Last updated: 26 ก.ย. 2559 | 2124 จำนวนผู้เข้าชม |
Rolex ใส่ใจต่อความเที่ยงตรงของกลไกมาตั้งแต่อดีต คำว่า “Officially Certified Chronometer” ปรากฏบนหน้าปัดครั้งแรกในปลายยุค 1930 ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “Superlative Chronometer Officially Certified” ในยุค 1950 และยังคงใช้จนถึงปี 2015 แต่ใบรับรองจาก COSC เพียงใบเดียวไม่เพียงพอสำหรับมาตรฐานใหม่ของแบรนด์อีกต่อไป Rolex จึงยกระดับมาตรฐานสู่ Superlative Chronometer ที่เข้มงวดขึ้น โดยพัฒนาวิธีการและนำเครื่องมือทันสมัยมาใช้ เพื่อทดสอบนาฬิกาของตนและได้รับการรับรองว่าเป็น Superlative Chronometer ที่เหนือชั้นกว่า Chronometer ทั่วไป Rolex นำกลไกที่ผ่านการรับรองจาก COSC บรรจุในตัวเรือนแล้วเริ่มการทดสอบที่เข้มงวดต่างๆ เช่น ทดสอบความสามารถกันน้ำด้วยถังอัดแรงดันน้ำชนิดพิเศษ ความคลาดเคลื่อนของกลไกต้องไม่เกินกว่า -2/+2 วินาทีต่อวันในการทดสอบ 7 ตำแหน่งนิ่งและบนแขนหุ่นยนต์จำลองการเคลื่อนไหวของข้อมือ ทดสอบความสามารถกันสะเทือนด้วยตำแหน่งการตกที่ต่างกันถึง 20 ตำแหน่ง และผ่านการทดสอบแรงกระแทกด้วยอัตราเร่ง 5,000 G กระทำต่อตัวเรือน ทั้งหมดรับประกันความสมบูรณ์แบบของนาฬิกาจากผู้ผลิตอย่างไร้ที่ติ
Oyster Perpetual Cosmograph Daytona รุ่นล่าสุดปี 2016 ผ่านการทดสอบและได้มาตรฐาน Superlative Chronometer แห่งปี 2015 รับรองความเที่ยงตรงในภาคเดินเวลาปกติและภาคจับเวลา ตอบโจทย์นักขับรถมือฉมังที่สรรหาสุดยอดนาฬิกาสปอร์ตประดับข้อมือเพื่อการผจญภัยในทุกเส้นทาง ผลงานล่าสุดดังกล่าวเต็มเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณแห่งการแข่งขันยานยนต์ไม่น้อยไปกว่า Oyster Perpetual Cosmograph Daytona รุ่นแรกเมื่อปี 1963 และมาพร้อมด้วยนวัตกรรมชั้นยอดที่ยากจะมีใครเทียบเคียงได้
ตัวเรือน Oyster ขนาด 40 มิลลิเมตร ทำจากสเตนเลสสตีลเกรด 904L เหนือชั้นกว่าเกรด 316L ในแง่ของความเงามันและความแข็งแกร่ง ซึ่งต้องใช้เครื่องจักรพิเศษและฝีมือช่างชั้นสูงในการสร้าง โดดเด่นด้วยขอบตัวเรือนสีดำ Cerachrom ซึ่งเป็นเซรามิกทั้งชิ้นและสลักสเกลทาคิมิเตอร์พร้อมเคลือบอักษรและตัวเลขด้วยแพลตทินั่มชั้นบางเทคนิค PVD มีความทนทานต่อรอยขีดข่วนและการกัดกร่อน อีกทั้งยังป้องกันแสง UV ไม่ให้ทำลายและเปลี่ยนสีขอบตัวเรือน กระจกแซฟไฟร์คริสตัลเผยเห็นหน้าปัดแลคเกอร์ที่มีให้เลือกทั้งสีขาวและสีดำ หน้าปัดย่อยลายขดหอยตำแหน่ง 6 นาฬิกาแสดงวินาทีภาคเดินเวลาปกติ ส่วนตำแหน่ง 3 และ 9 นาฬิกาสงวนไว้สำหรับภาคจับเวลา โดยจับเวลา 30 นาทีและ 12 ชั่วโมงตามลำดับ ขับเคลื่อนด้วยกลไกอัตโนมัติโครโนกราฟอินเฮาส์ คาลิเบอร์ 4130 ทำงานที่ความถี่ 28,800 ครั้งต่อชั่วโมง เที่ยงตรงด้วยนวัตกรรมสปริงสายใยจักรกรอก Parachrom สีน้ำเงินที่ต้านทานสนามแม่เหล็ก การออกแบบชุดจักรกรอกใหม่หมดเพื่อลดแรงเสียดทานทำให้กลไกสำรองพลังงานนานถึง 72 ชั่วโมง ประกอบสายข้อมือสเตนเลสสตีลเกรด 904L ที่มาพร้อมด้วยตัวล็อคสายแบบ Oysterlock ซึ่งทนทานต่อการใช้งานหนักยิ่งยวด
เรื่อง: Thanadol Sereratana
26 ก.ย. 2559
26 ก.ย. 2559
26 ก.ย. 2559
25 ก.ค. 2561