\\

LOUIS VUITTON X AKRIVIA

Last updated: 16 ต.ค. 2566  |  747 จำนวนผู้เข้าชม  | 

LOUIS VUITTON X AKRIVIA

หลังประกาศรางวัล Louis Vuitton Watch Prize for Independent Creatives เมื่อต้นปี 2023 Louis Vuitton ได้จับมือร่วมกับผู้ผลิตนาฬิกาอิสระที่มีชื่อเสียง โดยเริ่มโปรเจ็กแรกด้วยผลงานที่พร้อมเขย่าวงการนาฬิกาครั้งใหญ่ LVRR-01 Chronographe à Sonnerie ความร่วมมือครั้งสำคัญของแบรนด์ Ateleier Akrivia ของช่างนาฬิกาอิสระหนุ่มชาวโคโซโว Rexhep Rexhepi (เร็กซ์เชป เร็กซ์เชปปี) และ Louis Vuitton

LVRR-01 เป็นนาฬิกาโครโนกราฟแบบหน้าสองปัด (หน้าปัดด้านหน้าและด้านหลัง) ที่มีกลไกซับซ้อนพิเศษ ผสมผสานแก่นแท้ของเมซงทั้งสองเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ขับเคลื่อนด้วยกลไกทูร์บิญองชุดใหม่ที่พัฒนาตั้งแต่เริ่มต้นโดย Atelier Akrivia และ Rexhep Rexhepi ผู้ก่อตั้งแบรนด์ บรรจุในตัวเรือน Louis Vuitton Tambour ที่ได้รับการออกแบบใหม่

แนวคิดพื้นฐานของ LVRR-01 รวบรวมไว้บนพื้นหน้าปัดแซฟไฟร์ เมื่อมองไกลๆ ก็จะดูคล้ายกับเป็นโลโกทั่วไป แต่เมื่อดูใกล้ๆ อย่างพินิจพิจารณา สัญลักษณ์ดังกล่าวจะเผยให้เห็นถึงการรวมกันของสองชื่อแบรนด์ระหว่าง LV รวมเข้ากับ AKRIVIA (โดยสัญลักษณ์ของ LV แทรกอยู่ระหว่างตัว I และ I) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ Louis Vuitton รวมโลโกของตนเข้ากับโลโกของแบรนด์อื่น

Louis ผสานไปกับ Rexhep
LVRR-01 ผสมผสานความเป็น Louis Vuitton และ Atelier Akrivia เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ แม้ทั้งสองจะต่างที่มา แต่ก็มีความหลงใหลเช่นเดียวกัน เมซงทั้งสองก่อตั้งขึ้นในเวลาที่ห่างกันกว่า 150 ปี หากยังคงค่านิยมในหลักการเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางด้านงานฝีมือและมีผู้ก่อตั้งที่มีวิสัยทัศน์และเป็นช่างฝีมือเหมือนกัน

Louis Vuitton เกิดในปี 1821 ในเมืองที่ไม่ไกลจากชายแดนสวิส และย้ายมาปารีสตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เขาเข้าฝึกงานให้กับบริษัทผู้ผลิตหีบหรือ trunk ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น และในไม่ช้าก็สร้างชื่อให้กับตนเองในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการประดิษฐ์หีบเก็บของ โดยมีลูกค้าคนสำคัญอย่าง Empress of France ในปี 1854 เขาได้ก่อตั้งห้องทำงานในชื่อเดียวกันและประสบความสำเร็จอย่างสูง และในที่สุดก็ย้ายไปยังสถานที่ขนาดใหญ่ใน Asnières ที่ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตหีบของ Louis Vuitton ที่ยังคงอยู่ในจนถึงทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์ไม่เคยซ้ำรอย หากเป็นสิ่งที่ดำเนินอย่างคล้องจองกันไปกับ Rexhep Rexhepi ผู้อพยพจากโคโซโว บ้านเกิดของเขา ไปยังกรุงเจนีวาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น และเขาก็ได้ฝึกงานกับโรงงานผลิตนาฬิกาชั้นสูงด้วยวัยเพียง 14 ปี ในปี 2012 เขาก่อตั้งแบรนด์ของตนเองขึ้นในชื่อ Atelier Akrivia ด้วยความเชื่อมั่นในการผลิตนาฬิกาตามประเพณีดั้งเดิมอันยิ่งใหญ่ของ Haute Horlogerie หรือการผลิตนาฬิกาชั้นสูง ความหลงใหลที่มีค่วมกันในการผลิตนาฬิกาชั้นเลิศก่อเกิดเป็นความร่วมมือในการสร้างสรรค์ LVRR-01 ที่มีแนวคิดจากรางวัล Louis Vuitton Watch Prize สำหรับ Independent Creatives

การผสานรวมของกลไกซับซ้อนแห่งประวัติศาสตร์บทใหม่
นาฬิการุ่น LVRR-01 เป็นผลงานที่ครอบคลุมเกี่ยวกับธรรมชาติแห่งเวลา ความเที่ยงตรงรระดับโครโนมิเตอร์ที่มาพร้อมตัวควบคุมกลไกทูร์บิญอง ไม่เพียงแต่แสดงค่าเวลาในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดค่าเวลาที่ผ่านไปด้วย และนับเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกาที่แสดงเวลาที่ผ่านไปด้วยกลไกซองเนรี หรือตีบอกเวลาด้วยเสียง ความซับซ้อนที่แสดงบนหน้าปัดนาฬิกาแบบสองหน้าอันชาญฉลาด กลายเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาร่วมกันของ LVRR-01 หน้าปัดด้านหน้าในดีไซน์ร่วมสมัยมองทะลุผ่านด้วยคริสตัลแซฟไฟร์ เคียงคู่กับหน้าปัดอีกด้านที่แสดงถึงมรดกอันล้ำค่าที่สืบทอดมายาวนานของหน้าปัดลงยาแบบ Grand Feu สีขาว ผสมผสานสัญลักษณ์ที่นำเสนอถึงความสมบูรณ์แบบของทั้งสองเมซง

กลไกซับซ้อนเป็นข้อพิสูจน์ถึงประวัติศาสตร์ของ Louis Vuitton และ Rexhep Rexhepi ผู้สร้างสรรค์นาฬิกาแบรนด์ Atelier Akrivia รุ่นแรกคือ AK-01 ผลงานที่ผสานรวมทั้งกลไกโครโนกราฟและทูร์บิญองเข้าด้วยกัน ในขณะที่นาฬิกา Louis Vuitton ที่มีความซับซ้อนรุ่นแรกก็คือ Tambour LV277 นาฬิกาที่มาพร้อมกลไกโครโนกราฟและความซับซ้อนของนาฬิกาชั้นสูงชุดแรกของเมซงที่มาพร้อมกลไกทูร์บิญอง

การผลักดันขอบเขตของการประดิษฐ์นาฬิกาชั้นสูง
นาฬิกา LVRR-01 ใช้กลไกชุดใหม่ทั้งหมดที่พัฒนาโดย Rexhep Rexhepi สุนทรียศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์ของเขาสะท้อนผ่านกลไกการทำงานแบบดั้งเดิมที่มีความโดดเด่นด้านคุณภาพที่แสดงให้เห็นผ่านงานขัดแต่งอันเปี่ยมความประณีต และคันโยก (lever) โครโนกราฟในดีไซน์รูปลักษณ์อันสวยงาม หน้าปัดสองหน้าของ LVRR-01 ทำให้ต้องรังสรรค์กลไกที่ไม่ธรรมดา เปรียบเทียบกับกลไกแบบเดิมๆ ชุดกลไกของ LVRR-01 จะมีลักษณะกลับด้าน โดยมองเห็นการทำงานของกลไกโครโนกราฟและค้อนตีบอกเวลาที่ด้านหน้า แทนที่จะอยู่ด้านหลัง จึงสามารถชื่นชมความงามของสถาปัตยกรรมกลไกและการตกแต่งด้วยมือได้เต็มตาตลอดเวลา

หน้าปัดแซฟไฟร์สีเผยให้เห็นการตกแต่งที่สวยงามขององค์ประกอบต่างๆ ทุกชิ้นได้รับการขัดแต่งด้วยมือในเทคนิคแบบดั้งเดิม เช่น การขัดเงาและการขัดเงาสีดำ กลไกทูร์บิญองเผยความอัศจรรย์ในตำแหน่ง 6 นาฬิกา หมุนรอบตัวเองในทุก 5 นาที ผลงานการออกแบบโดย Rexhep Rexhepi ที่แสดงถึงความเคารพต่อประวัติศาสตร์แห่งการใช้เครื่องบอกเวลา ซึ่งต่างจากการหมุนรอบของทูร์บิญองในทุกหนึ่งนาทีทั่วไป การหมุนรอบตัวเองใน 5 นาทีนี้ถือเป็นจิตวิญญาณของความแม่นยำระดับโครโนมิเตอร์ในอดีต ภายในกรงทูร์บิญองประกอบด้วยจักรกรอกที่มีแกนคู่และตุ้มน้ำหนักควบคุมแรงเฉื่อยแปดชิ้นที่ได้แรงบันดาลใจที่พบได้ในนาฬิกามารีนโครโนมิเตอร์

ลักษณะที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของกลไกนี้ก็คือ Chronographe à Sonnerie ซึ่งเป็นกลไกซบซ้อนคู่ที่ไม่เคยรวมกันอยู่ในนาฬิกาข้อมือในลักษณะนี้มาก่อน แม้ว่าเป็นการผสมผสานระหว่างการจับเวลาที่ผ่านไปกับกลไกตีบอกเวลาที่มีแบบอย่างจากนาฬิกาพกในอดีต แต่ก็ถือเป็นการจับคู่ของการประดิษฐ์นาฬิการ่วมสมัยอย่างแท้จริง ฟังกชั่นจับเวลาที่ เริ่ม ยุดและรีเซ็ตใหม่ ควบคุมด้วยปุ่มกดที่ตำแหน่ง 2 นาฬิกาข้างตัวเรือน อย่างไรก็ตาม การจับเวลาในระบบโครโนกราฟยังมาพร้อมเสียงตีบอกเวลาในทุกๆ หนึ่งนาที เสียงตีบอกการจับเวลาที่ชัดเจนนี้มาจากค้อนเหล็กขัดเงาสีดำที่ตีบอกลวดก้องสร้างเสียงสตีล ซึ่งพัฒนาขึ้นที่ Atelier Akrivia โดยให้เสียงโน้ตเดียวที่ประสานการทำงานเพื่อแสดงถึงการจับเวลาที่ผ่านไป 60 นาทีหรือหนึ่งนาที การผสมผสานกลไกทั้งสองเข้าด้วยกันคือ โครโนกราฟและซองเนอรี นอกเหนือจากกลไกทูร์บิญอง จำเป็นต้องใช้ความชำนาญทั้งในด้านวิศวกรรมและระบบปฏิบัติการ เนื่องจากระบบนี้ควรต้องทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น ขณะเดียวกันแต่ละระบบก็ต้องการพลังงานอย่างเพียงพอในการทำงานด้วย Rexhep Rexhepi จึงค้นหาวิธีแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้ตลับลานแบบคู่ ตลับลานหนึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำหรับการแสดงเวลาและกลไกโครโนกราฟ ส่วนตลับลานอีกชุดนั้นไว้สำหรับส่งพลังงานให้กับระบบตีบอกการจับเวลาด้วยเสียง แต่ก็ยังมีการหักมุมอีกเล็กน้อย ปกติแล้วตลับลานคู่นั้นจะทำงานแยกกันอย่างเป็นอิสระ แต่ Rexhep Rexhepi ได้คิดค้นโครงสร้างที่ทำให้ตลับลานคู่นั้นเชื่อมโยงการทำงานเข้าด้วยกันด้วยชุดเฟืองถ่ายทอดกำลังในลักษณะเฉพาะ

เมื่อกลไกโครโนกราฟเปิดใช้งานและค้อนปลดปล่อยชุดเฟืองกลาง การหมุนจากตลับลานชุดสองก็จะไม่ถูกบล็อกอีกต่อไป พลังงานจะถูกส่งไปยังเฟืองเกียร์เมื่อโครโนกราฟและกลไกตีบอกเวลาเริ่มทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่ากลไกจะมีพลังงานเพียงพอที่จะทำงานได้อย่างถูกต้อง โดยไม่รบกวนชุดกลไกการแสดงเวลา มองเห็นได้บนหน้าปัดแซฟไฟร์คือกลไกที่ทำหน้าที่ควบคุมการตีบอกการจับเวลาด้วยเสียง  กลไกซองเนรีและตลับลานชุดสองจะเชื่อมเข้ากับเอสเคปเม้นท์ชุดรองที่มีพาเลทประดับด้วยทับทิม เอสเค้ปเมนท์นี้จะปล่อยพลังงานของตลับลานชุดสองออกมาเป็นรอบ เพื่อให้มั่นใจว่ากลไกซองเนอรีจะตีให้เสียงอย่างแม่นยำและสม่ำเสมอ

การทำตัวเรือนระดับตำนาน
การผสมผสานที่ลงตัวของ Louis Vuitton และ Atelier Akrivia เผยให้เห็นในตัวเรือนแพลทินัม ที่เข้ากันได้เป็นอย่างดีกับตัวเรือนทรง Tambour อันเปี่ยมเอกลักษณ์ของ Louis Vuitton แต่ก็อัดแน่นด้วยสัมผัสที่มีสไตล์ของ Rexhep Rexhepi โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปทรงคลาสสิกที่บางเฉียบของตัวเรือน LVRR-01 เปลี่ยนรูปทรงกลองของ Tambour ให้เป็นรูปแบบปรับปรุงใหม่ รูปทรงเพียวบางที่โดดเด่นด้วยขอบตัวเรือนลาดเอียงและข้อต่อตัวเรือนแกะสลักอย่างหรูหราในแบบนาฬิกาสำหรับสุภาพบุรุษในยุคกลางศตวรรษ เม็ดมะยมและปุ่มกดโครโนกราฟแต่ละชิ้นมีรูปทรงแบบ 7 เหลี่ยมที่ได้แรงบันดาลใจจากนาฬิกา Louis Vuitton แต่ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นด้วยมือในสไตล์ Atelier Akrivia เม็ดมะยมและปุ่มกดโครโนกราฟยังได้รับการตกแต่งจากการลบเหลี่ยมมุมด้วยเทคนิคเดียวกับการขัดแต่งชิ้นส่วนกลไกโดยใช้การตอกด้วยมือ ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับที่ Rexhep Rexhepi ใช้ ตัวเรือนนี้ทำขึ้นโดย Atelier Akrivia กระบวนการทำงานตัวเรือนอยู่ภายใต้การดูแลของ Jean-Pierre Hagmann ช่างทำตัวเรือนระดับปรมาจารย์ในเวิร์กช้อปผลิตตัวเรือน ด้วยประสบการณ์ยาวนานหลายทศวรรษ สายตาของผู้เชี่ยวชาญอย่าง Jean-Pierre Hagmann ทำให้มั่นใจว่าตัวเรือนจะมีรูปทรงและรายละเอียดที่สมบูรณ์แบบ พร้อมเครื่องหมายรับรองคุณภาพ JHP ที่ประดับอยู่บริเวณข้อต่อชิ้นล่างด้านขวา อันเป็นตราประทับคุณภาพส่วนตัวของเขา และรายละเอียดสุดท้ายก็คือ การแบ่งปันความยอดเยี่ยมของสองเมซงที่ได้รับการแกะสลักด้วยมือบนฝาหลังว่า Louis cruised with Rexpep ซึ่งเป็นการอุทิศให้กับความร่วมมือระหว่างกันในเปี่ยมเอกลักษณ์ครั้งนี้

หน้าปัดที่มีมากกว่าหนึ่ง
รหัสความงามเฉพาะตัวและโดดเด่นของ Rexhep Rexhepi และ Louis Vuitton ไร้ซึ่งข้อผิดพลาดบนหน้าปัดทั้งสองด้าน ด้วยการผสมผสานกันอย่างลงตัวและเป็นองค์ประกอบที่สมบูรณ์แบบในสไตล์ที่สะอาดตา หากหรูหราจากการตกแต่งชั้นสูง หน้าปัดด้านหนึ่งดูทันสมัยสะท้อนถึงแง่มุมร่วมสมัยของ Louis Vuitton ด้วยแผ่นคริสตัลแซฟไฟร์เคลือบสี พร้อมแทร็กนาทีสีทอง ที่ขวนให้นึกถึงนาฬิการุ่น Rexhep Rexhepi Chronomètre Contemporain (RRCC I & II)

พื้นหน้าปัดมีดัชนีดีไซน์ลูกบาศก์ทำด้วยทองคำ จำนวน 6 ชิ้น ที่ได้รับการเคลือบสีลงยาแบบโปร่งแสง เทคนิคที่คล้ายกับการทำกระจกสีที่เรียกว่า plique-à-jour (ปิ-กาจู) ลูกบาศก์มีลวดลายที่ทำให้นึกถึงการแสดงเวลาแบบจั๊มปิ้งของนาฬิการุ่น Spin Time หนึ่งในกลไกซับซ้อนที่ได้รับการจดสิทธิบัตรของ Louis Vuitton ในขณะเดียวกัน องค์ประกอบสีทองบนหน้าปัดก็สื่อถึงการเย็บด้ายสีเหลืองอันเป็นคุณลักษณะสำคัญของเครื่องหนัง Louis Vuitton ในทางตรงกันข้าม หน้าปัดด้านหลังมีความคลาสสิกอย่างเด่นชัด จากเทคนิคการเคลือบสีลงยาแบบ Grand Feu สีขาวนวลสวย เป็นการระลึกถึงเครื่องวัดแบบดั้มเดิม ที่ได้รับการออกแบบโดย Rexhep Rexhepi และสร้างสรรค์โดย Nicolas Doublel ช่างเคลือบอีนาเมลภายในโรงงาน La Fabrique du Temps ของ Louis Vuitton หน้าปัดลงยาที่เห็นได้จากนาฬิกาพกโครโนกราฟในศตวรรษที่ 19 พร้อมสเกลคู่สำหรับชั่วโมงและนาทีตามลำดับ ทั้งสองสเกลพิมพ์ด้วยสีลงยาอีนาเมล แสดงถึงจิตวิญญาณของนาฬิกาข้อมือเรือนแรกที่ผลิตโดย Louis Vuitton ในปี 1988

ชื่อของทั้งสองแบรนด์แบ่งหน้าปัดลงยาอีนาเมลออกเป็นสองส่วนในลักษณะแนวนอนที่วางเรียงกัน สะท้อนถึงการทำงานร่วมกันของนาฬิกาเรือนนี้ทั้งรูปแบบและแก่นสาร ในขณะที่แผ่นฐานหน้าปัดไวท์โกลด์ผลิตโดย Atelier Akrivia การลงยาอีนาเมล์สำเร็จเสร็จสมบูรณ์โดยช่างอีนาเมลอินเฮาส์ที่นำโดย Nicolas Doublel นอกจากนี้ กล่องเก็บนาฬิกา LVRR-01 ก็ยังเปี่ยมเอกลักษณ์ไม่แพ้กัน โดยเป็นกล่องในดีไซน์ดั้งเดิมของ Louis Vuitoon ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รังสรรค์ขึ้นโดยเฉพาะสำหรับนาฬิกาแต่ละเรือนของ LVRR-01 ตัวกล่องทำด้วยมือโดยมีลวดลายยที่ได้แรงบันดาลใจจากสเกลหน้าปัดอีนาเมล์พร้อมโลกโก้ AKRILVIA และหมายเลขประจำเรือน เพื่อเป็นการตกแต่งขั้นสุดท้ายและเป็นการแสดงความเคารพต่อช่างฝีมือผู้รับผิดชอบผลงานนี้ โดยกล่องนาฬิกาได้จำลองลายเซ็นต์ของ Rexhep Rexhepi, Jean-Pierre Hagmann และ Nicolas Doublel นาฬิการุ่นนี้มาพร้อมสายหนังวัวธรรมชาติที่มีความงามอันละเอียดอ่อน และหัวเข็มขัดทำด้วยแพลทินัมอันเป็นเอกลักษณ์ รังสรรค์โดยเวิร์กช้อปของ Jean Pierre Hagmann โดยมีตราสัญลักษณ์ JHP ประดับรับประกันคุณภาพความประณีต

LVRR-01 Chronographe à Sonnerie มีขนาดตัวเรือน 39.9 มิลลิเมตร หนา 12.0 มิลลิเมตร ผลิตจำนวนจำกัด 10 เรือน ในระดับราคา CHF 450,000

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้