MB&F Legacy Machine Perpetual Evo

Last updated: 25 ก.พ. 2567  |  169 จำนวนผู้เข้าชม  | 

MB&F Legacy Machine Perpetual Evo

ผลงานการสร้างสรรค์ของ MB&F ได้นำพาให้ผู้สวมใส่นาฬิการ่วมเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่มีอยู่บนแผนที่แห่งจินตนาการ ตั้งแต่ยานบินอวกาศไปจนถึงแมงกะพรุนใต้ท้องทะเลลึก โดย Maximilian Büsser คือนักเขียนแผนที่เชิงพหุภพผ่านภาพสเก็ตช์ ซึ่งนาฬิกาในคอลเลกชั่น EVO ถือเป็นวิวัฒนาการครั้งสำคัญ ผ่านการเปิดตัว LM Perpetual EVO เรือนแรกในปี 2020 จึงทำให้ผู้สวมใส่นาฬิกากลายเป็นผู้นำทางด้านไลฟ์สไตล์ที่ชวนให้ร่วมค้นหา การเดินทางบนแผนที่แห่งชีวิตที่ควบคู่ไปกับนาฬิกาบนข้อมือ

LM Perpetual EVO (แอลเอ็ม เพอร์เพทชวล อีโว) เปิดตัวครั้งแรกในรุ่นลิมิเต็ดเอดิชั่น 3 รุ่น ในตัวเรือนเซอร์โคเนียม ตามด้วยรุ่นไทเทเนียมที่นำเสนอพื้นหน้าปัดซีวีดีสีเขียว โดยในปี 2024 ทาง MB&F ขอนำเสนอหน้าปัดสีน้ำเงินไอซี่บลูในตัวเรือนไทเทเนียมที่มีความแข็งแกร่งทนทาน แทนที่รุ่นก่อนหน้าที่มาพร้อมหน้าปัดสีเขียว ทุกรุ่นประกอบเข้ากับสายยางที่รับกระชับข้อมือเพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการสวมใส่นาฬิกาที่สะดวกสบายที่สุดเท่าที่เคยมีมาของ MB&F

ตัวเรือนขนาด 44 มม. ทำจากเซอร์โคเนียมหรือไทเทเนียม วัสดุโลหะผสมที่มาพร้อมคุณสมบัติที่ทนทานเหนือกว่าสเตนเลสสตีล ตัวเรือนเน้นเปิดกว้างเพื่อให้ชมความงามของนาฬิกาได้อย่างเต็มตา อีกทั้งรุ่นนี้ยังได้พัฒนา “FlexRing” ขึ้นมาพิเศษ เพื่อช่วยลดแรงกระแทกทำให้นาฬิกาเรือนนี้แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เคยมีมาจาก MB&F LM Perpetual Engine ที่ออกแบบโดย Stephen McDonnell (สตีเฟน แมคดอนเนลล์) ฟังก์ชันปฏิทินถาวรที่ได้รับรางวัล ถือเป็นนวัตกรรมใหม่มาแทนที่กลไกแบบดั้งเดิม พร้อมโครงสร้างของระบบโปรเซสเซอร์

ทาง MB&F เปิดตัวคอลเลกชั่นนาฬิกาที่มาพร้อมกลไกสลับซับซ้อนหลายรุ่น อย่างไรก็ตาม ยังคงเอกลักษณ์ของการผสมผสานประเพณีและนวัตกรรมเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน ซึ่งทาง Legacy Machine Perpetual ยังคงอยู่ในจุดสูงสุดของความเชี่ยวชาญด้านการผลิตนาฬิกาของ MB&F นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2015

แม้ว่าขนาดตัวเรือนเส้นผ่านศูนย์กลาง 44 มม. จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากนาฬิการุ่นเดิมในปี 2015 แต่การออกแบบของนาฬิกา EVO รุ่นใหม่ ถูกพัฒนาโดยไม่มีขอบตัวเรือน แต่จะมีกระจกคริสตัลแซฟไฟร์ทรงโดมประกอบเข้ากับตัวเรือนโดยตรง การออกแบบนี้เพื่อเปิดกว้างให้เห็นหน้าปัดนาฬิกาอย่างเต็มตา อีกทั้งยังช่วยในการอ่านค่าปฏิทินผ่านหน้าปัดย่อยได้อย่างชัดเจน รวมไปถึงชมความงามของส่วนประกอบกลไก ดึงดูดสายตาด้วยบาลานซ์วีลอันเป็นเอกลักษณ์ของ MB&F การนำเสนอ LM Perpetual Engine ที่มีหน้าปัดกว้างขวางขึ้นนี้ไม่ใช่แค่กำหนดค่าการออกแบบใหม่เท่านั้น แต่ยังคงต้องพัฒนาในส่วนของกระคริสตัลแซฟไฟร์ด้วย เพื่อให้ตรงจุดมุ่งหมายในการปกป้องกลไกและรักษาความแข็งแกร่งของโครงสร้าง ซึ่งต้องคำนวณอัตราส่วนสูงต่อเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างแม่นยำ ซึ่งการที่ LM Perpetual EVO ไม่มีขอบตัวเรือน ยังจำเป็นต้องใช้ความร้อนในการผสานระหว่างกระจกคริสตัลแซฟไฟร์และตัวเรือนเข้าด้วยกันอีกด้วย

ปุ่มกดควบคุมฟังก์กันการทำงานของปฏิทินถาวรทรงกลมก่อนหน้าได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบสปริงสองชั้นแทน เพิ่มความสบายในการสัมผัสและปรับตั้งค่าได้อย่างง่ายดาย นาฬิกา LM Perpetual EVO สามารถกันน้ำได้ลึก 80 เมตร ด้วยเม็ดมะยมแบบขันเกลียวที่ปิดสนิท ถึงแม้จะเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญเพราะการใช้เม็ดมะยมแบบขันเกลียวที่มีแกนดันของก้านไขลาน ซึ่งจะปลดเม็ดมะยมออกจากกลไกการขึ้นลานเมื่อถูกดันเข้าและขันให้แน่น จึงช่วยลดโอกาสที่จะไขลานบาร์เรลเมนสปริงโดยไม่ตั้งใจ

องค์ประกอบใหม่เพิ่มเติมของ LM Perpetual EVO คือ FlexRing: รูปวงแหวนที่พอดีระหว่างตัวเรือนและกลไก ทำหน้าที่ป้องกันแรงกระแทกตามแกนแนวตั้งและด้านข้าง FlexRing ผลิตจากสเตนเลสสตีลแบบบล็อกเดียว มอบความแข็งแกร่งเป็นพิเศษให้กับกลไกของปฏิทินถาวร ซึ่งเป็นฟังก์ชันสะท้อนความคลาสสิกและความสง่างาม แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นฟังก์ชันที่มีประโยชน์สูงที่สุดในบรรดากลไกซับซ้อนทั้งหมด

เมื่อ Stephen McDonnell ตั้งใจที่จะออกแบบนาฬิกาปฏิทินถาวรสำหรับ MB&F เขาได้เสนอระบบพื้นฐานที่พิจารณาทางด้านกลไกเพื่อหักล้างสภาวะแทรกซ้อนของ LM Perpetual โดยใช้ "mechanical processor" ที่ประกอบด้วยชุดดิสก์ที่ซ้อนทับกัน โปรเซสเซอร์ที่ปฏิวัติวงการนี้ใช้จำนวนวันเริ่มต้นในเดือนนั้นที่ 28 — เพราะตามตรรกะแล้ว ทุกเดือนมีอย่างน้อย 28 วัน — จากนั้นจึงบวกวันพิเศษเพิ่มเติมตามที่กำหนดในแต่ละเดือน เพื่อให้แน่ใจว่าแต่ละเดือนมีจำนวนวันที่ถูกต้อง และลดโอกาสที่วันที่จะกระโดดข้ามไม่ถูกต้อง คุณลักษณะด้านความปลอดภัยจะช่วยตัดการเชื่อมต่อปุ่มกดตั้งค่าในระหว่างการเปลี่ยนวันที่ ดังนั้นแม้ว่าปุ่มกดจะทำงานโดยไม่ได้ตั้งใจในขณะที่เปลี่ยนวันที่ ก็ไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อกลไก

การออกแบบ เทคนิค และจิตวิญญาณ ดังนั้นนาฬิกา Legacy Machine Perpetual EVO จึงสะท้อนวิวัฒนาการที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ MB&F

รายละเอียดของ Legacy Machine Perpetual Evo
Calendric Computation
สำหรับฟังก์ชันปฏิทินถาวรแบบทั่วไปจะประกอบด้วยโมดูลที่ดูสลับซับซ้อนซึ่งจะติดตั้งอยู่ด้านบนของกลไก การระบุปฏิทินจะซิงโครไนซ์ด้วยแกนที่พาดผ่านส่วนบนและตรงกลางของกลไกย่อย เมื่อวันที่เปลี่ยนแปลงแกนนี้จะส่งข้อมูลไปยังชิ้นส่วนประกอบของกลไกในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าและข้างหลัง ระบบแบบดั้งเดิมนี้ แม้จะสวยงามในการทำงานร่วมกันแกนคันโยกและส่วนประกอบต่างๆ แต่ก็ยังดูไม่ลงตัว โดยจำกัดโครงสร้างของกลไกในหลายส่วน ดังนั้น Legacy Machine Perpetual จึงพัฒนาและทำให้กลไกสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น

LM Perpetual Engine สร้างขึ้นโดย Stephen McDonnell เปิดตัวครั้งแรกในปี 2015 และยังคงเป็นนาฬิการะบบปฏิทินถาวรที่ล้ำสมัยที่สุดระบบหนึ่งที่มีอยู่ในการผลิตนาฬิกาสมัยใหม่ 

ในระบบแบบดั้งเดิมของฟังก์ชันปฏิทินถาวร การตั้งค่าเริ่มต้นจะเซ็ททุกเดือนไว้ 31 วัน เมื่อถึงเดือนที่มีเวลาน้อยกว่า 31 วัน กลไกจะกระโดดข้ามวันที่ที่ไม่จำเป็นอย่างรวดเร็วมาวันที่ 1 ของเดือนใหม่ การปรับวันที่อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อกลไก ทำให้ต้องส่งนาฬิกาไปซ่อมแซมในราคาสูงจากผู้ผลิต

Legacy Machine Perpetual ใช้ "mechanical processor" ซึ่งประกอบด้วยชุดดิสก์ที่วางซ้อนทับกัน โปรเซสเซอร์ที่มาปฏิวัติวงการนาฬิกานี้ จะถูกตั้งค่าไว้ที่ 28 วันของทุกๆ เดือน เนื่องจากตามตรรกะแล้ว ทุกเดือนจะมีอย่างน้อย 28 วัน จากนั้นระบบจะทำการเพิ่มจำนวนวันตามที่กำหนดในแต่ละเดือน เพื่อให้แน่ใจว่าแต่ละเดือนจะมีจำนวนวันที่ถูกต้อง ไม่มีการ "ข้าม" เกินจำนวนวันที่จำเป็น ดังนั้นจึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่วันที่จะข้ามผ่านอย่างไม่ถูกต้อง

โปรเซสเซอร์เชิงกลยังใช้ planetary cam เพื่อช่วยให้การตั้งค่าปีปฏิทินได้อย่างถูกต้องแม่นยำตามรอบปีอธิกสุรทินสี่ปี ในขณะที่กลไกปฏิทินถาวรแบบดั้งเดิมกำหนดให้ผู้ใช้ต้องปรับตั้งค่าเดือนและปีให้ถูกต้องสูงสุดถึง 47 เดือน

โปรเซสเซอร์เชิงกลยังมีคุณสมบัติทางด้านความปลอดภัยในตัวที่จะตัดการเชื่อมต่อปุ่มกดที่ตั้งค่าอย่างรวดเร็วระหว่างการเปลี่ยนวันที่ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายในขณะเปลี่ยนแปลงวันที่

ในปี 2015 Legacy Machine Perpetual ได้เปิดตัวเฟืองวงล้อบาลานซ์วีลที่ยาวที่สุดในโลก โดยเชื่อมต่อกับโรเตอร์ที่อยู่ด้านหลังของกลไก ความสำเร็จด้านเทคนิคนี้ได้ถูกนำไปใช้ในคอลเลกชันนาฬิกา MB&F นับตั้งแต่นั้นมา ซึ่งก็คือ Legacy Machine Split Escapement

MB&F ต้นกำเนิดแห่งแนวคิดห้องปฏิบัติการด้านเครื่องจักรกลบอกเวลา
ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2005 เอ็มบีแอนด์เอฟ (MB&F) คือห้องปฏิบัติการเครื่องจักรกลบอกเวลาแนวคิดใหม่แห่งแรกของโลก ด้วยชุดกลไกที่น่าทึ่งเกือบ 20 ชุด ที่สร้างฐานอันมั่นคงให้กับเครื่องจักรกลบอกเวลาอันมีชื่อเสียง ทั้งในคอลเลกชัน ออโรโลจิคัล แมชชีน (Horological Machines) และ เลกาซี แมชชีน (Legacy Machines) โดยเอ็มบีแอนด์เอฟ ยังคงดำเนินรอยตามวิสัยทัศน์ของ แม็กซิมิเลียน บูซเซอร์ (Maximilian Büsser) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการด้านการสร้างสรรค์ในการสร้างศิลปะจลศาสตร์สามมิติที่แตกต่างจากการประดิษฐ์นาฬิกาแบบดั้งเดิม

หลัง 15 ปีของการบริหารงานให้กับเหล่าแบรนด์นาฬิกาอันทรงเกียรติ แม็กซิมิเลียน บูซเซอร์ ได้ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการบริหาร ณ แฮร์รี วินสตัน (Harry Winston) ในปี ค.ศ. 2005 เพื่อสร้างสรรค์แบรนด์ เอ็มบีแอนด์เอฟ (MB&F) ที่ย่อมาจาก แม็กซิมิเลียน บูซเซอร์ แอนด์ เฟรนด์ส (Maximilian Büsser & Friends) โดย เอ็มบีแอนด์เอฟ เป็นห้องปฏิบัติการเชิงศิลป์และวิศวกรรมจุลภาค ที่ทุ่มเทให้กับการออกแบบและประดิษฐ์รังสรรค์นาฬิกาตามแนวคิดสุดขั้ว ด้วยจำนวนการผลิตไม่มาก แต่เป็นการรวบรวมเหล่ายอดฝีมือและมืออาชีพด้านเครื่องบอกเวลาผู้เปี่ยมด้วยพรสวรรค์ ที่บูซเซอร์ทั้งให้ความเคารพและสนุกกับการทำงานร่วมกัน

ในปี ค.ศ. 2007 เอ็มบีแอนด์เอฟ เปิดตัวนาฬิกา ออโรโลจิคัล แมชชีน (Horological Machine) รุ่นแรกใน เอชเอ็ม1 (HM1) ภายใต้ประติมากรรมตัวเรือนสามมิติและเครื่องยนต์ (กลไก) ที่ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม ซึ่งได้มอบมาตรฐานให้กับเหล่านาฬิกาในตระกูล ออโรโลจิคัล แมชชีน รุ่นถัดมา ที่นับเป็นแมชชีน (Machines) ทุกๆ เรือนซึ่งบอกเวลาได้ มิใช่เป็นเพียงในฐานะเครื่องบอกเวลาเท่านั้น โดย ออโรโลจิคัล แมชชีน ได้ออกสำรวจมาแล้วทั้งในโลกอวกาศ (เอชเอ็ม2 (HM2), เอชเอ็ม3 (HM3), เอชเอ็ม6 (HM6)), ท้องฟ้า (เอชเอ็ม4 (HM4), เอชเอ็ม9 (HM9)), ท้องถนน (เอชเอ็ม5 (HM5), เอชเอ็มเอ็กซ์ (HMX), เอชเอ็ม8 (HM8)) และอาณาจักรของสัตว์ (เอชเอ็ม7 (HM7), เอชเอ็ม10 (HM10))

ในปี ค.ศ. 2011 เอ็มบีแอนด์เอฟ เปิดตัวคอลเลกชัน เลกาซี แมชชีน ภายใต้ตัวเรือนทรงกลมร่วมสมัย โดยผลงานเหล่านี้เป็นมากกว่าความคลาสสิกซึ่งรังสรรค์ขึ้นเพื่อสดุดีให้กับความเป็นเลิศของการประดิษฐ์นาฬิกาในศตวรรษที่ 19 โดยการตีความใหม่ให้กับความซับซ้อนจากเหล่านักประดิษฐ์นวัตกรรมเรือนเวลาผู้ยิ่งใหญ่ในอดีตเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัย เริ่มจากผลงาน แอลเอ็ม1 (LM1) และแอลเอ็ม2 (LM2) จากนั้นจึงตามมาด้วย แอลเอ็ม101 (LM101) ที่นับเป็นเครื่องจักรบอกเวลาหรือแมชชีนของ เอ็มบีแอนด์เอฟ รุ่นแรก ที่นำเสนอด้วยกลไกซึ่งพัฒนาขึ้นทั้งหมดภายในโรงงานของตนเอง (in-house) ก่อนจะขยายคอลเลกชันนี้ไปสู่ความสมบูรณ์แบบและซับซ้อนของทั้งผลงาน แอลเอ็ม เพอร์เพทชวล (LM Perpetual), แอลเอ็ม สปลิท เอสเคปเมนท์ (LM Split Escapement) และแอลเอ็ม ธันเดอร์โดม (LM Thunderdome) โดยในปี ค.ศ. 2019 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ กับการสร้างสรรค์ เอ็มบีแอนด์เอฟ แมชชีน รุ่นแรกที่อุทิศให้กับสุภาพสตรี นั่นคือ แอลเอ็ม ฟลายอิ้งที (LM FlyingT) และเอ็มบีแอนด์เอฟได้เฉลิมฉลอง 10 ปีของ เลกาซี แมชชีน ในปี ค.ศ. 2021 ด้วย แอลเอ็มเอ็กซ์ (LMX) ซึ่งโดยปกติแล้ว เอ็มบีแอนด์เอฟจะสลับระหว่างการเปิดตัว ออโรโลจิคัล แมชชีน อันร่วมสมัยและแปลกแหวกแนวไปจากประเพณีดั้งเดิม กับผลงานของ เลกาซี แมชชีน ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่

โดยมี เอฟ (F) ที่หมายถึงผองเพื่อน (Friends) และเป็นไปโดยธรรมชาติที่ เอ็มบีแอนด์เอฟได้พัฒนาความร่วมมือขึ้นมากมายร่วมกับเหล่าศิลปิน ช่างนาฬิกา นักออกแบบ และผู้ผลิต ที่พวกเขาต่างยกย่อง และด้วยความร่วมมือนี้เองที่ได้นำพามาซึ่งสองสาขาใหม่ นั่นคือศิลปะการแสดง (Performance Art) และความร่วมมือแห่งการสร้างสรรค์ (Co-creations) ขณะที่ชิ้นงานศิลปะการแสดงนั้นคือแมชชีนรุ่นต่างๆ ของ เอ็มบีแอนด์เอฟ ที่ได้นำมากลับมารังสรรค์ใหม่อีกครั้งโดยผู้เชี่ยวชาญและเปี่ยมด้วยพรสวรรค์จากนอกองค์กร กับความร่วมมือแห่งการสร้างสรรค์ต่างๆ ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพียงนาฬิกาข้อมือ แต่ยังรวมไปถึงประเภทอื่นๆ ของเครื่องยนต์จักรกลหรือแมชชีน ที่ผ่านการคิดค้นทางวิศวกรรมและรังสรรค์ขึ้นด้วยงานฝีมือโดยเหล่าผู้ผลิตนาฬิกาสวิสจากแนวคิดและงานออกแบบของ เอ็มบีแอนด์เอฟ และผลงานหลายๆ ชิ้นจากความร่วมมือแห่งการสร้างสรรค์เหล่านี้ อาทิ นาฬิกาคล็อกบอกเวลาที่สร้างสรรค์ขึ้นร่วมกับ เลเป 1839 (L’Epée 1839) เช่นเดียวกับความร่วมมืออื่นๆ กับ รูช (Reuge) และคารันดาช (Caran d’Ache) ที่ได้สร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบของศิลปะจักรกลไว้ด้วยกัน

และเพื่อมอบสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเครื่องยนต์จักรกลหรือแมชชีนเหล่านี้ทั้งหมด บูซเซอร์ได้มีแนวคิดของการจัดแสดง ผลงานเหล่านี้ไว้ภายในแกลลอรีศิลปะ ร่วมไปกับอีกหลากหลายรูปแบบของศิลปะจักรกลที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยศิลปินแขนงอื่นๆ ที่เป็นมากไปกว่าการจัดแสดงหน้าร้านเหมือนทั่วไป และนั่นได้นำมาสู่การสร้างสรรค์ของ เอ็มบีแอนด์เอฟ แมดแกลลอรี (MB&F M.A.D.Gallery) (M.A.D. หมายถึง Mechanical Art Devices) แห่งแรกขึ้นในเจนีวา ซึ่งต่อมายังได้เปิดตัวตามมาโดยเหล่าแมดแกลลอรีแห่งต่างๆ ทั้งในไทเป ดูไบ และฮ่องกง

มากไปกว่านั้น ยังมีรางวัลอันโดดเด่นอีกมากมายที่ย้ำเตือนถึงธรรมชาติแห่งนวัตกรรมการเดินทางสร้างสรรค์สำหรับ เอ็มบีแอนด์เอฟ ซึ่งหากจะกล่าวถึงบางส่วนแล้ว มีไม่น้อยกว่า 9 รางวัลจากเวทีอันมีชื่อเสียงและทรงเกียรติสูงสุดของกรังด์ ปรีซ์ เดอ’ออร์โลเฌอรี เดอ เฌแนฟ (Grand Prix d'Horlogerie de Genève) ซึ่งรวมไปถึงรางวัลสูงสุด อย่าง เข็มทองคำ (“Aiguille d’Or”) ที่มอบให้กับนาฬิกายอดเยี่ยมแห่งปี โดยในปี ค.ศ. 2022 แอลเอ็ม ซีเควนเชียล อีโว (LM Sequential EVO) ได้รับรางวัลเข็มทองคำ (Aiguille d’Or) ขณะที่ แมดวัน เรด (M.A.D.1 RED) คว้ารางวัลประเภทชาเลนจ์ (‘Challenge’) มาได้สำเร็จ เช่นเดียวกับใน ค.ศ. 2021 ที่เอ็มบีแอนด์เอฟ ได้รับสองรางวัลอันทรงเกียรติ โดยรางวัลหนึ่งสำหรับผลงานรุ่น แอลเอ็มเอ็กซ์ (LMX) ในฐานะนาฬิกาสลับซับซ้อนสำหรับสุภาพบุรุษยอดเยี่ยม (Best Men’s Complication) และอีกหนึ่งรางวัลจาก แอลเอ็ม เอสอี เอ็ดดี้ ฌาเกต์ ‘อะราวนด์ เดอะ เวิลด์ อิน เอจตี้ เดย์ส’ (LM SE Eddy Jaquet ‘Around The World in Eighty Days’) ในประเภท ‘งานหัตถศิลป์’ (‘Artistic Crafts’) ขณะที่ในปี ค.ศ. 2019 จากรางวัลนาฬิกาสลับซับซ้อนสำหรับสุภาพสตรียอดเยี่ยม (Best Ladies Complication) ที่มอบให้กับ แอลเอ็ม ฟลายอิ้งที (LM FlyingT) และในปี ค.ศ. 2016 จาก แอลเอ็ม เพอร์เพทชวล (LM Perpetual) ที่ชนะรางวัลนาฬิกาปฏิทินยอดเยี่ยม (Best Calendar Watch) หรือเช่นในปี ค.ศ. 2012 ที่ เลกาซี แมชชีน นัมเบอร์ 1 (Legacy Machine No.1) ได้คว้ารางวัลทั้งในสาขารางวัลสาธารณชน (Public Prize) (ซึ่งโหวตโดยเหล่าคนรักเรือนเวลา) และรางวัลนาฬิกาสุภาพบุรุษยอดเยี่ยม (Best Men’s Watch Prize) (โหวตให้โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ) และในปี ค.ศ. 2010 เอ็มบีแอนด์เอฟ ชนะรางวัลนาฬิกาคอนเซปต์และงานออกแบบยอดเยี่ยม (Best Concept and Design Watch) จากผลงานรุ่น เอชเอ็ม4 ธันเดอร์โบลต์ (HM4 Thunderbolt) ส่วนในปี ค.ศ. 2015 เอ็มบีแอนด์เอฟได้รับรางวัลยอดเยี่ยมของ เรด ดอท (Red Dot: Best of the Best) ซึ่งนับเป็นรางวัลสูงสุดของการมอบรางวัลระดับสากล เรด ดอท อวอร์ดส (Red Dot Awards) จากผลงานรุ่น เอชเอ็ม6 สเปซ ไพเรท (HM6 Space Pirate)

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้