MASANORI KAWAMURA AND AKIRA YOSHIDA

Last updated: 26 ธ.ค. 2567  |  291 จำนวนผู้เข้าชม  | 

MASANORI KAWAMURA  AND AKIRA YOSHIDA

Power Design Project โครงการสร้างสรรค์นาฬิกาที่ทาง Seiko ได้จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้นักออกแบบของตนเองได้เผยไอเดียของการคิดนอกกรอบจากการนำเสนอนาฬิการูปแบบปกติสู่ผลลัพธ์ของนาฬิกาที่เป็นนวัตกรรมมากกว่ารูปแบบการใช้งานทั่วไปและจัดแสดงนิทรรศการเพื่อโชว์ผลงานที่สำเร็จเป็นนาฬิกาเรือนจริงให้ได้ชมด้วย สำหรับปี 2024 นิทรรศการในครั้งนี้เป็นการนำเสนอภายใต้ธีม “Incredibly Specialized Watches” และกรุงเทพฯ ก็เป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับเลือกให้เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการนี้ด้วย โดยในวันพิธีเปิดนิทรรศการ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับนักออกแบบ 2 ใน 7 คนที่เป็นผู้ออกแบบนาฬิกาในโครงการนี้ ที่มาเล่าถึงไอเดียการออกแบบ และความท้าทายของการสร้างสรรค์นาฬิกาจากแนวคิดของแต่ละคนให้ได้ทราบกัน


อยากให้ทั้งสองคนแนะนำตัวว่ามีหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างไรและเคยออกแบบนาฬิการุ่นปกติให้กับ Seiko และ Grand Seiko รุ่นไหนอย่างไรบ้าง?
Masanori Kawamura: ผมเป็นหัวหน้าทีมออกแบบคอลเลกชันนาฬิกา Prospex ซึ่งผมร่วมงานกับ Seiko ตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 11 ปีแล้วที่ได้ทำงานกับ Seiko โดยเริ่มงานในทีมส่วนของคอลเลกชันต่างประเทศ และต่อมาได้อยู่ในทีมออกแบบส่วนในประเทศญี่ปุ่น คอลเลกชันที่ผมเคยรับผิดชอบ ได้แก่ Astron, Prospex Speedtimer, Prospex Diver Watch ครับ 

Akira Yoshida: ตอนนี้ผมอยู่ในฝ่ายออกแบบนาฬิกา Seiko โดยร่วมงานกับแบรนด์มาตั้งแต่ปี 2015 เริ่มจากงานในส่วนของคอลเลกชันต่างประเทศ คอลเลกชันที่เคยออกแบบ เช่น Seiko Save The Ocean, Prospex The Black Series และในปี 2019 ได้มีโอกาสออกแบบนาฬิกาให้กับ Grand Seiko คอลเลกชัน SLGC001 Tentagraph ครับ


เมื่อได้รับหมอบหมายให้เข้าร่วมออกแบบนาฬิกาใน Seiko Power Design Project 2024 อะไรที่จุดประกายให้เกิดไอเดียในการสร้างสรรค์ผลงานของแต่ละคน?
Masanori Kawamura: แรงบันดาลใจที่ทำให้ผมเลือกออกแบบนาฬิกา Hide-and-Seek คือเริ่มจากความคิดว่าอะไรที่เป็นประสบการณ์ร่วมที่ประชากรโลกที่มีจำนวนกว่า 8 พันล้านคนน่าจะมีร่วมกัน ผมมองว่าการเล่นซ่อนหาเป็นประสบการณ์ที่คนหลายๆ คนเคยมี และด้วยความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายในการออกแบบนาฬิกาจับเวลา ก็เลยอยากที่จะนำเอาสิ่งที่ตนเองสร้างสรรค์มาผสมผสานกับเรื่องราวที่เป็นสากลให้เกิดเป็นนาฬิกาที่สร้างความสนุกได้ อีกอย่างคือผมเป็นคุณพ่อที่มีลูก การได้เล่นซ่อนหากับลูกเป็นช่วงเวลาที่สร้างความสุขสนุกสนาน ทุกอย่างจึงตอบโจทย์แนวคิดที่นำมาสู่การสร้างนาฬิกา Hide-and-Seek ครับ

Akira Yoshida: สิ่งที่จุดประกายในการสร้างนาฬิกา Sukiyaki คือเป็นประสบการณ์ของตัวผมเอง สมัยที่ยังอยู่ในวัยเรียน เวลาที่เราสามารถสอบผ่าน หรือสอบเข้าเรียนโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยได้ วัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นคือจะมีการพาคนที่สอบผ่านไปกินสุกี้ยากี้ เพื่อเป็นการแสดงความยินดี ซึ่งเป็นความทรงจำที่ดีสำหรับผม นอกจากนี้สุกี้ยากี้เป็นอาหารที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่สามารถเผยแพร่ออกไปทั่วโลกได้ เหมือนเป็นการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมของชาติเราผ่านสุกี้ยากี้ อีกทั้งขณะทำงานออกแบบคอลเลกชันนาฬิกาให้กับ Seiko เคยมีความคิดอยากที่จะนำเสนอเรื่องราวของอาหารมาผนวกเข้ากับการสร้างสรรค์นาฬิกา แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีโอกาสนำเสนอไอเดียนี้ พอได้เข้าร่วมโปรเจกต์นี้ จึงเอาแนวคิดที่คิดมาตลอดนี้มาสร้างสรรค์นาฬิการุ่นนี้ครับ


การนำเสนอไอเดียของตนเองร่วมกับนาฬิกา Seiko มีความยากอย่างไร?
Masanori Kawamura: เป็นการยากเหมือนกันครับในการนำเอาไอเดียของตัวเอง มาสร้างสรรค์นาฬิกาที่สวมใส่ได้จริงขึ้นมา ครั้งนี้เราเน้นไปที่การดึงดูดผู้คนที่ไม่ได้สนใจในนาฬิกาให้หันมาสนใจนาฬิกา สิ่งต้องคิดอย่างแรกคือต้องคิดถึงเรื่องอื่นๆ ที่สามารถดึงดูดผู้คนได้ ในเรื่องของการออกแบบรูปทรงโครงสร้างของนาฬิกาก็เป็นโครงสร้างใหม่ ไม่ได้มีรูปแบบเหมือนนาฬิกาข้อมือทั่วไป เช่นการออกแบบเคส การออกแบบฝาครอบเลนส์ส่องตาที่เปิดปิดได้ เรียกว่าเป็นโครงสร้างที่มีความแปลกใหม่ ซึ่งถือเป็นความท้าทาย ประการที่สองคือ ไอเดียที่นำเสนอออกมานี้จะต้องมีความน่าดึงดูดใจด้วย เช่น ในโมเดลของผม จะทำอย่างไรให้เด็กรู้สึกสนใจ จะต้องมีการคิดว่าควรจะออกแบบให้มีรูปทรงแบบไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายครับ

Akira Yoshida: ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายครับ พอมีไอเดียแล้วว่าจะทำนาฬิกาเกี่ยวกับสุกี้ยากี้ ซึ่งเป็นนาฬิกาที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ก็ต้องมาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ไอเดียมันมีความเป็นรูปธรรม ความคิดผมคือ ในเมื่อเราจะทำนาฬิกาสุกี้ยากี้ จะทำอย่างไรให้นาฬิกาดูมีความน่าอร่อย และเป็นนาฬิกาสุกี้ยากี้จริงๆ อีกอย่างคือจะต้องทำให้มีฟังก์ชันที่ใช้งานสำหรับการกินสุกี้ยากี้ได้จริง  ส่วนตัวผมก็เป็นคนที่กินสุกี้ยากี้เป็นประจำอยู่แล้ว แต่อาจจะไม่ได้มีรายละเอียดในการปรุงในการทำที่เหมาะสม ก็เลยจะต้องมีการทำวิจัยเพิ่ม

Kawamura: เนื่องด้วยนาฬิกาที่เราทำนี้ มีฟังก์ชันที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก เราจำเป็นต้องมีการใช้กลไกแบบปรับแต่งใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับฟังก์ชันของนาฬิกาแต่ละคน เช่นของคุณ Akira ที่มีการแยกฟังก์ชันของเข็มยาวและเข็มสั้นสำหรับฟังก์ชันการปรุงสุกี้ยากี้ ในส่วนนี้เราอาจจะต้องมีการร่วมงานกับทีมวิศวกรรมกลไกด้วย

Akira: ใช่ครับ การออกแบบในครั้งนี้รูปแบบการเดินของเข็มนาฬิกาจะไม่เหมือนกับนาฬิกาปกติ เพราะธีมการออกแบบในครั้งนี้ของเรา เราได้รับอิสระอย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว ยังรวมไปถึงรูปแบบการใช้งานที่ไร้ขอบเขต การทำงานของเข็มนาฬิกาที่แตกต่างออกไป รวมถึงระบบ Alarm ที่ใส่มาสำหรับเตือนการปรุงในขั้นตอต่างๆ ถือเป็นสิ่งใหม่ที่ได้ทำครับ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้