ่ง (still life) เข็มกลัด “กุณโฑสองหู” หรือ Anfora (อางโฟรา) ถูกสรรค์สร้างขึ้นด้วยลูกเล่นประติมากรรมซ้อนประติมากรรม เพื่อรองรับความเป็นหนึ่งของเหรียญโมราสลับลายหรือแจสเปอร์แกะสลักร่องลึกเดินลายรูปกุณโฑ หรือคนโทสองหูแบบโบราณจากต้นแบบพลอยแกะศตวรรษที่ 2 และด้วยการใช้เทคนิคสลักลายร่องลึก จึงทำให้ผลงานชิ้นนี้แตกต่างจากเหรียญทั่วไปในยุคเดียวกันนั้นที่นิยมประติมากรรมนูนต่ำ หรือลายนูน เพื่อยกย่องคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเหรียญแจสเปอร์สลักลายร่องลึกชิ้นนี้ ฐานตัวเรือนรองรับจึงอาศัยแรงบันดาลใจจากศิลปะช่างทองตามธรรมเนียมดั้งเดิมเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมทองคำขึ้นรูปสามมิติ หรือประติมากรรมทองดุนลายด้วยงานค้อน รวมกระทั่งประติมากรรมทองขัดผิวขึ้นเงาราวกระจก โดยมีพลอยน้ำสมุทรลาพิซ ลาซูลิเจียระไนหลังเบี้ยเป็นบทเติมเต็มผลงานที่ระลึกถึงความเป็นเลิศทางอารยศิลป์โรมันโบราณ ก่อลูกเล่นสีตัดกับบรรดาเพชรลูกทรงกลม ซึ่งนำมาใช้ฝังเดินลาย และล้อมกรอบเพื่อขับความโดดเด่นให้แก่ทั้งชิ้นงาน เพื่อเติมเต็มความสมดุล โกเมนสีส้มสเปซซาไทต์เจียระไนทรงวงรีน้ำหนัก 4.87 กะรัต ก็ถูกนำมาฝังลงอย่างกลมกลืนกลางวงเขี้ยวหนามเตยทองคำสีกุหลาบในตำแหน่งแนวนอน รับแสงตกกระทบสะท้อนประกายอบอุ่นสุกสกาวดั่งดวงตะวันฉายรัศมีอาบไปทั่วชิ้นงาน
นอกจากนี้ยังมีชิ้นงานที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความเชื่อเรื่องเทพโบราณ อย่างเข็มกลัด “กรวยเขาแพะ” หรือ Cornucopia (คอร์นูโคเปีย) ซึ่งมาจากเขาแพะของเทพีอมาลเธียผู้มอบน้ำนมเลี้ยงดูเทพซูสที่ถูกเนรมิตจากเขาแพะที่หักให้เป็น “กรวยแห่งความอุดมสมบูรณ์” และได้กลายเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความมั่งคั่งของพืชพรรณอย่างไม่มีวันหมดสิ้น Van Cleef & Arpels ออกแบบเข็มกลัดชิ้นนี้ขึ้นอย่างหรูหราด้วยการใช้รูเบลไลต์ เม็ดเดี่ยวน้ำหนัก 12.38 กะรัต ประดับท่ามกลางงานประดับทับทิม, ไพลินสีชมพู, โกเมนสีส้มสเปซซาไทต์, พลอยดอกตะแบกหรืออาเมธิสต์ และเพชร ในเทพปกรณัมกรีกโบราณ เขาแพะของเทพีอมาลเธียผู้มอบน้ำนมเลี้ยงดูมหาเทพซูสเกิดหักไปข้างหนึ่งโดยอุบัติเหตุ ด้วยซาบซึ้งสำนึกบุญคุณ ซูสจึงเนรมิตเขาแพะที่หักนี้ให้เป็น “กรวยแห่งความอุดมสมบูรณ์” ก่อนคืนให้แก่เทพีผู้มีคุณ และกลายเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความมั่งคั่งพรั่งพร้อมของพืชพรรณธัญญาหารอย่างไม่มีวันหมดสิ้นกันมานับแต่นั้น ในสมัยของศิลปะยุคใหม่ “กรวยแห่งความอุดมสมบูรณ์” ได้ถูกรังสรรค์ขึ้นโดยอาศัยงานสานหวายเป็นทรงกรวยเขาแพะ เรียกว่า Cornucopia (คอร์นูโคเปีย) กระนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด สัญลักษณ์แห่งความเจริญมั่งคั่งตราบนิรันดร์นี้ ก็มอบแรงบันดาลใจให้ Van Cleef & Arpels ออกแบบเข็มกลัดชิ้นนี้ขึ้นอย่างหรูหราด้วยการใช้ทุรมาลีสีทับทิมหรือรูเบลไลต์ เม็ดเดี่ยวน้ำหนัก 12.38 กะรัตจรัสประกายแดงสดล้ำลึกอยู่ท่ามกลางงานเจียระไนทรงเหลี่ยมหมอนหลายหน้าตัดรับแสงตกกระทบ อันอำนวยต่อการเร่งระดับความสว่างยามสะท้อนวิถีแสงจากงานล้อมใบไม้ทองคำขาวฝังเพชรร่วมกับพวงพลอยดอกตะแบก และผลทับทิมทำจากทับทิมกับโกเมนสีส้มสเปซซาไทต์ ซึ่งรัตนชาติแต่ละเม็ด ล้วนอาศัยงานเจียระไนยกหน้าตัดเพื่อให้ร่วมกันจุดประกายจินตนาการถึงความฉ่ำหวานของเนื้อผลไม้สด เพื่อเติมเต็มความพร้อมสรรพ ช่อดอกไม้เลอค่าจากงานฝังไพลินสีชมพูไล่เฉดโทนกลมกลืนกับโกเมนสีส้มสเปซซาไทต์ และเพชร ทอประกายสุกสว่างจากการจัดตำแหน่งให้หน้าตัดก่อวิถีสะท้อนแสงตกกระทบอย่างต่อเนื่องไปมากับเนื้อทองสีกุหลาบขัดผิวขึ้นเงาวาวระยับ เพื่อให้เข็มกลัดมีน้ำหนักเบา อันเป็นหนึ่งในคุณลักษณ์ทางงานสร้างสรรค์ของเมซง ตัวเรือนเข็มกลัดจึงอาศัยโครงสร้างเป็นโพรงกลวง ในขณะที่ภายนอกก็เต็มไปด้วยความอ่อนช้อยของขดริบบินที่ม้วนตัวอย่างต่อเนื่องเสมือนจริง
สร้อยคอ “มงกุฎดอกไม้” หรือ Ninfe (นินเฟ) ตัวเรือนทองคำสีกุหลาบประกอบทองคำขาวร้อยพวงดอกไม้อัญมณีโดยมีทุรมาลีสีทับทิมหรือ รูเบลไลต์เม็ดเดี่ยวเจียระไนทรงเหลี่ยมหมอนน้ำหนัก 24.02 เป็นศูนย์กลางอยู่ระหว่างทุรมาลีสีทับทิมสดเจียระไนทรงวงรีสองเม็ดน้ำหนัก 12.44 กับ 11.52 กะรัต ร่วมกับงานประดับไพลินสีชมพู, ทับทิม, โกเมนสี สร้อยคอ “มงกุฎดอกไม้” หรือ Ninfe (นินเฟ) คือการรังสรรค์รูปแบบความงดงามชวนฝันของมงกุฎดอกไม้ หรือ “มาลาพฤกษา” ดังปรากฏบนลายปูโมเสก ซึ่งถูกค้นพบท่ามกลางซากปรักหักพังของวิหารนางอัปสรแห่งนครเฮอร์คิวเลเนียม โดยสันนิษฐานว่าถูกปลูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานบูชาเหล่าเทพธิดาอารักษ์แห่งพงไพร ความวิจิตรบรรจงของมาลาพฤกษาที่ถูกรัดร้อยเข้ากับริบบินสองสาย ซึ่งอาศัยงานออกแบบกลับด้านราวเงาสะท้อน ถูกเนรมิตขึ้นเป็นเรือนสร้อยล้ำค่าประกอบข้อต่อทองคำสีกุหลาบสลักลายคิ้วนูนคั่นจังหวะช่องไฟด้วยงานฝังเพชร และประดับรายละเอียดด้วยไพลินสีชมพูให้เรียงตัวรอบวงคอมาบรรจบกันภายใต้ลูกเล่นประติมากรรมปมเงื่อนสามมิติ ขณะเดียวกับที่ศูนย์กลางด้านหน้าตัวเรือนรองรับการจัดสัดส่วนองค์ประกอบเชิงโครงสร้างระหว่างมวลใบไม้ทองคำสีกุหลาบสลักลายคิ้วนูนต่างเส้นใบ, ทองคำขาวเดินลายเส้นใบฝังเพชร รวมถึงใบไม้แก้วประพาฬสีแดง และใบไม้แก้วประพาฬสีชมพู “เนื้อผิวนางอัปสร” (angel skin) ให้รายล้อมรอบความเลอเลิศของรัตนชาติสีสดน้ำกระจ่างสุกใสทั้งสามเม็ด อันได้แก่รูเบลไลต์สีชมพูอ่อนเจียระไนทรงเหลี่ยมหมอนน้ำหนัก 24.02 กะรัตจรัสประกายล้อแสงสุกสว่างอาบผิวระหงคอจากน้ำพลอยอย่างโดดเด่นตัดกับโทนเข้มล้ำลึกของทุรมาลีสีทับทิมหรือรูเบลไลต์แดงสดอมชมพูเข้มเจียระไนทรงวงรีสองเม็ด น้ำหนัก 12.44 และ 11.52 กะรัต เจ้าของเนื้อสีเสมอกันอย่างหมดจด อันเป็นผลจากการคัดเลือกสุดพิถีพิถัน และใส่ใจเป็นอย่างยิ่งของทีมผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีประจำ Van Cleef & Arpels อีกทั้งความสมมาตรเชิงสัณฐาน จึงทำให้โทนสีของทั้งสามกลมกลืนกับทับทิม, ไพลินสีชมพู และโกเมนสีส้มสเปซซาไทต์ ซึ่งถูกระดมมาอยู่ร่วมกันราวจัดพฤกษาเข้าช่อประดับผลงาน ความพิถีพิถัน และใส่ใจอย่างที่สุด ยังครอบคลุมไปถึงงานคำนวณสัดส่วน และตำแหน่งของการประกอบชิ้นส่วนทั้งหลายเข้าด้วยกันอย่างแยบยล เช่นเดียวกับที่ปลายใบไม้บนโมทิฟกึ่งกลาง ได้รับการขัดเกลาเหลี่ยมมุมให้โค้งมนลดสัมผัสระคายผิวระหว่างสวมใส่ นี่คือผลงานซึ่งถูกออกแบบขึ้นเพื่อยกย่องความสำคัญของช่วงเวลาแห่งความสุข เบิกบานใจเมื่อการเริ่มต้นใหม่ตามวัฏฏะตราบนิรันดร์ของธรรมชาติได้มาถึง อันถือเป็นแหล่งกำเนิดแรงบันดาลใจ จุดประกายจินตนาการให้แก่ Van Cleef & Arpels มานับแต่ก่อตั้ง
ผลงานในคอลเลกชั่นนี้ยังมีอีกมากมายหลายชิ้นที่สวยสะดุดตาและงามวิจิตร ซึ่งประกอบขึ้นด้วยเรื่องราวต่างมิติผ่านการหลอมรวมธรรมเนียมนิยมในศิลปะเครื่องประดับอัญมณีเข้ากับศิลปะทางการตกแต่ง ผลงานบางชิ้น มีต้นแบบมาจากของที่ระลึกระหว่างการสัญจรศิลป์ถิ่นวัฒนธรรมหรือ Grand Tour ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องของการค้นพบ ทำความรู้จัก และทำความเข้าใจในเหตุการณ์ต่างยุค ต่างสมัย ต่างวัฒนธรรมไปพร้อมกันอีกเช่นเคย ด้วยเหตุนั้น เราจึงก้าวไปตามเส้นทางที่บรรพชนได้ทิ้งร่องรอย หรือหลักฐานไว้ และทำการเลือกเมืองอันมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่พวกเขาหยุดพำพักเพื่อศึกษา และเรียนรู้ เราอาศัยแรงบันดาลใจจากเครื่องประดับอัญมณียุคโบราณ ไม่ว่าจะเป็นโรมัน, อีทรัสคัน, ยุคกลาง หรือยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ มาหลอมรวมเข้ากับมรดกทางงานออกแบบ, สไตล์เฉพาะตัว และหัตถศิลป์งานฝีมือของเรา ผลลัพธ์ที่ได้ จึงหาได้ต่างอันใดจากสมุดวาดภาพร่างแบบหลากสีสันอันชวนให้ดื่มด่ำไปกับเรื่องราวของจุดหมายปลายทาง และความงดงามของรัตนชาติ”
28 พ.ค. 2567
17 มิ.ย. 2567
27 มี.ค. 2567
28 พ.ค. 2567